การแทรกแซงค่าเงินบาท | ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ค่าเงินบาทมีความสำคัญ เพราะเศรษฐกิจไทยเป็นเศรษฐกิจเปิด การส่งออกสินค้าและบริการคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 65% ของจีดีพี
ดังนั้น เมื่อเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว คนส่วนใหญ่ของประเทศจึงรู้สึกว่า ได้รับผลกระทบในเชิงลบ และผู้ส่งออกและธุรกิจท่องเที่ยวจึงเรียกร้องให้จัดการกับการแข็งค่าของเงินบาทอย่างทันท่วงที
ต่อมาเมื่อวันที่ 25 กันยายน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ได้ออกแถลงการณ์ อธิบายการแข็งค่าของเงินบาท และในวรรคสุดท้ายระบุว่า “ทั้งนี้ ธปท.ติดตามสถานการณ์ การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด และพร้อมเข้าดูแลเมื่อเงินบาทเคลื่อนไหว “ผันผวนมากผิดปกติ” เพื่อลดผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของภาคเศรษฐกิจจริง”
คงมีคำถามว่าการ “เข้าดูแล” แปลว่าอะไร และความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ “ผันผวนมากผิดปกติ” นั้น นิยามในภาคปฏิบัติมีความหมายว่าอะไร
เช่นในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่ามาแล้วประมาณ 10% แต่ ธปท.แถลงว่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเพียง 3.8% วัดจากต้นปี ดังนั้น ธปท.จึงอาจมองว่า การที่เงินบาท “ผันผวน” (แข็งค่า) เพียง 3.8% นั้นไม่ได้ “มากผิดปกติ” เป็นต้น
คำถามที่ตามมาคือ ทำไมจึงไม่ระบุให้ชัดเจนว่า ธปท.จะเข้าไปแทรกแซงในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เพื่อทำให้เงินบาทมีอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสมตามที่ผู้ส่งออกเรียกร้อง เช่น ทำให้เงินบาทอ่อนค่ากลับไปที่ 36.5 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ คือเฉลี่ยค่าเงินบาทในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา
คำตอบคือ การเข้าไปควบคุมค่าเงินบาทเอาไว้ที่อัตราแลกเปลี่ยนระดับใดระดับหนึ่งนั้นไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลย
ในเบื้องต้น เราสามารถเข้าใจใด้ว่า ในการเข้าไปแทรกแซงทำให้เงินบาทอ่อนค่านั้น ธปท.จะต้องพิมพ์เงินบาทออกมาใหม่ แล้วนำไปแลกเงินดอลลาร์ในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตรา การกระทำดังกล่าวจะเป็นการเพิ่มปริมาณเงินบาท และลดปริมาณเงินดอลลาร์ในระบบการเงิน
ซึ่งตามหลักการนั้น สินค้า (หรือเงินตรา) อะไรก็ตามที่ปริมาณในตลาดลดลง (มีความขาดแคลนมากขึ้น) ราคาก็จะต้องเพิ่มขึ้น และอะไรก็ตามที่ปริมาณในตลาดเพิ่มขึ้น ราคาก็จะต้องลดลง
ดังนั้น เมื่อ ธปท.เพิ่มปริมาณบาทและลดปริมาณดอลลาร์ เงินบาทก็จะอ่อนค่าลงและเงินดอลลาร์ก็จะแข็งค่าขึ้น
การปฏิบัติการดังกล่าว จึงน่าจะเป็นประโยชน์และมีประสิทธิผลในการทำให้เงินบาทอ่อนค่า นอกจากนั้น การพิมพ์เงินบาทออกมามากขึ้น ก็ไม่ได้มีต้นทุนอะไรมากนัก และการมีทุนสำรองระหว่างประเทศ (เงินดอลลาร์) เพิ่มขึ้น ก็ดูเหมือนว่าจะไม่ได้มีข้อเสียหายอะไร เพราะ ธปท.ก็มักจะนำเอาการมีทุนสำรองเป็นจำนวนมาก มาอ้างว่าเป็นจุดแข็งของระบบการเงินและเศรษฐกิจของไทย
แต่ความจริงทั้งหมดมีมากกว่านั้นมาก ข้อสรุปคือ การแทรกแซงค่าเงินบาทดังที่กล่าวข้างต้นนั้น มักจะไม่ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน คืออาจกระทบอัตราแลกเปลี่ยนในระยะสั้นได้ แต่ในระยะยาวนั้น เงินบาทคงจะแข็งค่าต่อไปได้อีก หากจุดยืนของนโยบายการเงินยังจะคงสถานะเช่นที่เป็นอยู่ในขณะนี้
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? การพิมพ์เงินบาทเข้ามาในระบบเพิ่มขึ้นเพื่อทำให้เงินบาทอ่อนค่าดังที่กล่าวข้างต้นนั้น จะมีอยู่ 2 ส่วนคือ ส่วนแรกที่กล่าวไปแล้ว ได้แก่ การอ่อนค่าของเงินบาทเทียบกับเงินดอลลาร์ กับอีกส่วนหนึ่งคือ การที่ปริมาณเงินในระบบเพิ่มขึ้น
ซึ่งสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้นนี้ จะกดดันให้ดอกเบี้ยในตลาดต้องลดลง (“ราคา” ของเงินต้องลดลง เพราะปริมาณเพิ่มขึ้น) แต่ดอกเบี้ยจะลดลงไม่ได้ เนื่องจากคณะกรรมการนโยบายการเงินของธปท. กำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเอาไว้ตายตัวที่ 2.5% ต่อปี
แปลว่า เมื่อปริมาณเงินบาทในระบบที่เพิ่มขึ้น เริ่มกดดันให้ดอกเบี้ยในตลาดต้องลดลง ธปท.ก็จะต้องลดปริมาณเงินในระบบลง เพื่อป้องกันไม่ให้ดอกเบี้ยปรับลดลงต่ำกว่า 2.5% ที่คณะกรรมการนโยบายการเงินของ ธปท.กำหนดเอาไว้
กลไกที่จะลดปริมาณเงินบาทในระบบคือ ธปท.จะขายพันธบัตร ธปท. เข้ามาในระบบเพื่อดูดซับปริมาณเงินบาทส่วนเกินออกมาจากระบบ เพียงพอที่จะทำให้สามารถตรึงดอกเบี้ยเอาใว้ที่ 2.5%.
เราจะเห็นได้ว่า การกระทำดังกล่าวคือ การทำให้ปริมาณเงินบาทในระบบลดลงเหลือเท่ากับปริมาณก่อนการเข้าไปแทรกแซงค่าเงินบาท (โดยประมาณ) ประเด็นคือ ข้อจำกัดที่สำคัญที่สุดซึ่งจะทำให้การแทรกแซงเพื่อให้เงินบาทอ่อนค่าไม่ประสบผลสำเร็จคือ ระดับดอกเบี้ยนโยบายที่สูง
เพราะจะทำให้ธปท.ไม่สามารถเพิ่มปริมาณเงินบาทในระบบใด้อย่างถาวร เพื่อทำให้เงินบาทอ่อนค่าอย่างถาวรได้ ในทางตรงกันข้าม การขายพันธบัตรดังกล่าว ซึ่งจะลดปริมาณเงินบาทในระบบ ก็จะค่อยๆ ทำให้เงินบาทกลับไปแข็งค่าขึ้นเช่นเดิม
สิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงไปคือ งบดุลของ ธปท.ที่จะมีสินทรัพย์ที่เป็นเงินดอลลาร์เพิ่มขึ้นและจะมีหนี้สินที่เป็นเงินบาทเพิ่มขึ้นเช่นกัน หากแทรกแซงบ่อยๆ ในปริมาณที่เพิ่มขึ้น ทุนสำรองก็จะเพิ่มขึ้น และหนี้สินที่เป็นเงินบาทของ ธปท.ก็จะเพิ่มขึ้นพร้อมกันไปด้วย
ดังนั้น หากเงินบาทแข็งค่าขึ้นไปอีก เพราะสหรัฐมีแนวโน้มว่าจะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายต่อไปอีก ก็จะทำให้ ธปท.ประสบกับการขาดทุนทางบัญชี จากการเข้าไปแทรกแซงดังกล่าว เพราะ ธปท.จะซื้อสินทรัพย์ที่เสื่อมค่า (เงินดอลลาร์) พร้อมกับการเป็นหนี้ในสกุลเงิน (บาท) ที่แข็งค่าขึ้น
สิ่งที่ทำให้น่าเป็นห่วงใน 2 ปีข้างหน้าคือ การที่คณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐ มีแนวโน้มว่าการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายที่ผ่านมา 0.50% นั้นเป็นเพียงจุดเริ่มต้น และมีแนวโน้มที่จะปรับลดดอกเบี้ยลงไปอีกประมาณ 0.5% ในปีนี้ อีก 1.0% ในปีหน้า และอีก 1.0% ในปี 2026
แปลว่า ธนาคารกลางสหรัฐจะพิมพ์เงินดอลลาร์ในปริมาณที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอีก 2 ปีข้างหน้า เพื่อลดดอกเบี้ย อันจะทำให้เงินดอลลาร์มีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าลง
จึงไม่แปลกใจว่า ทำไม ธปท.จึงไม่ได้ออกมาพูดให้ชัดเจนว่าการ “เข้าดูแล” ค่าเงินบาทนั้น มีรายละเอียดและเป้าหมายอะไรบ้าง.