'ธปท.' พลิกเกมเสนอชื่อแคนดิเดตประธานบอร์ด สกัดการเมืองแทรกแซง 'แบงก์ชาติ'

'ธปท.' พลิกเกมเสนอชื่อแคนดิเดตประธานบอร์ด สกัดการเมืองแทรกแซง 'แบงก์ชาติ'

จับตาที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือก “ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ” คนใหม่ หลังการเมืองยื้อส่งผลเลื่อนเคาะชื่อ 3 ตัวเต็ง “กิตติรัตน์-กุลิศ-สุรพล” ชิงดำเก้าอี้ประธานบอร์ด ธปท.ท่ามกลางแรงกดดัน ยึดข้อกฎหมาย ชี้ “ปรเมธี” นั่งรักษาการต่อได้อีก 120 วัน รอฝ่ายเลขาฯ เคาะวันประชุมใหม่

KEY

POINTS

  • ความเคลื่อนไหวล่าสุดการคัดเลือกประธานบอร์ด ธปท.แทนคนเดิมที่หมดวาระ ซึ่งมีการประชุมไปเมื่อวันที่ 8 ต.ค.67 ที่ผ่านมา แต่ยังไม่สามารถสรุปชื่อได้ 
  • กรรมการสรรหายังไม่ได้นัดหมายหารือรอบใหม่ โดยรอให้การตรวจสอบคุณสมบัติจากฝ่ายเลขานุการเพิ่มเติมแล้วเสร็จก่อน โดยให้คนเดิมรักษาการ 120 วัน 
  • แคนดิเดตชิงประธานบอร์ด 3 คน เป็นการแข่งกันระหว่างอดีตรองนายกฯ และ รมว.คลัง - อดีตปลัดพลังงาน และอาจารย์ทางด้านกฎหมาย ที่เชี่ยวชาญกม.มหาชน 
  • ยุทธศาสตร์การเสนอชื่อแคนดิเดตของแบงก์ชาติที่สามารถเสนอได้ 2 รายชื่อน่าสนใจ อาจเป็นวิธีที่สกัดการเมืองเข้าแทรกแซงในองค์กร   

 

ณ เวลานี้คงไม่มีประเด็นร้อนแรงไปกว่าใครจะมานั่ง “ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ” คนใหม่ แทนที่ นายปรเมธี วิมลศิริ หมดวาระเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2567 โดยการสรรหาได้มีการเริ่มขั้นตอนการดำเนินงานมากว่า 3 เดือน 

กระทรวงการคลังได้มีการแต่งตั้งกรรมการสรรหาฯ นำโดย นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน โดยกรรมการมีการนัดประชุมไปแล้ว 2 ครั้ง ล่าสุดมีการประชุมไปเมื่อวันที่ 8 ต.ค.2567 ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุปในการคัดเลือกผู้เป็นประธาน และกรรมการในบอร์ดแบงก์ชาติ

สะท้อนผ่านหลังประชุม นางวิเรขา สันตะพันธุ์ เลขานุการคณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือกฯ จำเป็นต้องตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้มีข้อมูลครบถ้วนสำหรับการพิจารณา 

ดังนั้นจึงขอขยายระยะเวลาเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลเพื่อให้การพิจารณาคัดเลือกประธาน คณะกรรมการ ธปท.และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ มีความรอบคอบที่สุด และจะรวบรวมกลับมานำเสนอคณะกรรมการคัดเลือกฯ โดยเร็ว

\'ธปท.\' พลิกเกมเสนอชื่อแคนดิเดตประธานบอร์ด สกัดการเมืองแทรกแซง \'แบงก์ชาติ\'

ทั้งนี้ข้อกำหนดในเรื่องของการเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมเข้ามารับตำแหน่งประธาน และกรรมการในบอร์ด ธปท.จะกำหนดให้เสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสม จาก 2 หน่วยงาน โดย ธปท.จะเสนอชื่อได้ 2 เท่าของกรรมการที่หมดวาระ และกระทรวงการคลังเสนอชื่อได้ 1 เท่า 

สำหรับการสรรหาครั้งนี้ทำให้ในครั้งนี้มีการเสนอชื่อประธาน และกรรมการจาก ธปท. 6 รายชื่อ ประกอบไปด้วยประธาน 2 รายชื่อ และกรรมการ 4 รายชื่อ ส่วนกระทรวงการคลัง สามารถเสนอชื่อได้ 1 เท่าของผู้ที่หมดวาระ

ในขณะที่กระทรวงการคลังเสนอรายชื่อครบโควตา ส่วน ธปท.เสนอกรรมการผู้คุณวุฒิเพียง 2 คน จากโควตาที่เสนอได้ 4 คน

รักษาการต่อได้อีก 120 วัน 

แหล่งข่าว เปิดเผยว่า ในขณะนี้กรรมการสรรหายังไม่ได้นัดวันประชุมรอบใหม่ เพื่อเคาะชื่อประธานและกรรมการ โดยต้องรอให้ฝ่ายเลขานุการเป็นฝ่ายนัดหมายให้กรรมการทุกคนมีคิวว่างที่ตรงกันก่อน 

ขณะที่ฝ่ายเลขานุการที่ทำหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ได้รับการเสนอชื่อนั้นก็ต้องไปเร่งรัดการทำงานในส่วนที่ยังมีข้อไม่แน่ใจให้ได้ข้อสรุปก่อนที่จะมีการนัดหมายอีกครั้ง 

ทั้งนี้บรรยากาศการประชุมเมื่อวันที่ 8 ต.ค.67ที่ผ่านมาถือว่าเป็นไปด้วยดีกรรมการทุกคนรับฟังซึ่งกัน และกัน และเห็นตรงกันว่าให้ดำเนินการให้รอบคอบที่สุด และในข้อกฎหมายกำหนดว่าให้ประธานบอร์ด ธปท.คนเดิมรักษาการในตำแหน่งต่อไปได้ถึง 120 วัน หากยังไม่สามารถเลือกคนใหม่ขึ้นมาทำหน้าที่ได้ ซึ่งในขณะนี้นายปรเมธี วิมลศิริ ก็ยังรักษาการในตำแหน่งเดิมต่อไป

แหล่งข่าว เปิดเผยว่า รายชื่อที่มีการเสนอให้เป็นประธานคณะกรรมการ ธปท.คนใหม่ จำนวน 3 รายชื่อ ประกอบด้วย นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ที่ได้รับการเสนอชื่อจากกระทรวงการคลัง

ส่วนอีก 2 ชื่อที่เสนอจาก ธปท.มี 2 คน ได้แก่ นายกุลิศ สมบัติศิริ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน และนายสุรพล นิติไกรพจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกรรมการอิสระ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)

\'ธปท.\' พลิกเกมเสนอชื่อแคนดิเดตประธานบอร์ด สกัดการเมืองแทรกแซง \'แบงก์ชาติ\'

“กิตติรัตน์” ตัวเต็งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ 

ทั้งนี้แคนดิเดตที่ถูกเสนอชื่อเขาชิงประธานกรรมการ ธปท.คนใหม่ ทั้ง 3 คนมีประวัติดังนี้

1.กิตติรัตน์ ณ ระนองเกิด 3 ส.ค.2501 ปัจจุบันอายุ 66 ปี สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนอัสสัมชัญ, มัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จบการศึกษา ปริญญาตรีจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโท สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“กิตติรัตน์” เคยดำรงตำแหน่งสำคัญในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์โดยควบตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ขณะที่ในสมัยรัฐบาลเศรษฐาได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี 

ส่วนตำแหน่งสำคัญในอดีต เช่น การเป็นกรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หลังพ้นตำแหน่งได้เป็นกรรมการในคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) คนที่ 9 ในระหว่างวันที่ 10 ก.ย.2546 - 31 พ.ค.2549 

รวมทั้งเคยเป็นอาจารย์สอนในระดับอุดมศึกษา โดยดำรงตำแหน่งเป็นรองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยระหว่างปี 2549-2553 และอธิการบดีมหาวิทยาลัยชินวัตร ในระหว่างปี2553-2554

ในปี 2555 ขณะที่กิตติรัตน์ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เคยกล่าวต่อสื่อมวลชนว่าในฐานะรัฐมนตรีคลังให้ข้อมูล ตัวเลขที่ต่อสื่อมวลชนไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง หรือเรียกว่าเป็น “โกหกสีขาว” ได้จนมีการตั้งคำถามถึงความเหมาะสม และผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของชาวต่างชาติที่มีต่อประเทศไทยจนนำไปสู่ประเด็นหนึ่งในการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา

ในปี 2560 กิตติรัตน์ ขึ้นศาลเบิกความคดีจำนำข้าว โดยเป็นพยาน ชี้แจ้งถึงเหตุผลในการจัดทำโครงการดังกล่าว จากนั้นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิด นายกิตติรัตน์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ กับพวก ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต 

โดยละเว้นไม่ควบคุมดูแลหรือสั่งการให้มีการตรวจสอบ กรณีองค์การคลังสินค้าคัดเลือกบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ให้เป็นผู้ส่งมอบข้าวให้ BULOG ประเทศอินโดนีเซีย ไม่ชอบด้วยกฎหมายก่อนที่ ศาลฎีกานักการเมืองจะยกฟ้องคดีในปีนี้

“กุลิศ” ลูกหม้อกระทรวงการคลัง 

2.นายกุลิศ อดีตปลัดพลังงาน ที่ดำรงตำแหน่งยาวนานถึง 5 ปี ก่อนเกษียณอายุราชการ เกิด วันที่ 5 เมษายน 2506 ปัจจุบันอายุ 61 ปี จบการศึกษา ศิลปศาสตรบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปริญญาโท Master of Public Administration San Diego State University, Master of Business Administration University Southern California, หลักสูตร นบส. รุ่นที่ 40

สำหรับนายกุลิศ ถือเป็นลูกหม้อของกระทรวงการคลัง โดยหลังจากจบการศึกษาได้เริ่มรับราชการ ที่กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ตำแหน่ง นักวิชาการคลัง 9 สังกัดกรมบัญชีกลาง (เจ้าหน้าที่หน้าห้องของ นายธารินทร์ นิมมานเหมินท์) 1 ต.ค.2541, ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนามาตรฐานระบบพัสดุภาครัฐ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ปี 2545 

รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.), ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (นายสรรเสริญ วงศ์ชะอุ่ม) 1 ธันวาคม 2549, รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ โดยก่อนที่จะย้ายไปรับตำแหน่งปลัดกระทรวงพลังงาน ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากร

ในช่วงรัฐบาลเศรษฐาภายหลังจากที่เกษียณอายุราชการแล้วกุลิศได้เข้ามาช่วยงานในรัฐบาลหลายเรื่อง โดยมีชื่อเข้าไปเป็นกรรมการในคณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (EV) รวมทั้งเป็นประธานกรรมการ “BIG DATA” นโยบายสำคัญของรัฐบาลในขณะนั้น

ธปท.เสนอชื่อ “สุรพล” ชิงเก้าอี้ 

3.นายสุรพล เกิดเมื่อ 19 ก.ย. 2503 ปัจจุบันอายุ 64 ปี นายสุรพลจบการศึกษา จบมัธยมศึกษาจาก โรงเรียนเลยพิทยาคม , สำเร็จการศึกษาสาขานิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 2) จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

รวมทั้งจบการศึกษาเนติบัณฑิตไทย สมัยที่ 35 จากสำนักศึกษาอบรมกฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา Diplôme d’études approfondies de droit public จากมหาวิทยาลัย Strasbourg III ประเทศฝรั่งเศส Doctorat de l’Université Robert Schuman de Strasbourg (mention très honorable) มหาวิทยาลัย Robert Schuman ฝรั่งเศส

นอกจากนี้ได้รับประกาศนียบัตรการอบรมหลักสูตร สถาบันรัฐประศาสนศาสตร์นานาชาติ “การกระจายอำนาจ และ การปกครองท้องถิ่น” (IIAP.) กรุงปารีส, ฝรั่งเศส ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัย Soka ประเทศญี่ปุ่น และประกาศนียบัตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร พ.ศ.2553

ทั้งนี้ ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ศาสตราจารย์ประจำสาขากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ประธานกรรมการบริหาร รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ, นายกสภามหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช, อุปนายกสถาบันวิทยสิริเมธี กรรมการอิสระบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) 

ที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานศาลปกครอง และที่ปรึกษากฎหมายคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์การมหาชน (กพม.), กรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 8 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, ประธานคณะกรรมการบริหารโรงเรียนกำเนิดวิทย์

ทั้งนี้ ชื่อของ นายสุรพล ที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นประธานบอร์ด ธปท. โดยเสนอชื่อจากทางฝั่ง ธปท.ถือว่าน่าจับตาเนื่องจากที่ผ่านมานายสุรพล เป็นพยานบุคคลในคดีต่อสู้การถูกยื่นยุบพรรคของพรรคก้าวไกล ซึ่งได้มีการเสนอความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ 4 ประเด็น โดยให้ความเห็นทางกฎหมายว่าการกระทำของพรรคก้าวไกลไม่สามารถเป็นเหตุให้ยุบพรรคได้ 

สำหรับการที่ ธปท.เสนอชื่อของนายสุรพล มาเป็นคู่แข่งชิงประธานบอร์ดแบงก์ชาติกับคนในฟากฝั่งของรัฐบาลจึงแสดงให้เห็นถึงการไม่ยอมให้คนจากการเมืองในฟากฝั่งรัฐบาลเข้ามาแทรกแซงได้โดยง่าย

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์