กนง.‘ลดดอกเบี้ย’ 0.25% ฟื้นเศรษฐกิจ ลดภาระหนี้ประชาชน

กนง.‘ลดดอกเบี้ย’ 0.25% ฟื้นเศรษฐกิจ ลดภาระหนี้ประชาชน

ที่ประชุม กนง. มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง “ลดดอกเบี้ยนโยบาย” 0.25% เหลือ 2.25% ต่อปี หวังช่วยบรรเทา “ภาระหนี้ประชาชน” ย้ำในการประชุมรอบนี้ ไม่ใช่เพราะ “แรงกดดันทางการเมือง” พร้อมเพิ่มเป้า “จีดีพีไทย” ปีนี้ เป็นขยายตัว 2.7% จากเดิม 2.6%

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 5/2567 ครั้งที่ 5 ของปี คณะกรรมการกนง. มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง “ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย” ลง 0.25% จาก 2.50% มาสู่ 2.25% ขณะที่อีก 2 เสียง “คงอัตราดอกเบี้ย” ไว้ที่ 2.50%

  โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ ถือเป็นการปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 4 ปีนับตั้งแต่ กนง. มีมติลดอัตราดอกเบี้ยครั้งล่าสุด เมื่อ 20 พ.ค. 2563 ที่ กนง. ลดดอกเบี้ยล่าสุด 0.25% จาก 0.75% ในช่วงการระบาดของโควิด-19

นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า คณะกรรมการกนง. มีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% จาก 2.50% มาสู่ 2.25% โดยให้มีผลทันที

อย่างไรก็ตาม การลดดอกเบี้ยครั้งนี้ กนง.ยืนยันว่าไม่ได้มาจากแรงกดดันทางการเมือง เนื่องจากการลดดอกเบี้ยครั้งนี้เกิดขึ้นภายหลังหารือร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เรื่องอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงที่ผ่านมา 

โดยระบุว่าการหารือร่วมกับรัฐบาลกระทรวงการคลังที่ผ่านมาไม่ใช่เพิ่งเริ่มหารือ แต่เป็นการหารือกันมาต่อเนื่อง 

ทั้งนี้ในมุมของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถือว่าได้ Input หรือ ข้อมูลความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ เป็นสิ่งที่ ธปท.ต้องการอยู่แล้วทำให้ กนง.มีข้อมูลในการพิจารณามากขึ้น

สำหรับการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย กนง.ดูในเรื่องของการปรับสมดุลในแง่ของการดูแลเรื่องเสถียรภาพระบบการเงิน (Financial Stability) ในการดูแลหนี้ครัวเรือนให้เกิดกระบวนการปรับลดหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ สอดคล้องกับรายได้และภาระหนี้ของประชาชน 

กนง.‘ลดดอกเบี้ย’ 0.25% ฟื้นเศรษฐกิจ ลดภาระหนี้ประชาชน

ฉะนั้นในแง่ของภาพใหญ่ ธปท.หารือกับรัฐบาลมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือภาคเอกชนก็มีการคุยและให้ข้อมูลกับทางแบงก์ชาติ หรือ กนง.เพื่อเข้ามาใช้ประเมินภาพต่างๆ อยู่แล้ว

“ลดดอกเบี้ย” ไม่ได้มาจากแรงกดดันทางการเมือง

ดังนั้น ในรอบนี้ กนง.มองว่า มีรูมที่จะปรับสมดุลได้ ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้ และไม่ได้มาจากแรงกดดันทางด้านการเมือง

“แรงกดดันมีมาโดยตลอดอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เราติดตาม คือเรื่องพัฒนาการในแง่ของตัวภาวะการเงิน ที่เราก็ได้มีการคุยกันอยู่แล้ว และมองว่าการลดดอกเบี้ยครั้งนี้" 

สำหรับข้อดีคือลดภาระของลูกหนี้ ดังนั้นการที่จะทำให้เป็นอุปสรรคต่อกระบวนการลดหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี ภายใต้บริบทมันเปลี่ยนไป สินเชื่อมีแนวโน้มที่จะชะลอโตชะลอลงในระยะข้างหน้าอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นความจำเป็นในการที่จะเอาดอกเบี้ยไว้ในระดับที่เดิมจึงมีน้อยลง และการลดดอกเบี้ยลงมาอยู่ในระดับปัจจุบัน สอดคล้องกับระดับดอกเบี้ยที่เป็นกลางต่อเศรษฐกิจ

กนง.ย้ำไม่ได้ “ลดดอกเบี้ย” ต่อเนื่อง

ส่วนการปรับจีดีพีเพิ่มขึ้น แต่กลับลดดอกเบี้ยลง จะสร้างความสับสนให้กับตลาดหรือไม่ กนง. กล่าวว่า การทำนโยบายการเงินของ  กนง.อยู่ภายใต้กรอบเงินเฟ้อยืดหยุ่น ที่ต้องพิจารณาจาก 3 ด้านหลัก ทั้งเรื่องของการเติบโตเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และเสถียรภาพการเงิน และการลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่าการปรับลดดอกเบี้ยลงยังคงเป็นกลางสำหรับเศรษฐกิจไทยและต่อเงินเฟ้อ

“การลดดอกเบี้ยครั้งนี้ ไม่ใช่จุดเริ่มต้นของวัฏจักรลดดอกเบี้ยหรือ Easing Cycle หรือเป็นการปรับลดลงต่อเนื่อง แต่เป็นการลด เพื่อรอดูผลจากการลดดอกเบี้ยครั้งนี้ ไม่ใช่ลดดอกเบี้ยลงเรื่อยๆ”

ทั้งนี้ มองว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงจะเข้ามาช่วยในแง่ของความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ดีขึ้นบ้าง และถามว่า กนง. กังวลหรือไม่ว่าอาจทำให้เกิดการก่อหนี้เพิ่ม กนง.มองว่าหากดูจากพัฒนาสินเชื่อในช่วงที่ผ่านมา มองว่าการลดดอกเบี้ยไม่น่าจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นมากนัก

“หนี้ครัวเรือน” เป็นเหตุผลหลักที่ลดดอกเบี้ย

อย่างไรก็ตาม การปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ สิ่งที่ กนง.ดูหลักๆมี 3 ด้านด้วยกัน คือ การเติบโตของเศรษฐกิจไทย เงินเฟ้อ และเรื่องเสถียรภาพการเงิน โดยเรื่องของการเติบโตและเศรษฐกิจถือว่าเป็นไปตามที่ กนง.คาดไว้ 

ฉะนั้นน้ำหนักในรอบนี้ที่นำมาสู่การลดดอกเบี้ย คือ หนี้ครัวเรือนที่ กนง.มองว่ามีรูมในการสร้างสมดุลได้ระหว่างภาระหนี้ที่จะลดลงและกระบวนการลดหนี้ ทั้งนี้ ในมุมของหนี้ครัวเรือนหากมองไปข้างหน้า คาดการณ์ว่าหนี้ครัวเรือนจะปรับลดลงได้ จากพัฒนาของสินเชื่อในช่วงที่ผ่านมา ฉะนั้น ในแง่ของอัตราดอกเบี้ยอาจไม่ได้มีความจำเป็นจะต้องอยู่ระดับสูงในภาวะนี้

ส่วนการส่งผ่าน กนง.ก็คาดหวัง ว่าจะเห็นการส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยที่ใกล้เคียงกับที่เคยผ่านมาในอดีต คือการส่งผ่านเกือบครึ่งหนึ่งของการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงมา

ทั้งนี้ หากดูในภาพใหญ่เศรษฐกิจไทย กนง.ประเมินว่าไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากที่เคยประเมินไว้ จากส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นช่วงครึ่งปีหลังจากวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ไซเคิล 

ขณะที่การบริโภคเป็นไปตามที่ กนง.ประเมินไว้ที่ กนง.มองว่ายังเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญทั้งในแง่ของการบริโภคเอกชนและการท่องเที่ยว รวมถึงการใช้จ่ายภาครัฐที่เริ่มกลับมาเป็นบวกได้ ฉะนั้นในแง่ของภาพของเศรษฐกิจไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป

ส่งออกฟื้นหนุนปรับจีดีพีปี 67

และเหตุผลหลักที่ กนง.ปรับประมาณการจีดีพีเพิ่มขึ้น ปีนี้มาอยู่ที่ 2.7% จาก 2.6% ซึ่งมองว่าเป็นระดับการเติบโตที่ใกล้เคียงกัน มาจากเรื่องของการส่งออกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น และการบริโภคเอกชนที่ใกล้เคียงกับที่คาดไว้ ขณะที่การลงทุนอาจออกมาแย่กว่าที่คาด ดังนั้นการปรับประมาณการครั้งนี้มีทั้งภาพบวกและภาพลบ

ส่วนการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ได้มีการรวมอยู่ในประมาณการของ กนง.อยู่แล้ว ที่จะเพิ่มเข้ามาในการบริโภคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้น แต่ยังไม่ได้ใส่ผลเข้ามาเต็มที่เนื่องจาก ยังรอความชัดเจน ที่จะมีการใส่มาตรการเพิ่มเติมเข้ามา

สำหรับเป้าหมายเงินเฟ้อจะหารือร่วมกับกระทรวงการคลังอีกครั้ง แต่เป้าหมายเงินเฟ้อเป็นการดูแลเงินเฟ้อระยะยาว ดูแลเรื่องของความผันผวนของเงินเฟ้อ ซึ่งเงินเฟ้อของไทยที่ผ่านมามีความผันผวนหลักมาจากปัจจัยทางอุปทาน มาจากปัจจัยภายนอกค่อนข้างมาก 

ฉะนั้นกรอบเงินเฟ้อที่ดีควรมีความยืดหยุ่น และสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ คือเงินเฟ้อไม่ควรอยู่สูงเกินไป ซึ่งเป็นสิ่งที่กนง.ไม่อยากเห็น เพราะเงินเฟ้อที่สูงเกินไป กนง.มองว่า มีข้อเสีย และต้นทุนต่อของผู้ประกอบการก็ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ค่าครองชีพต่างๆปรับตัวขึ้นด้วย

ดอกเบี้ยสอดคล้อง “ศักยภาพเศรษฐกิจ”

สำหรับ statement กนง.มองว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาอยู่ที่ 2.25% ถือว่าเป็นระดับที่เป็นกลางสอดคล้องเศรษฐกิจระยะข้างหน้า ทั้งนี้ กนง. มองว่า ระยะถัดไปดอกเบี้ยนโยบายควรอยู่ในระดับที่เป็นกลางสอดคล้องกับศักยภาพของเศรษฐกิจโดยจะต้องไม่ต่ำจนเกินไปจนส่งผลไปสู่การสะสมความเสี่ยง เพราะจะสร้างความไม่สมดุลในระยะยาว

โดยหากดูภาพเศรษฐกิจไทยโดยรวมยังใกล้เคียงกับที่ทางกนง. เคยประเมินไว้ตั้งแต่ต้นปี ที่มองไว้ที่ 2.6% ปีนี้ และ 3% ปีหน้า โดยแรงขับเคลื่อนสำคัญมาจากภาคท่องเที่ยว และการบริโภคเอกชน และมีแรงส่งเพิ่มเติมจากเรื่องของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ บวกกับการส่งออกที่มีแนวโน้มทยอยดีขึ้น

ส่วนเรื่องของเงินเฟ้อยังใกล้เคียงกับที่ กนง.คาดการณ์ไว้ที่ 0.5% และ 1.3% ในปีนี้และปีหน้าตามลำดับ ซึ่งการปรับเงินเฟ้อปีหน้าลงมาอยู่ที่ 1.2% ถือว่าใกล้เคียงเดิม ดังนั้น ในแง่ของเงินเฟ้อจะกลับเข้ากรอบได้ในช่วงในช่วงปลายปี แม้จะอยู่ระดับต่ำ แต่ยังใกล้เคียงกับกรอบล่าง ซึ่งมาจากปัจจัยเชิงโครงสร้างจากต้นทุนการนำเข้าที่ต่ำจากประเทศจีน

สำหรับสิ่งที่ กนง.ให้น้ำหนักต่อเนื่องมาตั้งแต่การประชุมครั้งก่อนเป็นภาวะการเงินที่กรรมการให้ความสำคัญ ซึ่งหากดูจากพัฒนาการส่วนใหญ่ยังคล้ายกับ กนง.ประเมินไว้ โดยมีลักษณะของการตึงตัวขึ้นบ้างโดยเฉพาะในกลุ่มที่รายได้ฟื้นตัวช้าหรือกลุ่มที่อาจมีปัญหาเรื่องโครงสร้างอย่างเอสเอ็มอีเป็นต้น

ส่วนเสถียรภาพการเงินในแง่ของผลของการปรับลดนโยบายครั้งนี้คือเรื่องของการปรับลดสัดส่วนรายได้หนี้ต่อครัวเรือน เพื่อให้เกิดขึ้นต่อเนื่อง และภายใต้บริบทปัจจุบัน กนง.เห็นว่าสินเชื่อมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง หากมองไปข้างหน้าเพราะฉะนั้นจึงเป็นส่วนสำคัญ

“ลดดอกเบี้ย”ไม่ทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่ม

ดังนั้น คณะกรรมการมองว่า การลดนโยบายลงช่วยในการสร้างสมดุลช่วยบรรเทาภาระของลูกหนี้ได้บ้างถึงแม้จะไม่ได้มาก

ขณะเดียวกัน การลดดอกเบี้ยลง กนง. มองว่าไม่ได้เป็นอุปสรรค ต่อการลดลงของหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี เนื่องจากแนวโน้มสินเชื่อปัจจุบัน มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง ซึ่งหากย้อนไปดูในอดีตของอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงแรก ตั้งแต่กลางปี 2565 จะเห็นได้ว่ากนง. มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยด้วยบริบททางเศรษฐกิจที่แตกต่างกับประเทศอื่น

แต่การปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็นการขึ้นช้าๆเพราะว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวช้าและไม่ได้ขึ้นมาก เหมือนประเทศอื่นๆ ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ที่ 2.50% ในช่วงปีครึ่งกว่า

ซึ่งระหว่างทาง มีบางส่วนที่อาจจะเปลี่ยนไปบ้าง แต่โดยภาพรวมยังเป็นไปตามที่คาดไว้ ส่วนในแง่ของเรื่องของเสถียรภาพของราคาจะเห็นได้ว่า อัตราเงินเฟ้อ หรือดอกเบี้ยเอง ก็ทำหน้าที่ได้ค่อนข้างดีในช่วงที่ผ่านมา และสามารถยึดเหนี่ยวการคาดการณ์เงินเฟ้อ ทำให้เงินเฟ้อทั่วไปที่เคยขึ้นไปอย่างรวดเร็ว เมื่อ8ส.ค. ปี 65 ปรับลดลงได้ค่อนข้างเร็วเช่นกัน

ดังนั้น เรื่องของหนี้ครัวเรือนการปรับลดลงของหนี้ครัวเรือนในช่วงที่ผ่านมาดอกเบี้ยเองก็มีส่วนช่วยที่ไม่ไปเติมเชื้อไฟ ทำให้หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีเพิ่มขึ้น

อีกทั้ง การปรับขึ้นนโยบายที่ผ่านมาไม่ได้ปรับขึ้นจนเกินกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เป็นกลาง หรือ Neutral rate ต่างกับประเทศอื่นๆที่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย มากกว่าอัตราดอกเบี้ยที่เป็นกลาง

ทั้งนี้ หากดูภาพเศรษฐกิจโดยรวม การปรับจีดีพีขึ้นมาอยู่ที่ 2.7% และ 2.9% ถือว่าใกล้เคียงเดิม โดยเฉพาะปีนี้ที่ กนง.มองว่าอัตราการเติบโตตั้งแต่ไตรมาสแรกเติบโต 1% และไตรมาส 2 เติบโต 2% ไตรมาส 3 เติบโต 3% และไตรมาส 4 เติบโต 4% ยังเป็นไปตามที่เคยมองไว้ และถัดมาเป้าหมายเงินเฟ้อพัฒนาการคล้ายจีดีพี ยังใกล้เคียงเดิม โดยคาดว่าปลายปี เงินเฟ้อจะกลับสู่กรอบล่างของเป้าหมายเงินเฟ้อ

สุดท้ายด้านเสถียรภาพการเงินที่ กนง.มองว่า ยังมีปัจจัยที่กระทบต่อการปล่อยสินเชื่อที่อาจกระทบเอสเอ็มอี เช่น ปัญหาเชิงโครงสร้าง หรือสินเชื่อบางตัวที่อาจมีผลกระทบ เช่น สินเชื่อรถยนต์ 

ส่วนภาพรวมหนี้เสียหรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ปัจจุบันอยู่ระดับทรงตัว แต่ยังอยู่ระดับสูงเพราะมีเรื่องของการช่วยเหลือในอดีตที่มีผลทำให้หนี้เสียปรับตัวเพิ่มขึ้น ดังนั้นหนี้เสียระยะข้างหน้าจะคาดทยอยปรับขึ้นบ้าง แต่ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด