กำไร 10 แบงก์ ไตรมาส3 ทะลุ 6 หมื่นล้าน ‘เอสซีบี เอกซ์-กรุงเทพ-กสิกร‘โตพุ่ง
เปิด “10 ธนาคารพาณิชย์” กำไรรวมไตรมาส 3 ปี 67 อยู่ที่ 6.35 หมื่นล้าน โต 6.91% นำทีมโดย “กสิกรไทย-กรุงเทพ-กรุงไทย-เอสซีบี เอกซ์-ทีทีบี” ด้าน 9 เดือนแรก “กำไรรวม” 1.9 แสนล้าน
ประกาศงบเป็นที่เรียบร้อยสำหรับ “ธนาคารพาณิชย์” ในไตรมาส 3 และงวด 9 เดือนปี 2567 สำหรับ “10 ธนาคารพาณิชย์” ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ธนาคารกรุงไทย (KTB) บมจ. เอสซีบี เอกซ์ (SCB) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) กลุ่มการเงินทิสโก้ (TISCO) ธนารคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ (LHFG) และ ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย (CIMBT)
โดยสำหรับไตรมาส 3 ปี 2567 ทั้ง 10 ธนาคาร มีกำไรสุทธิโดยรวมอยู่ที่ 63,583 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.91% หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จาก 59,474 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นราว 1.06% จากไตรมาสก่อนหน้านี้ โดยธนาคารที่มีกำไรสูงสุดคือ ธนาคารกรุงเทพ มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 12,476 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.92% จากปีก่อน และเพิ่มขึ้น 5.67% จากไตรมาสก่อนหน้า ถัดมาคือ กสิกรไทย กำไรสุทธิ 11,965 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.23% จากปีก่อนและ 9.26%จากไตรมาสก่อนหน้า อันดับสามคือ ธนาคารกรุงไทย กำไรสุทธิอยู่ที่ 11,107 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.02% จากปีก่อน แต่ลดลง 0.79% จากไตรมาสก่อน แต่ธนาคารที่เติบโตสูงสุดคือ ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กำไรสุทธิอยู่ที่ 595 ล้านบาท เติบโตขึ้นถึง 61% จากปีก่อน
อย่างไรก็ตาม สำหรับงวด 9 เดือน ของปี พบว่ากำไรสุทธิของทั้ง 10 แบงก์ อยู่ที่ 190,009 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.75% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่กำไรสุทธิโดยรวมอยู่ที่ 181,391 ล้านบาท
โดยธนาคารที่ผลประกอบการเติบโตโดดเด่นช่วง 9 เดือน อาทิ กสิกรไทย โตขึ้น 15.41% ธนาคารกรุงไทย โตเกือบ 10% ทีทีบี โตขึ้นมากที่ 17.09% และซีไอเอ็มบีไทย โต 8.87%
หากดูด้านการตั้งสำรองหนี้สูญ พบไตรมาสนี้ ปรับตัวลดลงทั้งหากเทียบกับปีก่อน และไตรมาสก่อนหน้า โดยทั้ง 10 แบงก์สำรอง โดยรวมในไตรมาส 3 ปี 2567 อยู่ที่ 57,075 ล้านบาท ลดลง 2.24% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และลดลง 7.78% จากไตรมาสก่อน
โดยธนาคารที่ภาระตั้งสำรองลดลงที่สุดคือ อาทิ บมจ. เอสซีบี เอกซ์ ลดลง 10.44% แบงก์กรุงเทพ ลดลง 8.61% กสิกรไทย 8.92% และทิสโก้ สำรองลดลง 341% เกียรตินาคินภัทร ลดลง 60%
สำหรับงวด 9 เดือน สำรองโดยรวมลดลงเช่นกัน โดยรวมอยู่ที่ 176,774 ล้านบาท เพิ่มขึ้นหากเทียบกับ ช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 6.06%
โดยธนาคารที่ตั้งสำรองเพิ่มขึ้นในไตรมาสนี้ มากที่สุดคือ ทิสโก้ สำรองเพิ่มขึ้น 503% กรุงศรีฯ สำรองเพิ่มขึ้น 55% และทีทีบี 17.77%
นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ หรือ SCB กล่าวว่า “เศรษฐกิจไทยโดยรวมยังคงฟื้นตัวอย่างช้า ๆ โดยมีแรงกดดันเพิ่มเติมจากอุทกภัยในหลายพื้นที่ ยังคงให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวัง มุ่งเน้นการเติบโตที่มีคุณภาพและเสริมความแข็งแกร่งของสถานะทางการเงิน
ในไตรมาสที่ผ่านมา บริษัทได้ร่วมกับสองธนาคารดิจิทัลชั้นนำในภูมิภาค ได้แก่ KakaoBank และ WeBank ยื่นขออนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) เชื่อมั่นว่า Virtual Bank จะเข้ามาช่วยขยายโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการเงิน อีกทั้งยังส่งเสริมนวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ได้ขายกิจการแพลตฟอร์มฟู้ดดิลิเวอรี Robinhood ให้กับกลุ่มผู้ลงทุนซึ่งนำโดยบริษัท ยิบอินซอย จำกัด ภายใต้เจตนารมณ์ที่ต้องการส่งต่อแพลตฟอร์มฟู้ดดิลิเวอรีของคนไทยเพื่อคนไทยต่อไป
ทั้งนี้ การขายกิจการดังกล่าวเป็นไปตามกรอบการรักษาเงินที่รอบคอบ เพื่อสร้างมูลค่าให้ผู้ถือหุ้นอย่างยั่งยืน
สำหรับผลการดำเนินงาน บมจ.เอสซีบี เอกซ์ มีกำไรสุทธิในไตรมาส 3 ของปี 2567 จำนวน 10,941 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หลักๆ มาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ จำนวน 32,635 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นผลจากการขยายตัวของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ
ขณะที่ยอดสินเชื่อโดยรวมลดลงเล็กน้อยในอัตรา 0.9% จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวัง ภายใต้สภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่มีความท้าทายรอบด้าน สำหรับ 9 เดือนแรกปี 2567 บริษัทมีกำไรสุทธิจำนวน 32,236 ล้านบาท ลดลง 0.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
โดยมาจากการขาดทุนจากการขายบริษัท PPV ในไตรมาส 3 ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายครั้งเดียวจากการยุติให้บริการแอปพลิเคชัน Robinhood
นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า กำไรไตรมาส 3 ปี 2567 อยู่ที่ 11,965 ล้านบาท ลดลงจำนวน 688 ล้านบาท หรือ 5.43% หลักๆ มาจากการลดลงของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย ส่วนใหญ่จากธุรกิจประกันแต่ด้านรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้น
ขณะที่ช่วง 9 เดือน ธนาคารมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 38,104 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,087ล้านบาท หรือ 15.41% จากสำรองหนี้เสียที่ลดลง ทั้งในไตรมาส 3 และช่วง 9 เดือน แต่การตั้งสำรองของธนาคารยังเป็นไปตามหลักความระมัดระวังอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สำรองฯ อยู่ในระดับที่เหมาะสม สะท้อนสถานการณ์ปัจจุบันและรองรับความไม่แน่นอนของปัจจัยต่างๆ รวมถึงความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่อาจส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจ