ค่าเงินบาทวันนี้ 24 ต.ค.67 ‘อ่อนค่าหนัก‘ ดอลลาร์แข็งค่า ก่อนเลือกตั้งสหรัฐ

ค่าเงินบาทวันนี้ 24 ต.ค.67 ‘อ่อนค่าหนัก‘  ดอลลาร์แข็งค่า ก่อนเลือกตั้งสหรัฐ

ค่าเงินบาทวันนี้ 24 ต.ค.67 เปิดตลาด “อ่อนค่าหนัก“ ที่ 33.78 บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย”ชี้ตามดอลลาร์แข็งค่า ตลาดทยอยปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟด รับแรงหนุนจากความไม่แน่นอนเลือกตั้งสหรัฐ มองกรอบเงินบาทวันนี้ 33.65-33.90 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทวันนี้ ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.78 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงหนัก” จากระดับปิด ณ วันอังคารที่ 22 ตุลาคม ที่ระดับ  33.50 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.65-33.90 บาทต่อดอลลาร์ 

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันอังคารที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยอ่อนค่าลงต่อเนื่อง (กรอบการเคลื่อนไหว 33.47-33.85 บาทต่อดอลลาร์) จนทะลุแนวต้าน 33.65 บาทต่อดอลลาร์ ที่เราประเมินไว้ โดยเงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่า ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ซึ่งยังคงได้แรงหนุนจากมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ทยอยปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟด รวมถึง การเพิ่มสถานะ Long USD เพื่อเตรียมรับมือกับความไม่แน่นอนของการเลือกตั้งสหรัฐฯ 

นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงของบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่ล่าสุดได้อ่อนค่าต่อเนื่อง จนมีจังหวะอ่อนค่าทะลุโซน 153 เยนต่อดอลลาร์ ตามส่วนต่างบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น และนอกเหนือจากการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ เงินบาทยังเผชิญแรงกดดันจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะปรับฐาน (Correction) หลังราคาทองคำมีจังหวะปรับตัวลงแรงกว่า -40 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ในช่วงคืนที่ผ่านมา เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดที่ยังมีมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มราคาทองคำ ต่างทยอยเข้าซื้อทองคำในช่วงดังกล่าว 

ค่าเงินบาทวันนี้ 24 ต.ค.67 ‘อ่อนค่าหนัก‘  ดอลลาร์แข็งค่า ก่อนเลือกตั้งสหรัฐ

แนวโน้มค่าเงินบาท

สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท เรายังคงมั่นใจต่อมุมมองเดิม ที่ประเมินแนวโน้มเงินบาททยอยอ่อนค่า (เรา call USDTHB bottom แถว 32 บาทต่อดอลลาร์ ณ วันที่ 2 ตุลาคม ที่ผ่านมา) หลังเงินบาทได้อ่อนค่าลงต่อเนื่อง จนทะลุโซนแนวต้าน 33.65 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งทำให้ในเชิงเทคนิคัล เงินบาท (USDTHB) อาจทำ Cup with Handle หรือ Trend Change ใน Time Frame รายวัน ได้สำเร็จ เปิดโอกาสให้เงินบาทสามารถอ่อนค่าลงต่อเนื่องไปถึงโซน 34.00-34.25 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก หากปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่ายังคงดำเนินต่อไป อาทิ เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ตามแนวโน้มการปรับสถานะถือครองของผู้เล่นในตลาดให้สอดคล้องกับธีม Trump Trades รวมถึง บรรดานักลงทุนต่างชาติต่างยังคงเดินหน้าขายสินทรัพย์ไทยเพิ่มเติม ท่ามกลางบรรยากาศปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน นอกจากนี้ เงินบาทก็อาจเผชิญแรงกดดันจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อสกุลเงินต่างประเทศ อย่าง เงินเยนญี่ปุ่น (JPYTHB) หลังเงินเยนได้มีจังหวะอ่อนค่าลง โดย เราประเมินว่า เงินเยนญี่ปุ่นได้อ่อนค่าลงมาเกินปัจจัยพื้นฐานพอสมควร และยังมีแนวโน้มกลับมาแข็งค่าขึ้นได้มากกว่าเงินบาท ทำให้เราคงแนะนำ Buy on Dip JPYTHB ซึ่งในช่วงนี้ สัญญาณเชิงเทคนิคัล อย่าง RSI Bullish Divergence ก็สะท้อนโอกาสที่ เงินเยนญี่ปุ่น JPYTHB อาจแข็งค่าขึ้น

อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินบาทอาจมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากราคาทองคำก็ยังมีโอกาสรีบาวด์สูงขึ้น หลังผู้เล่นในตลาดยังคงต้องการถือทองคำในช่วงเผชิญความไม่แน่นอนของทั้งการเลือกตั้งสหรัฐฯ สถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง และภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน เนื่องจากผู้เล่นในตลาดบางส่วน อาจรอทยอยขายเงินดอลลาร์ ในจังหวะที่เงินบาทอ่อนค่าลงแถวโซนแนวต้านใหม่ 33.85 บาทต่อดอลลาร์ 

ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลดัชนี PMI ของบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะสหรัฐฯ เพราะหาก ดัชนี PMI ออกมาแย่กว่าคาด ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมาเพิ่มโอกาสเฟดลดดอกเบี้ยต่อเนื่องมากขึ้น กดดันทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้บ้าง ซึ่งอาจเห็นการรีบาวด์สูงขึ้นต่อเนื่องของราคาทองคำและการกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้างของเงินบาทได้ 

ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงในตลาด ลักษณะ Two-Way Volatility ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งสหรัฐฯ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ในตะวันออกกลาง รวมถึงการปรับมุมมองต่อแนวโน้มนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางไปมา ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

บรรยากาศในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) กดดันโดยแรงขายหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth อาทิ Meta -3.2%, Nvidia -2.8% หลังบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ท่ามกลางมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟด รวมถึงความกังวลต่อแนวโน้มที่โดนัลด์ ทรัมป์อาจชนะการเลือกตั้งสหรัฐฯ ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ดิ่งลง -1.60% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.92% 

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลง -0.30% กดดันโดยแรงขายหุ้นที่รายงานผลประกอบการแย่กว่าคาด อาทิ L’Oreal -2.5% นอกจากนี้ แรงขายหุ้นกลุ่มเทคฯ อาทิ ASML -1.2% หลังบอนด์ยีลด์ระยะยาวฝั่งยุโรปต่างปรับตัวขึ้นตามบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็มีส่วนกดดันตลาดหุ้นยุโรปเช่นกัน   

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องทะลุโซน 4.20% ตามการทยอยปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟด และการปรับสถานะถือครองสินทรัพย์ให้สอดคล้องกับธีม Trump Trades มากขึ้น หลังโอกาสที่โดนัลด์ ทรัมป์จะชนะการเลือกตั้งสหรัฐฯ ยังคงสูงกว่า 60% (จาก Polymarket ล่าสุด) อนึ่ง เราคงมุมมองเชิงบวกต่อการลงทุนในบอนด์ระยะยาว ตามแนวโน้มการทยอยลดดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลางส่วนใหญ่และบอนด์ยีลด์ที่อยู่ในระดับสูงพอสมควร เมื่อเทียบกับอดีต ทว่า เราขอเน้นย้ำให้ ผู้เล่นในตลาดทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวในจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น (เน้นกลยุทธ์ Buy on Dip) เพื่อให้ได้ Risk-Reward ที่คุ้มค่าและเหมาะสม

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้น ตามการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังผู้เล่นในตลาดทยอยปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟดและปรับสถานะถือครองสินทรัพย์ให้สอดคล้องกับธีม Trump Trades นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่อ่อนค่าลงต่อเนื่อง จนมีจังหวะอ่อนค่าทะลุโซน 153 เยนต่อดอลลาร์ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นใกล้โซน 104.4 จุด  ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รวมถึงแรงขายทำกำไรของผู้เล่นในตลาด ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) มีจังหวะปรับตัวลดลงราว -40 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่จะรีบาวด์ขึ้นบ้างสู่โซน 2,730-2,740 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยราคาทองคำยังพอได้แรงหนุนจากความต้องการถือของผู้เล่นในตลาด ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง รวมถึงความไม่แน่นอนของการเลือกตั้งสหรัฐฯ 

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ (Manufacturing and Services PMIs) เดือนตุลาคม ของบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลัก ทั้ง สหรัฐฯ ยูโรโซน อังกฤษ และญี่ปุ่น เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจและทิศทางนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางหลัก นอกจากนี้ ในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) เพื่อประเมินสภาวะตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่เป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจนโยบายการเงินของเฟด

และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน  พร้อมทั้งติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง และแนวโน้มการเลือกตั้งสหรัฐฯ