“คุณพร้อมแค่ไหนกับการเกษียณอายุอย่างมีสุข สูงอายุอย่างมีค่า”
ประกันชีวิตแบบบำนาญควรทำเมื่ออายุยังน้อย เพราะค่าเบี้ยประกันชีวิตที่ต้องจ่ายก็จะน้อยตามไปด้วย แต่สำหรับเรื่องผลประโยชน์ที่จะได้รับไม่ว่าจะทำประกันตอนช่วงอายุเท่าไร ก็จะได้รับผลตอบแทนเท่ากัน
คุณเคยคิดหรือไม่ว่า วันหนึ่งหากต้องเกษียณอายุ จะใช้ชีวิตอย่างไร จะสูงวัยอย่างมีความสุข มีคุณค่า ไม่ต้องเป็นภาระพึ่งพิงของครอบครัวได้หรือเปล่า เพราะอย่างที่เรารู้กันว่า ขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และเริ่มมีข่าวให้เห็นกันบ่อยๆ เกี่ยวกับผู้สูงอายุที่ต้องอยู่เพียงลำพัง และต้องการความช่วยเหลือเพราะขาดกำลังทรัพย์ ซึ่งจากการสำรวจพฤติกรรมทางการเงินภาคครัวเรือนไทยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานสถิติแห่งชาติระหว่างปี 2561-2565 พบว่า ในปี 2565 มีคนเพียง 16% ที่วางแผนเก็บออมเพื่อการเกษียณและสามารถทำได้ตามแผนที่ตั้งใจไว้
นอกจากนี้ ยังมีผลการสำรวจทักษะทางการเงินของคนไทย ปี 2565 ซึ่งสำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ คำนวณโดยธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า 7.7% ของคนไทยมีเงินออมเผื่อฉุกเฉิน แต่มีเพียง 22.4% ที่มีเงินออมเผื่อฉุกเฉินในระดับที่เหมาะสม หมายถึงเพียงพอสำหรับการใช้จ่ายเมื่อต้องหยุดงาน 6 เดือนขึ้นไป และ 61.1 % ของคนไทยมีการวางแผนและเริ่มออมเงินเพื่อไว้ใช้ตอนเกษียณ แต่มีเพียง 15.7 % เท่านั้นที่ทำได้สำเร็จตามแผนที่วางไว้ ซึ่งส่วนใหญ่ที่ออมเพื่อเกษียณไม่สำเร็จ มักเห็นว่าเรื่องเกษียณยังรอได้ เริ่มต้นช้าเพราะคิดว่าอายุยังน้อย มีวินัยการออมที่ไม่เพียงพอ คาดการณ์เรื่องค่าใช้จ่ายหลังเกษียณอายุน้อยเกินไป
โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสุขภาพเมื่อสูงวัย รวมถึงคาดการณ์อายุที่จะยังมีชีวิตอยู่หลังเกษียณน้อยเกินไป และไม่ได้คิดถึงภาวะเงินเฟ้อในอนาคต หรือคิดว่าสามารถพึ่งเงินออมจากภาครัฐได้เพียงพอ เช่น เงินเกษียณจากประกันสังคม เบี้ยยังชีพคนชรา เจ็บป่วยก็รักษาด้วยสิทธิบัตรทอง 30 บาท ซึ่งในความเป็นจริงแล้วการใช้ชีวิตด้วยเงินเพียงเท่านี้อาจจะอยู่ได้ยากในอนาคต
แล้วมีเงินเท่าไรถึงจะเพียงพอ ลองคำนวณด้วยวิธีง่ายๆ โดยคิดจาก เงินที่ควรมี ณ วันเกษียณอายุ = ค่าใช้จ่ายต่อเดือนหลังเกษียณ คิดจากค่าใช้จ่ายพื้นฐานในการดำรงชีพ ค่าอาหาร สาธารณูโภค ข้าวของเครื่องใช้ ภายในบ้าน ซึ่งอาจจะอ้างอิงตัวเลขจากสำนักงานสถิติแห่งชาติที่เคยประเมินค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อครัวเรือน ที่ 28,000 บาท x 12 เดือน x จำนวนปีที่คาดว่าจะมีชีวิตอยู่หลังเกษียณ สามารถคาดการณ์จากอายุเฉลี่ยอ้างอิงข้อมูลของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งประมาณการอายุเฉลี่ยสำหรับชายไทยอยู่ที่ 77.5 ปี และหญิงไทยที่ 83 ปี
ตัวอย่าง นายก. จะเกษียณเมื่ออายุ 60 ปี หลังเกษียณต้องการมีเงินใช้จ่ายเดือนละ 28,000 บาท และคาดว่าจะมีชีวิตอยู่จนอายุ 83 ปี ดังนั้น จำนวนเงินที่ต้องมี ณ วันเกษียณ = 28,000 บาท x 12 เดือน x 23 ปีหลังเกษียณ = 7,728,000 บาท
แต่การวางแผนเกษียณให้รัดกุมต้องไม่ลืมคิดถึงเรื่อง “เงินเฟ้อ” เข้าไปด้วย เพราะเงินเฟ้อนั้นเพิ่มขึ้นทุกปี เช่น ปัจจุบัน เราซื้อข้าวราดแกงได้ในราคาจานละ 60 บาท ปีหน้าเราอาจจะต้องซื้อข้าวแกงในราคาจานละ 70 บาท เนื่องจากวัตถุดิบขึ้นราคา ทำให้การใช้ชีวิตในแต่ละปีมีค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นตามภาวะเงินเฟ้อ ดังนั้นตัวเลข 7,728,000 อาจจะยังไม่เพียงพอ สำหรับอีก 23 ปีข้างหน้า ที่จะต้องใช้ชีวิตหลังเกษียณ
อย่างไรก็ตาม เมื่อเห็นตัวเลขแล้วอาจทำให้รู้สึกว่าการเก็บเงินไว้ใช้หลังเกษียณเป็นเรื่องยากและเกินเอื้อม แต่ถ้าเราออมตั้งแต่อายุยังน้อย และมีวินัยในการออมที่สม่ำเสมอ เป้าหมายนั้นก็คงไม่กำลัง ซึ่งเครื่องมือที่สำคัญในการสร้างวินัยการออมได้เป็นอย่างดีก็คือการประกันชีวิตเพราะจะกำหนดให้จ่ายเบี้ยประกันภัย ซึ่งเป็นเงินออมเท่ากันทุกปีเป็นระยะเวลาหนึ่ง เพื่อความคุ้มครองชีวิตหรือคุ้มครองรายได้ ส่วนแบบที่เหมาะสมสำหรับผู้วางแผนเกษียณก็คือ ประกันชีวิตแบบบำนาญ
สำหรับ “ประกันชีวิตแบบบำนาญ” เป็นเครื่องมือที่ควรพิจารณาเป็นลำดับแรก เพราะไม่มีความเสี่ยงจากการลงทุน ไม่มีความผันผวน เงินต้นไม่หาย ประกันชีวิตแบบบำนาญนั้น เป็นการทำสัญญาการออมเงินระยะยาว ผู้ทำจะต้องจ่ายเบี้ยประกันชีวิตแบบต่อเนื่องหลายปี จนถึงอายุเกษียณหรือตามระยะเวลาที่เลือกในกรมธรรม์ ซึ่งเท่ากับสะสมเงินออมให้เป็นเงินบำนาญในอนาคต โดยผู้เอาประกันภัยจะได้รับเงินคืนเป็นรายงวดในรูปแบบของเงินบำนาญ (ซึ่งอาจกำหนดให้บริษัทประกันชีวิตจ่ายเงินบำนาญเป็นรายปี ราย 6 เดือน ราย 3 เดือน หรือรายเดือนก็ได้) โดยที่บริษัทที่รับประกันจะจ่ายผลประโยชน์ นั่นก็คือเงินบำนาญ เมื่อคุณเกษียณอายุ ตั้งแต่อายุ 55 หรือ 60 ปี - 85 ปี หรือมากกว่านั้นแล้วแต่เงื่อนไขที่กรมธรรม์ประกันชีวิตกำหนดไว้ พร้อมทั้งได้รับความคุ้มครองความเสี่ยงจากการเสียชีวิต เพื่อประโยชน์ของครอบครัวและคนที่อยู่ข้างหลัง
นอกจากนี้ เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญที่ทำให้ตัวเอง สามารถนำเบี้ยประกันภัยที่ชำระมาลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท และไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี แต่สำหรับคนซื้อประกันชีวิตแบบบำนาญเพียงอย่างเดียว หรือมีแบบประกันชีวิตอื่น แต่ไม่ได้ใช้สิทธิลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตแบบทั่วไป จำนวน 100,000 บาท ก็สามารถนำเบี้ยประกันบำนาญนี้มาใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 300,000 บาทเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม ประกันชีวิตแบบบำนาญควรทำเมื่ออายุยังน้อย เพราะค่าเบี้ยประกันชีวิตที่ต้องจ่ายก็จะน้อยตามไปด้วย แต่สำหรับเรื่องผลประโยชน์ที่จะได้รับไม่ว่าจะทำประกันตอนช่วงอายุเท่าไร ก็จะได้รับผลตอบแทนเท่ากัน เพราะผลตอบแทนที่ได้รับนั้นทางบริษัทประกันชีวิตได้คิดคำนวณผลประโยชน์มาให้แล้ว และเป็นจำนวนที่คงที่ไม่ได้ผันผวนไปตามช่วงอายุแต่อย่างใด
หลังจากที่มีความมั่นคงทางการเงินด้วยบำนาญที่สร้างด้วยตนเองแล้ว ควรเลือกศึกษาการลงทุนจากเครื่องมือการเงินอื่นๆ เช่น หุ้น กองทุนรวม ตราสารการเงินอื่นๆ อสังหาริมทรัพย์ หรือทองคำ เพื่อต่อยอดเงินออมให้งอกเงยจะได้ชนะเงินเฟ้อ ที่สำคัญอย่าลืมควบคุมค่าใช้ในชีวิตประจำวันด้วยบัญชี รายรับ-รายจ่าย อย่าลืมว่าวางแผนการเงินเร็วและดีมีชัยไปกว่าครึ่ง เมื่อถึงเวลาเกษียณ เราสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปรารถนา โดยไม่ต้องพึ่งพาใคร ถึงจะเป็นเกษียณสำราญอย่างแท้จริง