แบงก์ขายหนี้เสียโค้งท้ายพุ่ง CHAYO-BAM คาดยอดขายเอ็นพีแอลทะลักยาวถึงปี68
ธุรกิจรับซื้อหนี้เสียคึกคัก “ชโย” ชี้แบงก์แห่ขายหนี้เสียทอดตลาดพุ่งโค้งท้าย หวังบริหารหนี้เสียตามเป้า เผยไตรมาสสุดท้ายมีหนี้ถูกขายทอดตลาดแล้ว 6 หมื่นล้าน ส่งผลทั้งปีหนี้เสียขายทอดตลาดพุ่ง 2.5 แสนล้าน
นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชโย กรุ๊ป หรือ CHAYO กล่าวว่า สำหรับภาพรวมธุรกิจการบริหารสินทรัพย์ หรือ เอเอ็มซี ในช่วงโค้งท้ายปี 2567 มียอดขายหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ เอ็นพีแอล เข้าสู่ตลาดจำนวนมาก โดยตั้งแต่เดือนก.ย. จนถึงสิ้นปี มีหนี้ที่สถาบันการเงินนำออกมาประมูลขายทอดตลาดถึง 60,000 ล้านบาท จากที่ขายทอดตลาดแล้วในช่วงก่อนหน้าเกือบ 200,000 ล้านบาท
โดยการเร่งนำหนี้เสียออกมาขายในช่วงท้ายปี ส่วนหนึ่งมาจากการเร่งขายก่อนที่มาตรการแก้หนี้ครัวเรือนของรัฐจะมีผลบังคับใช้
โดยเฉพาะหนี้เสียที่ไม่เกิน 1 ปี รวมถึงหนี้ค้างชำระอื่นๆ ออกมา เพื่อบริหารหนี้เสียของธนาคารให้เป็นไปตามเป้าหมายทั้งปี 2567 จึงยังเห็นทิศทางการขายหนี้ออกมาต่อเนื่อง
ทั้งนี้ คาดว่าทั้งปี 2567 แบงก์น่าจะขายหนี้ทอดตลาดทั้งสิ้น 250,000 ล้านบาท โดยมีทั้งหนี้ที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน
สำหรับภาพรวมการรับซื้อหนี้เสียมาบริหารของบริษัทปัจจุบันซื้อหนี้มาบริหารแล้ว 300 ล้านบาท คิดเป็นมูลหนี้ที่ได้ราว 3,000 ล้านบาท โดยคาดว่าในช่วงไตรมาสสุดท้าย บริษัทน่าจะได้หนี้เสียมาได้อีก 3,000-4,000 ล้านบาท ทำให้ทั้งปีคาดใช้งบลงทุนซื้อหนี้เสียมาบริหารราว 700 ล้านบาท หรือคิดเป็นมูลหนี้ราว 7,000 ล้านบาท
ซึ่งหากเป็นไปตามคาด คาดว่าหนี้ภายใต้การบริหารของบริษัทสิ้นปีนี้ จะเพิ่มเป็น 1.1 แสนล้านบาท และมีรายได้เติบโตตามเป้าหมายที่ 20%
สำหรับปี 2568 บริษัทเชื่อว่า แม้จะมีมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนของภาครัฐ โดยเฉพาะการช่วยลูกหนี้ในการลดภาระหนี้ลง แต่เชื่อว่า การขายหนี้ของแบงก์น่าจะมีต่อเนื่อง เนื่องจากมาตรการแก้หนี้ของภาครัฐครั้งนี้ กลุ่มที่เข้าข่ายคือต้องมีหนี้ค้างชำระไม่เกิน 1ปีเท่านั้น
ดังนั้นคาดว่าจะมีหนี้ค้างชำระเกิน 1ปี ที่แบงก์จะนำออกมาขายอีกจำนวนมาก โดยคาดแบงก์จะนำหนี้เสียออกมาขายทอดตลาดปีหน้าอยู่ที่ราว 150,000-200,000 ล้านบาทในปี 2568
ทั้งนี้ คาดจะหนุนรายได้ของบริษัทเติบโตต่อเนื่องที่ 20% ปีหน้านี้ ภายใต้การตั้งเป้างบลงทุนเพื่อซื้อหนี้เสียอยู่ที่ราว 1,000 ล้านบาท โดยคาดจะสามารถซื้อหนี้ภายใต้การบริหารอยู่ที่ 10,000 ล้านบาทในปีหน้า
“ปีหน้ายังคงตั้งเป้าเติบโตต่อที่ 20% และจะใช้งบทั้งหมด 80-90% ไปกับการซื้อหนี้ และติดตามหนี้ เพราะคาดปีหน้าจะมีปัญหาหนี้อีกมากที่ต้องเร่งแก้ ทำให้ธุรกิจติดตามหนี้น่าจะเติบโตได้ดี ส่วนอีกด้านคือการปล่อยสินเชื่อ ที่อยู่ในพอร์ตของบริษัทเช่นกัน ที่บริษัทก็คาดจะมีดีมานด์สินเชื่อเข้ามาต่อเนื่องสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันที่มีความต้องการสินเชื่อค่อนข้างมาก”
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังมีเป้าหมายที่สำคัญ คือการแก้หนี้เอ็นพีแอลในพอร์ตให้ต่ำลงเหลือ 6-7% จากปัจจุบันที่อยู่กว่า 10% เพื่อเตรียมตัวเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ภายในไตรมาส 4 ปีหน้า ที่เป็นเป้าหมายที่ท้าทายที่ต้องพยายามทำให้ได้ ซึ่งบริษัทก็เชื่อว่าจะทำได้ เพราะการปล่อยกู้ที่ผ่านมาปล่อยแค่ 45% หากเทียบหลักทรัพย์ค้ำประกัน หากเทียบกับแบงก์ที่ปล่อยเกิน 50% ดังนั้น ลูกหนี้ยังต้องการแก้หนี้เพราะไม่อยากเสียหลักทรัพย์ค้ำประกันไป
นายบัณฑิต อนันตมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM กล่าวว่า สำหรับภาพรวมยอดเรียกเก็บหนี้ปีนี้ น่าจะต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ที่ 20,000 ล้านบาท เป็นผลจากการเบิกจ่ายของภาครัฐที่มีความล่าช้า
ทั้งนี้ หากไม่รวมธุรกิจ JV AMC บริษัทคาดว่ารับซื้อหนี้มาบริหารอยู่ที่ 7,000-8,000 ล้านบาท คิดเป็นมูลหนี้ราว 2.6 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายเล็กน้อยที่ 9,000 ล้านบาท โดยปีหน้าบริษัทตั้งเป้าวงเงินรับซื้อหนี้เสียมาบริหารที่ 9,000 ล้านบาท และตั้งเป้าขายสินทรัพย์ที่รอการขายหรือเอ็นพีเออีกราว 9,000 ล้านบาท โดยคาดยอดเก็บเงินสดจะอยู่ที่ 18,000 ล้านบาท
สำหรับ บริษัทร่วมทุน “อรุณ” ที่ร่วมทุนกับธนาคารกสิกรไทย คาดจะได้รับใบอนุญาตราวไตรมาส 4 ปีนี้ ซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถรับบริหารหนี้โดยทันที และบริษัทร่วมทุนร่วมกับออมสิน ภายใต้ “บริษัทสินทรัพย์อารีย์” ล่าสุด รับบริหารหนี้ที่ไม่มีหลักประกันและมีหลักประกันแล้ว 1 แสนราย และคาดปี 2568 จะมีการโอนลูกหนี้เข้ามาเพิ่มอีก 4 แสนราย ทำให้คาดมีโอกาสถึงจุดคุ้มทุนเร็วกว่าที่คาดไว้