ค่าเงินบาทวันนี้ 21 พ.ย.67 ‘แข็งค่า‘ เฟดชะลอลดดอกเบี้ย ตลาดรอปัจจัยใหม่

ค่าเงินบาทวันนี้ 21 พ.ย.67 ‘แข็งค่า‘ เฟดชะลอลดดอกเบี้ย ตลาดรอปัจจัยใหม่

ค่าเงินบาทวันนี้ 21 พ.ย. 67 เปิดตลาด “แข็งค่า” ที่ 34.64 บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย” ชี้เฟดชะลอการลดดอกเบี้ยและมีโอกาสที่เฟดจะลดดอกเบี้ยได้น้อย ตลาดต่างรอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม มองกรอบเงินบาทวันนี้ 34.50-34.75 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า "ค่าเงินบาทวันนี้"ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  34.64 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  34.70 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.50-34.75 บาทต่อดอลลาร์ 

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท(USDTHB) พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้าง (กรอบการเคลื่อนไหว 34.59-34.76 บาทต่อดอลลาร์) แม้ว่าโดยรวมเงินดอลลาร์จะทยอยแข็งค่าขึ้น ตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คงเชื่อว่า เฟดอาจชะลอการลดดอกเบี้ยและมีโอกาสที่เฟดจะลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าที่ได้ระบุไว้ใน Dot Plot เดือนกันยายน ทว่าเงินบาทก็ยังพอได้แรงหนุนจากการรีบาวด์สูงขึ้นของราคาทองคำ (XAUUSD) ราว +30 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สู่โซน 2,640-2,650 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หลังผู้เล่นในตลาดยังคงต้องการถือทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ทวีความร้อนแรงในช่วงนี้ (เรามองว่า ควรจับตาพัฒนาการของสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งอาจสร้างความผันผวนให้กับตลาดการเงิน โดยเฉพาะในส่วนของราคาทองคำและเงินบาทได้) 

นอกจากนี้ ความต้องการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงนี้ ยังได้หนุนให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ชะลอการอ่อนค่าลงบ้าง หลังในช่วงระหว่างวัน เงินเยนญี่ปุ่นได้ทยอยอ่อนค่าลงใกล้โซน 156 เยนต่อดอลลาร์ อีกครั้ง ซึ่งภาพดังกล่าว กอปรกับแรงขายทำกำไรสถานะ Long USD ก็มีส่วนช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ในช่วงคืนที่ผ่านมาด้วยเช่นกัน 

แนวโน้มค่าเงินบาท

สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทอาจมีแนวโน้มแกว่งตัวในกรอบ Sideways เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม ซึ่งอาจมีจุดสำคัญอยู่ที่ช่วงวันศุกร์ ซึ่งจะมีการรายงานข้อมูลอัตราเงินเฟ้อ CPI ของญี่ปุ่น (ส่งผลกระทบต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ BOJ ได้) รวมถึงรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ (S&P Manufacturing and Services PMIs) เดือนพฤศจิกายน ของบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลัก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของบรรดาธนาคารกลางหลักได้เช่นกัน 

ทั้งนี้ เราประเมินว่า เงินบาทเผชิญความเสี่ยงสองด้าน (ทั้งอ่อนค่าและแข็งค่า) พอๆ กัน โดยแรงหนุนฝั่งแข็งค่านั้น อาจมาจากการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ ตราบใดที่ผู้เล่นในตลาดยังคงมีความกังวลต่อสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน หรือ ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง (ซึ่งดูสงบลงจากช่วงก่อนหน้าพอสมควร) ทว่า ความกังวลต่อความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ดังกล่าว ก็มีโอกาสหนุนให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่กดดันเงินบาทได้เช่นกัน และแม้ว่าเงินดอลลาร์อาจแกว่งตัวในกรอบ Sideways หรืออาจยังไม่ได้แข็งค่าขึ้นชัดเจนท่ามกลางแรงขายทำกำไรสถานะ Long USD แต่เงินบาทก็อาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าได้ จากแรงขายสินทรัพย์ไทยของบรรดานักลงทุนต่างชาติ ที่เริ่มกลับมาอีกครั้ง โดยในวันก่อนหน้า นักลงทุนต่างชาติได้ขายสุทธิหุ้นและบอนด์ไทย กว่า -4.6 พันล้านบาท ซึ่งสูงขึ้นพอสมควรจากช่วงต้นสัปดาห์ นอกจากนี้ บรรดาผู้เล่นในตลาดอย่างฝั่งผู้นำเข้าก็อาจรอจังหวะทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์แถวโซนแนวรับช่วง 34.50 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้เงินบาทก็อาจยังไม่สามารถแข็งค่าทะลุโซนแนวรับดังกล่าวได้ง่ายนัก ขณะเดียวกัน ฝั่งผู้ส่งออกต่างก็รอทยอยขายเงินดอลลาร์ ในช่วงแนวต้าน 34.70-34.80 บาทต่อดอลลาร์ (โซนถัดไป 35.00 บาทต่อดอลลาร์) ทำให้โดยรวมเงินบาทอาจแกว่งตัวในกรอบ Sideways ระหว่างโซนดังกล่าวไปก่อน จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม

ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

บรรดาผู้เล่นในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงไม่กล้าเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยง เพื่อรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบริษัทเทคฯ ใหญ่ อย่าง Nvidia -0.8% อีกทั้งบรรยากาศในตลาดการเงินก็ยังคงถูกกดดันจากความกังวลสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นบ้างของหุ้นกลุ่ม Healthcare โดยเฉพาะ UnitedHealth +4.1% จากข่าว ว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แต่งตั้ง Dr. Mehmet Oz (Dr. Oz) ให้ดูแลเกี่ยวกับศูนย์บริการทางการแพทย์ของรัฐบาล (Center for Medicare & Medicaid Services) ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.002% แทบไม่เปลี่ยนแปลง 

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ยังคงปรับตัวลง -0.022% ท่ามกลางความกังวลสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน  รวมถึงผลกระทบจากนโยบายการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 ซึ่งยังคงเป็นปัจจัยกดดันหุ้นกลุ่มยานยนต์ของยุโรป อาทิ Porsche -4.5% ทั้งนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนบ้าง จากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ อาทิ Rio Tinto +0.6%

ในส่วนของตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัวแถวโซน 4.40% แม้ว่าจะมีจังหวะปรับตัวสูงขึ้นบ้าง ตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คงเชื่อว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าที่ระบุไว้ใน Dot Plot ล่าสุด ทว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็ถูกจำกัดโดย ทั้งแรงซื้อ Buy on Dip รวมถึงความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทั้งนี้ เราคงแนะนำให้ผู้เล่นในตลาดใช้จังหวะที่บอนด์ยีลด์ระยะยาวสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นในการทยอยเข้าซื้อสะสมบอนด์ระยะยาว (เน้น Buy on Dip) เนื่องจาก Risk-Reward ของการถือครองบอนด์ระยะยาวยังมีความน่าสนใจ เมื่อประเมินจากผลตอบแทนรวม (Total Return) โดยเฉพาะในกรณีที่ บอนด์ยีลด์ระยะยาวอาจปรับตัวขึ้นหรือลง +/-50bps ซึ่งน้อยกว่าการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เพื่อถึงจุด Break-Even 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวในกรอบ Sideways โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นบ้าง สอดคล้องกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทว่า เงินดอลลาร์ก็ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่องได้ ตามแรงขายทำกำไรสถานะ Long USD อีกทั้ง ความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงนี้ ก็มีส่วนช่วยชะลอการอ่อนค่าลงของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวแถวโซน 106.6 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 106.5-106.9 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ ความกังวลต่อสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ทวีความร้อนแรงขึ้น รวมถึงจังหวะการย่อตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ช่วยหนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ. 2025) สามารถทยอยปรับตัวขึ้นสู่โซน 2,670-2,680 ดอลลาร์ 

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มตลาดแรงงานสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของเฟด โดยเฉพาะสำหรับการประชุม FOMC เดือนธันวาคมนี้ 

นอกจากนี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลักอื่นๆ นอกจากเฟด ทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่ BOE และ ECB พร้อมทั้งติดตาม สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังคงร้อนแรงอยู่ในช่วงนี้