เปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้น ‘ธนาคารทองคำลาว’ มั่นใจไร้ ‘ทุนจีน’ ครอบงำ ?
ลาวเปิดตัว "ธนาคารทองคำ" แห่งแรกในอาเซียน มุ่งกู้เสถียรภาพเศรษฐกิจ ยกระดับค่าเงินกีบ เริ่มแรกมีประชาชนเปิด 2,000 บัญชี คิดเป็นมูลค่าทอง 50 กิโลกรัม ผู้บริหารชี้ทั้งหมดเป็นทุนครอบครัวร่วมรัฐบาล ไม่ใช่ทุนจีน
หลังจากเปิดตัวไปแบบซอฟต์โอเพนนิ่งเมื่อปลายเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา วันนี้ (3 ธ.ค.) นายจันทร สิทธิชัย ผู้อำนวยการใหญ่ธนาคารทองคำลาว หรือ Lao Bullion Bank (LBB) ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับสมาคมธนาคาร, สมาคมทองคำ, และกลุ่มไมโครไฟแนนซ์อีกกว่า 700 แห่ง เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดทำการ “ธนาคารทองคำลาว” อย่างเป็นทางการ
ทั้งนี้ การลงนามบันทึกความเข้าใจกับทั้งสามภาคส่วนมีจุดประสงค์ที่แตกต่างกันออกไปโดยลงนามบันทึกความเข้าใจกับ สมาคมธนาคาร เพื่อเปิดทางให้ลูกค้าของ LBB สามารถใช้ใบรับรองการฝากทอง (Certificate) ในการขอสินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์ในกลุ่มได้ด้วยอัตราส่วนประมาณ 80% ของมูลค่าทองที่ฝากทั้งหมด
ส่วนความร่วมมือกับ สมาคมทองคำ เป็นไปเพื่อรับรองการซื้อขายแลกเปลี่ยนทองคำตามมาตรฐานที่ตกลงร่วมกัน ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการเจรจาว่าจะใช้มาตรฐาน 99.5% หรือ 99.95% ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานระดับสากลของสมาคมตลาดทองคำแห่งลอนดอน (LBMA)
ขณะที่ความร่วมมือกับ กลุ่มไมโครไฟแนนซ์ อีก 700 แห่งมีขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนรายย่อยที่นำทองคำไปฝากกับ LBB สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น ซึ่งจะมีผลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจลาวต่อไป
ที่สำคัญ หนึ่งในจุดประสงค์หลักของธนาคารทองคำแห่งนี้คือเข้าไปยกระดับค่าเงินกีบของลาวที่อ่อนค่าลงอย่างหนักเนื่องจากหนี้สาธารณะจากสกุลเงินต่างชาติที่อยู่ในระดับสูง การขาดดุลการค้าในสกุลเงินดอลลาร์กับหลายประเทศ และอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ตามที่กรุงเทพธุรกิจได้รายงานไปเมื่อช่วงเดือนก.ย.ที่ผ่านมา
หนี้ในสกุลเงินต่างประเทศของลาวปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้นเมื่อถามถึงผลกระทบและความคืบหน้าในเชิงบวกของ LBB ต่อสถานะของค่าเงินกีบในภาพรวมหลังจากเปิดทำการตั้งแต่ปลายเดือน ก.ย. นายจันทร กล่าวว่า เชิงตัวเลขทางเศรษฐกิจยังไม่มีผลกระทบในเชิงบวกที่ชัดเจนเพราะเพิ่งจะเปิดดำเนินการได้ไม่นาน ทว่าในเชิงจิตวิทยาเกิดผลแล้วเนื่องจากการเกิดขึ้นของธนาคารแห่งนี้ทำให้ทั่วโลกเห็นถึงความพยายามของทั้งภาครัฐและเอกชนในการสร้างเสถียรภาพให้เศรษฐกิจและยกระดับค่าเงินกีบที่อ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง
ตั้งแต่เปิดทำการมาตั้งแต่ปลายเดือนก.ย. ที่ผ่านมา นายจันทร กล่าวว่า มีประชาชนเข้ามาเปิดบัญชีฝากทองคำกับ LBB ประมาณ 2,000 บัญชี คิดเป็นน้ำหนักทองคำประมาณ 50 กิโลกรัมทอง (ไม่ได้ระบุมูลค่าเป็นจำนวนเงิน) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประชาชนรายย่อย และในช่วง 1 และ 3 ปีข้างหน้าตั้งเป้าไว้ที่ 10,000 บัญชี และ 100,000 บัญชี ตามลำดับ พร้อมทั้งมุ่งหน้าขยายสาขาเพิ่มอีกสามแห่งได้แก่ จำปาสัก สะหวันนะเขต และหลวงพระบาง
แจงโครงสร้างผู้ถือหุ้น ปัดข่าว ‘ทุนจีน’ ครอบงำ
สำหรับโครงสร้างความเป็นเจ้าของ ธนาคารทองคำแห่งนี้ถือหุ้นโดยรัฐบาลซึ่งประกอบไปด้วยกระทรวงการคลังและธนาคารกลางแห่งประเทศลาวทั้งหมด 25% และ บริษัทพีทีแอล โฮลดิง จำกัด (PTL Holding) 75% โดยเม็ดเงินลงทุนทั้งหมดอยู่ที่ 2,000 กว่าล้านบาท และนายจันทรระบุว่าทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 50 ล้านดอลลาร์ ส่วนที่เหลือเป็นค่าอุปกรณ์และระบบซอฟต์แวร์หลังบ้าน
นอกจากนี้ เมื่อถามถึงกระแสในสังคมออนไลน์ที่ตั้งข้อสังเกตุว่าธนาคารทองคำเป็นอยู่ภายใต้การครอบงำของทุนจากประเทศจีนผ่านการเข้ามาถือหุ้นของบริษัทพีทีแอล โฮลดิง นายจันทร กล่าวว่า บริษัทส่วนใหญ่ที่เข้าไปลงทุนมีแต่ครอบครัวเท่านั้น และ “รับประกันล้านเปอร์เซ็นต์ว่าธนาคารทองคำแห่งนี้เป็นการร่วมทุนของคนในครอบครัวซึ่งถือหุ้นบริษัทพีทีแอล โฮลดิงกับรัฐบาลลาวเท่านั้น”
“ธุรกิจของพวกเราเป็นเงินทุนของครอบครัวทั้งหมด คิดว่าแนวทางการดำเนินธุรกิจของพวกเราอาจจะไม่สอดคล้องกับหลักการปกติในการทำบริษัทเพราะบางครั้งเราก็ทำเพื่อช่วยภาครัฐเมื่อเกิดวิกฤต"
"ยกตัวอย่างเช่นธุรกิจน้ำมัน ในช่วงเกิดปัญหาขาดแขลนน้ำมันบริษัทอื่นปิดหมด มีเพียงบริษัทเราที่เปิดทำการ มีทั้งหมด 150 ปั้มก็เปิดทั้งหมด ในระยะเวลาเพียง 3 วันขาดทุนไป 10 ล้านดอลลาร์ ทั้งๆ ที่ตัวเองไม่มีรถหรูขับ แต่เปิดปั้มเพียงเพราะให้ประชาชนมาเติมน้ำมัน เพื่อไม่ให้ประเทศเรากลายเป็นประเทศล่มสลายทางด้านเศรษฐกิจจากวิกฤตน้ำมัน”
พร้อมอธิบายเสริมว่า “ปัจจุบันบริษัทพยายามจำกัดปริมาณนักลงทุนจากต่างประเทศตามอุดมการณ์ของฝ่ายบริหาร ส่วนบริษัทอื่นจะมีวิสัยทัศน์ต่างออกไปก็ไม่ผิดเป็นมุมมองของเขา แต่บริษัทเรามีทิศทางแบบนี้ ดังนั้นไม่ว่าจะทุนจีน หรือทุนไหนก็ตาม ไม่มีทุนไหนทั้งนั้นมีแต่ทุนครอบครัวของพวกเราร่วมกับรัฐบาลลาวเท่านั้น”
ทั้งนี้ พีทีแอล โฮลดิง เข้าซื้อขาย (เทรด) ในตลาดหุ้นลาวเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2557 หรือประมาณ 10 ปีที่แล้ว โดยมีนายจันทรนั่งเป็นประธานกรรมการและผู้ก่อตั้งบริษัท โดยพีทีแอลถือเป็นผู้ดำเนินธุรกิจจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงผ่านสถานีบริการน้ำมันครบวงจร และจัดจำหน่ายให้แก่ลูกค้าโดยตรงไปยังลูกค้าโครงการก่อสร้าง และภาคส่วนอุตสาหกรรมต่างๆ ภายใต้เครื่องหมายการค้า ก่อนจะเข้ามาถือหุ้นในธนาคารทองคำแห่งนี้