นักเศรษฐศาสตร์แนะ ‘รัฐบาล’ แจกเงินหมื่น อย่าจบแค่แจก

นักเศรษฐศาสตร์แนะ ‘รัฐบาล’ แจกเงินหมื่น อย่าจบแค่แจก

“นักเศรษฐศาสตร์” ชี้ 3 เดือน “แพทองธาร” ทำเเล้วเรื่องด่วน ลุ้นทำเพิ่มโจทย์ใหญ่ “ซีไอเอ็มบีไทย” ชี้แก้แล้ว “3 โจทย์จำเป็น” ทั้งเศรษฐกิจชั่วคราว สานต่อนโยบายรัฐ “แจกเงินดิจิทัล” และการรับมือความท้าทายใหม่ เตือนระวังแจกเงินพร้อมสร้างรายได้ระยะยาว

นับเป็นเวลา 3 เดือนแล้ว หลังเข้ามารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการสำหรับ “รัฐบาล” ภายใต้ “นางสาวแพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี ที่ปัจจุบันมีหลายฝ่ายมองว่า แม้จะทำเรื่อง “มาตรการเร่งด่วน” ไปแล้วบางเรื่อง เช่น การแจกเงินดิจิทัลสำหรับ “กลุ่มเปราะบางกลุ่มแรก” ที่ถือเป็นรูปธรรม และเห็นได้ชัดเจนที่สุด แต่ยังมีอีก “หลายโจทย์” ที่มองว่ารัฐบาลยังทำน้อยเกินไป และยังมีสิ่งที่รัฐบาลยังต้องสานต่อในระยะอันใกล้นี้

3 เดือนนายกฯ แก้ไข “3 เรื่องด่วน”

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า หากพูดถึงช่วง 3 เดือนของรัฐบาลใหม่ ภายใต้รัฐบาลของ “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี มีอยู่ 3 เรื่อง

1.แก้ไข 2. สานต่อ 3. รับมือเรื่องของการแก้ไขสำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทย ถือว่ามีปัญหามานานต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลชุดก่อนหน้า ที่ไม่สามารถที่จะทำให้เศรษฐกิจเร่งแรงได้

ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมามี “ความเสี่ยง” ทั้งปัญหาน้ำท่วมปัญหา อุทกภัย ราคาสินค้าเกษตรไม่ค่อยดีนัก ภาคเกษตร​ เศรษฐกิจหดตัวต่อเนื่อง กำลังซื้อในระดับล่างก็อ่อนแอมาก

ดังนั้น จะเห็นภาพเศรษฐกิจที่ดีมีเฉพาะกลุ่ม อย่าง “กลุ่มท่องเที่ยว” และ “กำลังซื้อระดับกลางบน” เท่านั้น จึงเห็นช่องว่างของเศรษฐกิจ จึงมีช่องว่างของรายได้กว้างมากขึ้น

ซึ่งเหล่านี้คือ “ปัญหา” ที่รัฐบาลเข้ามาแก้ไข โดยเฉพาะการแจกเงินที่มาจากรัฐบาลก่อนหน้าในยุคของ “เศรษฐา ทวีสิน” ที่มีการรีรอมาต่อเนื่อง และรัฐบาลชุดนี้ก็แก้ไข ด้วยการแจกเป็นเงินสด 10,000 บาท ในประชาชนกลุ่มเปราะบาง 

โดยนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นด้วยว่า การแจกเงินในกลุ่มคนที่ต้องการใช้เงินจริงๆ กลุ่มที่มีปัญหา แต่ขาดเพียงการให้ความรู้ ทางการเงินในช่วงที่มีการแจกเงิน ซึ่งหวังว่าในอนาคตจะมีการแก้ไขในจุดนี้ เพื่อให้คนที่รับเงินมีความรู้ทางการเงินมากขึ้น และนำเม็ดเงินดังกล่าวมาประยุกต์เข้ากับการใช้ชีวิตประจำวัน และก็เป็นแหล่งรายได้ของเขาในอนาคตได้

หนุนรัฐบาลสานต่อดึงทุน “ต่างชาติ”

 ถัดมาคือ การสานต่อจะเห็นได้ว่ารัฐบาลก่อนหน้านี้ มีการเดินทางไปต่างประเทศเพื่อดึงดูดการลงทุนเจรจาการค้าต่างๆ และรัฐบาลชุดใหม่ก็เข้ามาสานต่อในจุดนี้ ทำให้เห็นความพยายามในการที่จะดึงต่างชาติให้เข้ามาลงทุนต่อเนื่อง

ทั้งจาก จีน สหรัฐ ยุโรป ก็จะมีความสำคัญในการเดินหน้าให้ประเทศไทยเป็น “ศูนย์กลาง” จุดหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน ในการดึงดูดเม็ดเงินจากจีนที่ย้ายฐานมาลงทุน และยิ่งเห็นภาพของความขัดแย้งดังกล่าวมากขึ้น หลังจาก “โดนัลด์ ทรัมป์” ได้รับชัยชนะ และรับเลือกเป็น “ประธานาธิบดีสหรัฐ” สมัยที่สอง 

ดังนั้นเชื่อว่าปีหน้าในเรื่องของการสานต่อด้านการดึงดูดการลงทุนก็จะมีมากขึ้น

ส่วนที่ 3 คือ รับมือภายใต้ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยที่จะมีมากขึ้นในระยะข้างหน้า จากเรื่องของสงครามการค้า และเรื่องปัญหาต่างๆ ที่จะมีมากขึ้น ฉะนั้นมองว่าเม็ดเงิน ที่ภาครัฐมี รวมถึงงบประมาณภาครัฐที่วางแผนไว้ ก็จะสามารถประคับประคองเศรษฐกิจได้

แนะรัฐบาลระวังการใช้เงิน 

แต่ก็ต้องมีความระมัดระวัง ในการใช้เงินไม่ให้เป็นการใช้เงินเป็นแจกแล้วจบ เป็นการแจกเงินหรือการดูแลมาตรการการคลังช่วยกลุ่มเปราะบางช่วยกลุ่มที่มีความจำเป็นจริงๆ หรือพยายามสร้าง ให้เกิดรายได้ในระยะยาวหรือเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ที่เหล่านี้เป็นความสำคัญ

ทั้งนี้ อย่าลืมว่าต่อให้นายกฯ ใหม่เข้ามา ก็ไม่ได้แปลว่าเศรษฐกิจไทยจะเร่งแรง แม้ว่าจะมีหลายสำนักปรับขึ้นการคาดการณ์เศรษฐกิจสำหรับปีนี้ แต่หากมองว่าปีหน้าเองเศรษฐกิจไทยก็เสี่ยงที่จะเติบโตได้ไม่ถึงระดับ 3% ภายใต้ความเสี่ยงที่มีมากขึ้น ดังนั้น คงจะต้องหามาตรการในการพยุง และรับมือกับเศรษฐกิจไทยที่โตต่ำเป็นเวลานาน

ดังนั้น จุดที่อยากเห็นคือ อยากเห็นจุดยุทธศาสตร์ หรือกลยุทธ์ของประเทศไทยในการรับมือเศรษฐกิจในระยะยาวด้วยไม่เพียงแต่แก้ปัญหาในระยะสั้นแต่อย่างเดียว

ผลงานรัฐสร้างเสถียรภาพ “ตลาดทุน”

นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า สำหรับผลงานรัฐบาลในช่วง 3 เดือน โดยมองว่าสิ่งที่รัฐบาลทำได้ดีคือ “การสร้างเสถียรภาพ” ที่เห็นในตลาดทุนที่มีการจูงใจในการลงทุนผ่าน “กองทุนวายุภักษ์หนึ่ง” ที่ทำให้ความเชื่อมั่นในด้านตลาดทุนกลับมาได้ระดับหนึ่ง

แต่ระยะถัดไป “การเพิ่มความเชื่อมั่น” ทั้งจาก ภาครัฐ , สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) จะต้องมีมาตรการจัดการ การทุจริต หรือการฉ้อโกงต่างๆ เพื่อเรียกความเชื่อมั่นว่าตลาดทุนโปร่งใส และมีการเปิดให้รายย่อยกับนักลงทุน ที่ไม่มีข้อมูลเข้าถึงเหมือนกรรมการ หรือ ผู้บริหารที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนให้ดีขึ้น

อีกด้านที่เห็นคือ “ความพยายาม” ทั้งการลดค่าไฟ และมีการปรับกฎหมายจากทางกระทรวงพลังงาน และหากเป็นรูปธรรมจะลดค่าใช้จ่ายได้มาก และน่าจะช่วยสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยได้ในอนาคต 

เช่นเดียวกัน อยากเห็นการเปิดเสรีของการขายไฟ ของภาคเอกชนหรือประชาชน ผ่านการติดโซลาร์รูฟท็อปต่างๆ เพื่อลดค่าใช้จ่าย และอีกด้านยังเป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้สามารถดึงศักยภาพของประเทศที่มีแสงแดดจำนวนมากมาใช้ให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

หนุนลุย “เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์”

อีกด้านที่อยากเห็นคือ ความพยายามของรัฐบาลที่จะเพิ่มศักยภาพของธุรกิจการท่องเที่ยวอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เช่น การทำเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ต่างๆ เข้ามา ฉะนั้น ปีหน้าก็อยากเห็นการผลักดันโครงการเหล่านี้ต่อ มีการพัฒนาที่ดิน สร้างเงิน สร้างโอกาส สร้างการงาน เพื่อดึงดูดดิสนีย์แลนด์ หรือยูนิเวอร์แซล ต่างๆ เข้ามา ที่จะช่วยเพิ่มรายได้ให้ประเทศ และก็อยากเห็นรัฐบาลผลักดันด้านการท่องเที่ยวไม่ได้เน้นแต่จำนวนนักท่องเที่ยว แต่อยากให้เน้นคุณภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการมาประชุมของภาคธุรกิจ หรือเอกชนต่างๆ ที่สามารถสร้างรายได้เข้ามาอีกมาก

และสิ่งที่อยากเห็นต่อไปในอนาคตคือ การปฏิรูประบบภาษีของประเทศไทย แต่การขึ้น VAT ที่ 15% อาจต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่เช่นนั้นอาจช็อกทั้งระบบได้ เห็นได้จากต่างประเทศ และประเทศเพื่อนบ้านไทยส่วนใหญ่ที่ VAT เองยังอยู่ระดับต่ำ ที่ระดับ 9-10% 

ดังนั้น ก็ต้องค่อยๆ ขยับขึ้น และการที่จะลดภาษีนิติบุคคลกับภาษีรายได้บุคคลธรรมดา อันนี้เห็นด้วย และก็คิดว่าจะเป็นการดึงดูด 

ทาเลนต์” ใหม่ๆ เข้ามาทำให้เกิดการสร้างธุรกิจใหม่ๆ

“มาตรการด้านภาษี แม้จะมีการเก็บน้อยลง ในด้านนิติบุคคล และบุคคลธรรมดา แต่ฐานภาษีจะใหญ่ขึ้น จากปัจจุบันที่ฐานภาษีอยู่เพียง 4 ล้านคน หากถ้าเราดึงศักยภาพใหม่ๆ มาได้อีกสักล้านคน จะเป็นการช่วยกันสร้างรายได้ให้กับประเทศ และก็สร้างโอกาส และก็สร้างการเติบโตจีดีพีในประเทศอีก”

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์