บลจ.กสิกรไทย ปักธง 3ปี ปั้น‘เอยูเอ็ม’ แตะ2ล้านล.

บลจ.กสิกรไทย ปักธง 3ปี ปั้น‘เอยูเอ็ม’ แตะ2ล้านล.

“บลจ.กสิกรไทย” ลั่นผลงานปี 2567 รับเม็ดเงินใหม่ “แสนล้าน” ทะลักเข้าลงทุนกับกสิกรไทย ดัน “เอยูเอ็ม” แตะ 1.7 ล้านล้าน พร้อมตั้งเป้าโต 3 ปี (68-70) แตะ 2 ล้านล้าน

นายวิน พรหมแพทย์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด หรือ KAsset กล่าวว่า สำหรับทิศทางธุรกิจของ บลจ. กสิกรไทย ในช่วงปี 2567 ที่ผ่านมา ถือเป็นปีที่ดีมากอีกปี ในแง่ผลประกอบการ สะท้อนผ่านมีเม็ดเงินใหม่เข้ามาลงทุนกับ บลจ.กสิกรไทยสุทธิที่ราว 1 แสนล้านบาท

ซึ่งมากที่สุดนับตั้งแต่จัดตั้งบลจ. โดยส่งผลให้ AUM หรือสินทรัพย์ภายใต้การบริหารของบลจ.กสิกรไทย ขึ้นมาอยู่ที่ 1.7 ล้านล้านบาท จากปี 2566 ที่ 1.6 ล้านล้านบาท

 

อย่างไรก็ตามเม็ดเงินใหม่ที่เข้ามา 1 แสนล้านบาท ในปีนี้ หลักๆ กระจายอยู่ใน 3 ประเภทการลงทุน

พอร์ตแรกคือ กองทุนรวมผสม K-WealthPLUS Series ที่มีเม็ดเงินลงทุนใหม่เข้ามาถึงระดับ 3 หมื่นล้านบาท โดยเป็นกองทุนผสมแบบจัดพอร์ตให้สำเร็จ ที่มี 3 กองทุนเด่นให้เลือกลงทุน

ถัดมาคือ กองทุนตราสารหนี้ของบริษัท ที่พบว่ามีนักลงทุนสนใจเข้ามาลงทุนถึง 6 หมื่นล้านบาท รับอานิสงส์ดอกเบี้ยขาลง โดยให้ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 2-3%

โดยปีนี้ที่ผลตอบแทนจากตราสารหนี้ในไทยสูงกว่าตราสารหนี้ต่างประเทศ เนื่องจากไม่มีความเสี่ยงจากการทำป้องกันอัตราแลกเปลี่ยน (เฮดจิ้ง) ทำให้มีผลตอบแทนที่ดีต่อเนื่อง

สุดท้ายคือ กองทุนรวมต่างประเทศ (FIF) ที่มีเม็ดเงินลงทนเข้ามาที่ราว 1 หมื่นล้านบาท โดยกองทุนแนะนำ คือ กองทุนเวียดนาม กองทุนอินเดีย และกองทุนสหรัฐฯ ที่สามารถดึงเงินลงทุนจากนักลงทุนรุ่นใหม่ได้มากขึ้น

สำหรับ เป้าหมายในระยะข้างหน้า บลจ.กสิกรไทย ตั้งเป้าภายใน 3 ปี (ปี 2568-2570) คาด AUM จะขึ้นมาแตะระดับ 2 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ หากดูภาพรวมมาร์เก็ตแชร์ หรือส่วนแบ่งทางการตลาด ปัจจุบัน บลจ.กสิกรไทย ในด้านกองทุนรวม ถือเป็นอันดับหนึ่งของอุสาหกรรม และเป็นอันดับ 2 ของธุรกิจกองทุนรวม

ด้านแผนธุรกิจในปี 2568 บลจ.กสิกรไทย ยังเน้นการผลักดันพอร์ตการลงทุน ไปสู่กองทุนรวมมากขึ้น เพราะมองว่าการกระจายพอร์ตลงทุนถือเป็นกลยุทธ์ที่รองรับความเสี่ยงในช่วงที่ตลาดการลงทุนมีความผันผวนสูง

ปัจจุบันมีนักลงทุนผ่านกองทุนรวมผสมเพียง 10% เท่านั้น หากเทียบกับพอร์ตลูกค้าทั้งหมดของธนาคารที่มีมากกว่า 1 ล้านคน และปีหน้ายังมีแผนดึง AI และเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มศักยภาพในการลงทุน เพิ่มศักยภาพในการทำงานมากขึ้นด้วย

สำหรับ ภาพรวมตลาดหุ้นไทย มีการปรับลดดัชนีหุ้นไทยลดลงปี 2568 มาอยู่ที่ 1,500-1550 จุด จากเดิมให้ 1,600 จุด โดยคาดราคาเฉลี่ยต่อหุ้นอยู่ที่ 95 บาท ด้านกำไรบริษัทจดทะเบียน (EPS) คาดเติบโต 5-7%

โดยหุ้นเด่นต่างประเทศยังคงเป็นหุ้นสหรัฐ ที่คาดว่ายังเติบโตได้ดี รวมถึงกองรีทของไทย , สิงคโปร์ และทั่วโลก เนื่องจากได้อานิสงส์จากดอกเบี้ยขาลง และเป็นศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ ส่วนหุ้นไทยเน้นหุ้นกลุ่มปันผลสูง เช่น หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ (แบงก์) กลุ่มสื่อสาร เป็นต้น