ปม ‘หนี้’ ถ่วงเศรษฐกิจไทยฟื้น แบงก์ชาติ ห่วง ‘ครัวเรือน - ธุรกิจ’ หนี้ถดถอย

ปม ‘หนี้’ ถ่วงเศรษฐกิจไทยฟื้น แบงก์ชาติ ห่วง ‘ครัวเรือน - ธุรกิจ’ หนี้ถดถอย

"นักเศรษฐศาสตร์" ห่วงหนี้เสียเพิ่ม หลังแบงก์เข้มปล่อยกู้ ผลักคนพึ่งหนี้นอกระบบพุ่ง เปิดรายงานเสถียรภาพระบบการเงิน ธปท. พบความเสี่ยงพุ่ง ความสามารถชำระ “หนี้ครัวเรือน - ธุรกิจ” ทรุด จับตาธุรกิจ - ครัวเรือนผิดนัดชำระเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 บัญชี ธุรกิจเช่าซื้อน่าห่วงกำไรทรุด

ปม ‘หนี้’ ถ่วงเศรษฐกิจไทยฟื้น แบงก์ชาติ ห่วง ‘ครัวเรือน - ธุรกิจ’ หนี้ถดถอย ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผย รายงานการติดตามเสถียรภาพระบบการเงินไทยปี 2567 แม้ระบบการเงินไทยภาพรวมมีเสถียรภาพ และสนับสนุนกิจกรรมภาคเศรษฐกิจจริงได้ดี แต่ต้องติดตามพัฒนาการความเสี่ยงที่อาจกระทบระบบการเงินไทยทั้งพัฒนาการด้านสินเชื่อ และตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน ที่อาจชะลอ และกระทบการบริโภค และการลงทุนภาคเอกชนมากกว่าที่คาด 

โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ในภาคธุรกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้า และครัวเรือนที่รายได้อาจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ มีภาระหนี้และค่าใช้จ่ายสูง อาจมีสภาพคล่องลดลง โดยต้องติดตามผลกระทบที่จะมีต่อการใช้จ่าย การลงทุน รวมถึงผลกระทบที่อาจมีต่อเนื่องไปยังเศรษฐกิจโดยรวม

เช่นเดียวกับความสามารถในการชําระหนี้ของภาคธุรกิจ และครัวเรือนที่ลดลงอาจส่งผลให้คุณภาพสินเชื่อด้อยลงอีก โดยเฉพาะธุรกิจ ในภาคอุตสาหกรรมที่แข่งขันรุนแรงขึ้น และธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐ 

รวมถึงการผิดนัดชําระหนี้ที่อาจเพิ่มขึ้นในกลุ่มครัวเรือนเปราะบางหรือมีความเสี่ยงด้านการจ้างงาน ซึ่งอาจนําไปสู่การผิดนัดชําระหนี้ของลูกหนี้มากกว่า 1 วงเงิน (cross default) หรือในกลุ่มลูกหนี้ที่ไม่เคยผิดนัดชําระหนี้มาก่อน

รวมถึงการระดมทุนผ่านตราสารหนี้ภาคเอกชนที่อาจทําได้ยากขึ้นหรือมีต้นทุนสูงขึ้น จากทั้งปัจจัยในประเทศที่มาจากความกังวลด้านการบริหารสภาพคล่อง การดําเนินธุรกิจ และการบริหารภาระหนี้ของผู้ออกตราสารหนี้บางราย ทําให้นักลงทุนมีแนวโน้มระวังการลงทุน

 

คาดสินเชื่อขยายตัวต่ำ มีธุรกิจฟื้นตัวลดลง

ส่วนแนวโน้มสินเชื่อคาดว่าสินเชื่อจะขยายตัวระดับต่ำจากความต้องการสินเชื่อของธุรกิจขนาดใหญ่ภาคธุรกิจที่ฟื้นตัวดีลดลง อาทิ ธุรกิจท่องเที่ยว บริการ และการค้า ทั้งจากความต้องการลงทุนด้วยเม็ดเงินที่น้อยกว่าในอดีตที่ได้ลงทุนไปแล้วหรือกู้ยืมช่วงก่อนหน้า

นอกจากนี้ การขยายตัวที่อยู่ระดับต่ำของสินเชื่อในธุรกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้าหรือไม่ดี ทั้งจากปัญหาเชิงโครงสร้าง และความสามารถในการแข่งขัน เนื่องจากธุรกิจไม่มีความต้องการลงทุนเพิ่ม รวมถึงเป็นภาคธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง ส่งผลให้สถาบันการเงินจึงระวังให้สินเชื่อเพื่อให้บริหารต้นทุนความเสี่ยงด้านเครดิตได้

ระยะข้างหน้าโดยเฉพาะ SMEs ในภาคการค้า ก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ และที่ได้รับผลกระทบจากจีน รวมถึงธุรกิจยานยนต์โดยรวม ขณะเดียวกันบรรยากาศการลงทุน (sentiment) ยังค่อนข้างระมัดระวัง และเลือกลงทุนของนักลงทุนในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนจะเป็นแรงกดดันให้การระดมทุนอาจทําได้ด้วยต้นทุนสูงขึ้นหรือทําได้ยากขึ้นในกลุ่มผู้ออกตราสารหนี้ที่ credit rating ด้อยกว่ากลุ่มอื่น อยู่ในกลุ่มธุรกิจที่ฟื้นตัวช้า และผลประกอบการอ่อนแอ และผู้บริหารเกี่ยวข้องกับข่าวเชิงลบ

ความสามารถชำระหนี้ครัวเรือน-ธุรกิจมีจ่อด้อยลง

หากดูด้านความสามารถการชําระหนี้ภาคครัวเรือน และธุรกิจมีแนวโน้มด้อยลง ส่งผลให้ความเสี่ยงด้านเครดิตสูงขึ้น กระทบสภาพคล่องของภาคธุรกิจ และครัวเรือนความสามารถชําระหนี้ของภาคครัวเรือนด้อยลง โดยเฉพาะกลุ่มรายได้น้อย กลุ่มลูกหนี้เปราะบาง ที่ได้รับความช่วยเหลือไปก่อนหน้านี้ และผู้ประกอบอาชีพอิสระ (self-employed) ที่รายได้ฟื้นตัวช้าไม่ทันค่าใช้จ่าย และหนี้ที่เพิ่มขึ้น

สะท้อนจากกลุ่มสินเชื่อวงเงินต่ำที่มีสัดส่วนบัญชีที่ค้างชําระมากกว่า 30 วัน เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และสูงกว่ากลุ่มวงเงินอื่นๆ ในทุกประเภทสินเชื่อ จึงต้องติดตามความเสี่ยงในการชําระหนี้ของกลุ่มลูกหนี้เปราะบางนี้อย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ SMEs มีฐานะการเงินอ่อนแอ โดยสัดส่วนจํานวนบริษัทที่ฐานะการเงินอ่อนแอค่อนข้างสูงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับธุรกิจขนาดใหญ่ และขนาดกลาง โดยสัดส่วนจํานวนบริษัทที่มี อัตราส่วนกําไรก่อนหักดอกเบี้ยและภาษีต่อดอกเบี้ยจ่าย (ICR) ต่ำกว่า 1 เท่า อยู่ที่ 28%

ในธุรกิจ SMEs ขนาดเล็ก และ 74% ในธุรกิจ SMEs ขณะที่ความสามารถในการชําระหนี้ ของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่โดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี แต่บางส่วนมีผลการดําเนินงานด้อยลง

ด้านคุณภาพสินเชื่อธุรกิจในภาพรวม ด้อยลงโดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ที่มีสัดส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ stage3 และสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสําคัญของความเสี่ยงด้านเครดิต (stage 2) เร่งตัวขึ้นอยู่ที่ 7.1% และ 12.2% ตามลําดับ

ส่วนธุรกิจขนาดใหญ่ มีสัดส่วนสินเชื่อ stage 2 เพิ่มขึ้นเป็น 4.1% จากการจัดชั้นเชิงคุณภาพของทางธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) เป็นหลัก ขณะที่สัดส่วนสินเชื่อ NPL ทรงตัวสำหรับ

แนะจับตาธุรกิจนอนแบงก์ฐานะด้อยลง

นอกจากนี้ต้องติดตาม ความสามารถในการบริหารสภาพคล่องของธุรกิจนอนแบงก์ เนื่องจากเงินทุนส่วนใหญ่เป็นเงินกู้ระยะสั้น รวมถึงต้องติดตามนอนแบงก์บางแห่งที่ฐานะการเงินด้อยลง

โดยเฉพาะกลุ่มที่ปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ เนื่องจากนอนแบงก์หลายแห่งมีความเชื่อมโยงกับสถาบันการเงิน ตลาดทุน และตลาดตราสารหนี้ ที่อาจได้รับผลกระทบหากฐานะการเงินของนอนแบงก์ด้อยลงอย่างมีนัย

 ดังนั้น ในระยะข้างหน้าต้องติดตามพัฒนาการด้านคุณภาพสินเชื่อของสถาบันการเงินที่ให้สินเชื่อแก่กลุ่มลูกหนี้เปราะบาง และเอสเอ็มอีขนาดเล็ก รวมถึงสินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจยานยนต์ที่ยังมีปัจจัยเฉพาะกดดันการฟื้นตัว และต้องติดตามฐานะการเงินของนอนแบงก์บางรายที่มีความสามารถในการทํากําไรลดลงจาก credit cost และ funding cost ที่สูงขึ้น และมีการระดมทุนผ่านตลาดการเงิน ซึ่งหากประสบปัญหาอาจกระทบต่อความเชื่อมั่น ของนักลงทุน

หนี้เสียจ่อแตะ 1.4 แสนล้านในปี 2568

สอดคล้องกับบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) มองว่า ปี 2568 เป็นปีที่คนไทยต้องเผชิญกับการ “แบกหนี้” ต่อเนื่อง 

นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือ “เครดิตบูโร” กล่าวว่า วันนี้ปัญหาใหญ่ที่ครัวเรือนไทยกำลังเผชิญคือ กำลัง “แบกหนี้เกินศักยภาพ” หรือมีหนี้เกินศักยภาพของการชำระหนี้ มีหนี้เกินกว่ารายได้ที่เป็นปัญหาใหญ่มาก 

ทั้งนี้ น่าห่วงสินเชื่อทั้งระบบในเครดิตบูโร 13.6 ล้านล้านบาท ในนี้กลายเป็นหนี้เสีย หรือค้างชำระเกิน 90 วันแล้ว คิดเป็น 1.2 ล้านล้านบาท หากคิดเป็นบัญชี คนที่เป็นหนี้เสียแล้ว 5 ล้านคน จากลูกหนี้ทั้งหมดในระบบเครดิตบูโรที่มี 33 ล้านลูกหนี้

ลงลึกไปกว่านั้น ใน 1.2 ล้านล้านบาท ที่เป็นหนี้เสีย มาจากหนี้บ้าน 2.3 แสนล้านบาท หนี้รถ 2.6 แสนล้านบาท หนี้บัตรเครดิต 7 หมื่นล้านบาท สินเชื่อส่วนบุคคลอีก 2.78 แสนล้านบาท และพบว่าสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์อีก 1 หมื่นล้านบาท ที่จ่ายหนี้ไม่ได้

หากถามว่าภาพเหล่านี้ ต้องซีเรียส เพราะวันนี้เรากำลังเผชิญกับปัญหาหนี้ ปัญหาหนี้เสียไม่เคยหยุด มีแต่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ไตรมาสแรก ปี 2566 ที่หนี้เสียอยู่เพียง 7% ปัจจุบัน ไตรมาส 3 ปี 67 ทะยานขึ้นมาอยู่ที่ 8.8% ของ 13.6 ล้านล้านบาท

ดังนั้น ภายใต้การพยากรณ์ของ “เครดิตบูโร” คาดว่า หนี้เสียเหล่านี้จะวิ่งไปสู่ “1.4 ล้านล้านบาท” หรือเพิ่มขึ้นอีก “2 แสนล้านบาท” ในระยะข้างหน้า

รถกระบะจ่อถูกยึดอีก 2.84 แสนคัน

สิ่งที่น่าห่วง วันนี้มีรถกำลังจะถูกยึดหรืออยู่ในกลุ่ม SM อีก 5.37 แสนคัน หรือคิดเป็นสินเชื่อ 1.97 แสนล้านบาท ที่อาการยังน่าห่วงมาก ที่ห่วงที่สุดคือ รถที่คนใช้ทำมาหากินคือรถ ปิกอัพ รถกระบะที่พบว่า มีรถที่กระบะที่กำลังถูกยึด 2.84 แสนคันบัญชี คิดเป็นวงเงินสินเชื่อ 1 แสนล้านบาท คิดเป็น 51.4% ของสินเชื่อรถยนต์ทั้งหมด จากที่เป็นหนี้เสียไปแล้ว 4.71 แสนคันในช่วงที่ผ่านมา

ดังนั้น หวังว่า โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” จะมีส่วนช่วยไม่ให้หนี้เสียที่คาดว่าจะเพิ่มอีก 2 แสนล้านบาท ไปสู่ 1.4 ล้านล้านบาท เหมือนที่คาดไว้ตั้งแต่แรก ทำให้หนี้เสียในระยะข้างหน้าอาจทรงตัวอยู่ที่ระดับ 1-1.2 ล้านล้านบาทต่อไปในปี 2568

แบงก์เข้มดันหนี้นอกระบบพุ่ง

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ภาคธนาคารยังปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวังต่อเนื่องแม้หนี้ครัวเรือนมีแนวโน้มลดลง และไม่เป็นปัญหารุนแรงเหมือนอดีต แต่มี 3 ปัญหาหนี้ที่ต้องจับตาใกล้ชิด คือ

1.หนี้ครัวเรือน แม้ปัจจุบันจะลดลง และไม่เป็น “ระเบิดเวลา” เหมือนอดีต แต่ครัวเรือนหลายภาคส่วนยังฟื้นตัวเต็มที่ และแบงก์เอง ด้วยคุณภาพหนี้ด้อยลงจะทำให้แบงก์ยังอยู่โหมดระวังปล่อยกู้ และไม่เร่งปล่อยกู้เหมือนอดีตที่เคยเห็นสินเชื่อรถ สินเชื่อบ้านโตปีละ 5-6%

อย่างไรก็ตาม ที่น่ากังวลคือ จากสินเชื่อในระบบที่ปล่อยสินเชื่อน้อยลง แบงก์คุมเข้มปล่อยสินเชื่อมากขึ้น จากเศรษฐกิจฐานรากยังไม่ฟื้นตัว ปัญหาสภาพคล่องยังมีอยู่ รายได้ไม่โตตามค่าใช้จ่าย มองว่าจะมีอีกหลายกลุ่มที่ต้องการสินเชื่อ ดังนั้นต้องระวังการไหลเข้าสู่ “หนี้นอกระบบ” มากขึ้น ที่ต้องจับตาใกล้ชิดว่าปัญหาหนี้นอกระบบจะกลับมาสร้างปัญหาต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้นระยะข้างหน้า

2.ปัญหาหนี้ที่ต้องติดตาม คือหนี้ของภาครัฐ ที่ปัจจุบันมีหนี้สาธารณะเข้าใกล้ 70%ของจีดีพี ทำให้เริ่มมีข้อจำกัดมากขึ้น เพราะหากปล่อยหนี้สาธารณะเกินระดับดังกล่าว มองว่า อาจจะเกิด “ระเบิดเวลา”ตามมาได้ และความเสี่ยงต่อมาคือ ความเสี่ยงที่ไทยอาจถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือได้ หากภาครัฐมีค่าใช้จ่ายมหาศาล แต่ไม่ได้นำไปสู่การสร้างการเติบโตเศรษฐกิจไปเกินระดับ 3%

3. สุดท้ายคือ หนี้ภาคธุรกิจ ที่มองว่า เป็นหนี้ที่น่าห่วง และต้องจับตาอย่างใกล้ชิด สะท้อนจากปัญหาที่มีต่อเนื่องจากทั้ง ปีก่อนที่เริ่มเห็นระเบิดเวลาจากหุ้นกู้ที่ครบกำหนด และมีความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้มากขึ้น 

นอกจากนี้กลุ่มที่ต้องติดตามใกล้ชิด คือ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่ยอดขายหายไปกว่าครึ่ง และภาคการเงิน โดยเฉพาะนอนแบงก์ที่มีความเสี่ยงมากขึ้น โดยเฉพาะจากปัญหาหนี้เสีย ดังนั้นแม้ปีนี้ประเมินว่า ดอกเบี้ยจะลดลงได้ และช่วยบรรเทาปัญหาหนี้ได้บ้าง แต่ต้องจับตาเรื่องปัญหาสภาพคล่อง ที่จะเกิดขึ้นต่อเนื่อง จากธุรกิจที่ฟื้นตัวช้า

แบงก์เผชิญปัญหาหนี้ต่อเนื่องปี 2568 

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า มองว่า ปี 2568 เป็นปีที่แบงก์ต้องให้ความสำคัญการดูแลคุณภาพหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้มากขึ้น และการแก้ไขปัญหาหนี้ต้องทำให้เร็วขึ้น และเพิ่มขึ้น เพราะหากดูจากทิศทางคุณภาพหนี้ที่ผ่านมา จากรายงาน ธปท.พบว่า มีสัญญาณการด้อยลงของคุณภาพหนี้ในทุกสินเชื่อ โดยเฉพาะ SM ที่เพิ่มขึ้นทุกกลุ่ม ทุกประเภทสินเชื่อ จากเศรษฐกิจที่ไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ทุกประเภทด้อยลง

โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี ที่เจอปัญหาเชิงโครงสร้าง ความสามารถในการแข่งขัน ส่วนสินเชื่อรายย่อยก็เผชิญกับ กำลังซื้อที่จำกัดมากขึ้น จากรายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย ทำให้กระทบความสามารถในการชำระหนี้ที่ยังเห็นต่อเนื่องในปี 2568

สำหรับทิศทางหนี้เสียปี 2568 คาดว่าอยู่ในกรอบ 2.85-3% จากสิ้นปี 2567 ที่คาดว่าอยู่ที่ 2.85-2.88% ขณะที่ SM คาดว่าปีนี้ทิศทางขยับขึ้นต่อเนื่อง จากคุณภาพหนี้ที่ด้อยลงต่อเนื่อง

“โจทย์ปีนี้ของแบงก์ มองว่า ปัญหาหนี้ยังเป็นประเด็นที่แบงก์ต้องใช้ความสำคัญ ทั้งการช่วยลูกหนี้ปรับโครงสร้างหนี้ให้เร็ว ให้มากขึ้น และทำต่อเนื่อง ที่จะเป็นธีมต่อเนื่องที่ต้องทำต่อจากปี 2567 ในทุกภาคส่วนของสินเชื่อ และคาดว่ายังเห็นสินเชื่อด้อยคุณภาพไหลออกมาจะเป็นโจทย์ท้าทายกับแบงก์ที่ยังเจอปัญหาหนี้เสีย และความพยายามในการจัดการหนี้คงไม่น้อยกว่าปีที่ผ่านมา”

 

 

 


พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์