กนง.ส่งซิก ‘คงดอกเบี้ยยาว‘ ช่วงไม่แน่นอนสูง ‘ลดดอกเบี้ย’ มีผลบวกจำกัด
กนง.ชี้นโยบายการเงินปัจจุบันเหมาะสมเป็นกลางกับ “ศักยภาพเศรษฐกิจ” ยืดหยุ่น รองรับความไม่แน่นอน มอง “ลดดอกเบี้ย” ช่วงไม่แน่นอนสูง มีผลบวกอาจมีจำกัด อาจสร้างต้นทุนสูญเสียขีดความสามารถดำเนินนโยบายการเงิน ชี้การปรับนโยบายการเงินช้า หรือเร็วอาจกระทบไม่มาก
นายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน Monetary Policy Forum 4/2567 เมื่อวันที่ 6 ม.ค.2568 ว่า สำหรับจุดยืนนโยบายการเงินปัจจุบัน ยังถือว่าอยู่ในระดับเป็นกลาง
สอดคล้องการขยายตัวเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และคาดว่าน่าจะเข้าใกล้เคียงกับศักยภาพช่วงปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า ส่วนของจุดยืนนโยบายการเงิน ยังสอดคล้องกับเงินเฟ้อที่อยู่ในกรอบเป้า และเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางด้วย
ดังนั้น จุดยืนดังกล่าวยังสอดคล้องกับระบบการเงินที่ลด การสะสมความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงิน สอดคล้องกับสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีที่ลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปต่อเนื่อง
นโยบายการเงินต้องยืดหยุ่น
ทั้งนี้ โจทย์สำคัญภายใต้บริบทที่ความไม่แน่นอนสูงขึ้น กนง.มองว่า นโยบายการเงินที่เหมาะสมต้องยืดหยุ่น (Robust policy) เพื่อพร้อมรองรับสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น
ไม่ว่าเหตุการณ์ด้านลบ ด้านบวกจะเกิดหรือไม่เกิด เกิดช้าหรือเร็ว ขนาดใหญ่น้อยเพียงใด กลยุทธ์การดำเนินนโยบายการเงินที่ Robust policy เป็นสิ่งที่ กนง.ให้ความสำคัญ
ทั้ง ภายใต้การคาดการณ์ตามสถานการณ์ต่างๆ (ซินาริโอ) ทั้งกรณีพื้นฐาน ที่ไม่มีเรื่องช็อก หรือความไม่แน่นอนจากนโยบายทรัมป์ ที่จะกลายเป็นเรื่องช็อกครึ่งปีหลังนี้ จะเห็นว่าการคงอัตราดอกเบี้ยไว้ เป็นนโยบายที่ดีกว่าปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายกล่าว คือ หากเราคงอัตราดอกเบี้ยวันนี้แล้ว ซินาริโอ แรกเกิดขึ้นแปลว่า การดำเนินนโยบายการเงินของกนง. ปัจจุบันสอดคล้องสภาพเศรษฐกิจ
แต่หากซินาริโอสองเกิดขึ้น หรือความไม่แน่นอนจากนโยบายทรัมป์เกิด และกลายเป็นช็อก ในครึ่งปีแรกปีนี้ มองว่า การคงอัตราดอกเบี้ยวันนี้ ก็ไม่ได้ปิดโอกาสการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยนโยบายช่วงหลังจากนี้
ลดดอกเบี้ย.ภายใต้ความไม่แน่นอนผลบวกมีจำกัด
หากมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบัน มองว่า อาจมีต้นทุน หรือ Costs จากซินาริโอแรกเกิดขึ้น กนง.อาจสูญเสียขีดความสามารถดำเนินนโยบายการเงินไป (Policy Space) อีกทั้งอาจเจอผลกระทบที่คาดไม่ถึง หรือ Unintended consequences แง่เสถียรภาพการเงินที่อาจปรับด้อยลงในระยะยาว จากอัตราดอกเบี้ยปรับลดลง ขณะที่กระบวนการลดหนี้กำลังเกิดขึ้นต่อเนื่อง
ดังนั้น แม้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงวันนี้แล้วซินาริโอสองจะเกิดขึ้น และเกิดช็อกในครึ่งปีแรกปีนี้ มองว่าผลบวก หรือ Benefit ที่ได้ระหว่างนี้จนถึงครึ่งปีแรกอาจมีจำกัด เพราะจากการศึกษาของ ธปท.แสดงให้เห็นว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจจำกัดในช่วงที่มีความไม่แน่นอนสูง
ทั้งนี้ การลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนต.ค. ที่ผ่านมา รวมถึงมาตรการภาครัฐ ในการแก้หนี้ที่ออกไป มีส่วนบรรเทาภาระหนี้กลุ่มเปราะบางได้บ้าง จากข้อมูลสะท้อนว่า การส่งผ่านนโยบายการเงิน จากการส่งผ่านของธนาคารพาณิชย์ไปสู่รายย่อย 61% จากช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น 49% สะท้อนว่าการช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางของธนาคารพาณิชย์เกิดขึ้นตามกลไกตลาดปัจจุบัน นอกจากนี้ภาครัฐยังมีมาตรการอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ “คุณสู้ เราช่วย”
โดยสรุปการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่ 2.25% อยู่ในระดับสอดคล้องแนวโน้มเศรษฐกิจที่ขยายตัวใกล้ศักยภาพเงินเฟ้อโน้มสู่กรอบเป้าหมาย และรักษาเสถียรภาพระบบการเงินระยะยาว รวมทั้งเป็นการรักษาขีดความสามารถเพื่อรองรับความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น
สำหรับเงินเฟ้อ มองว่า แม้เงินเฟ้อมีการขึ้นลงได้บ้าง ไซด์เวย์ อาจไม่ใช่เป็นปัจจัยหลักกระทบต่อนโยบายกับการดูแลแนวโน้มเงินเฟ้อระยะปานกลาง ส่วนนี้ กนง.อาจไม่กังวลมากนัก แต่ที่ กนง.กังวล คือ การเคลื่อนไหวเงินเฟ้อในทิศทางเดียวกันต่อเนื่อง แม้ว่าช็อกจะหมดไปแล้วก็ตาม
เงินเฟ้อยึดเหนี่ยวเงินเฟ้อคาดการณ์แล้ว
นายปิติ ดิษยทัต รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท.กล่าวว่า การดูปัจจัยด้านเงินเฟ้อ คือ ต้องดูที่ต้นเหตุ ที่ทำให้เงินเฟ้อเคลื่อนไหวในทิศทางต่างๆ มาจากด้านใด สิ่งที่ กนง.ไม่อยากเห็นคือ แรงกดดันเงินเฟ้อที่มาจากอุปสงค์ที่แพร่หลายหนืด และมีความต่อเนื่อง ทำให้เงินเฟ้ออยู่ระดับสูงต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ในที่สุดจะบั่นทอนการยึดเหนี่ยวของเงินเฟ้อคาดการณ์ได้
ดังนั้นเงินเฟ้อภาพรวม มองว่า ยึดเหนี่ยวเงินเฟ้อคาดการณ์แล้ว การเคลื่อนไหวเงินเฟ้อจะสะท้อนปัจจัยเฉพาะแล้ว ทั้งราคาน้ำมัน ยานยนต์ และราคาน้ำมันต่างๆ ที่ต้องมองทะลุไป
ในแง่นโยบายการเงินต้องพิจารณาบน Outlook Dependent มองเป็นองค์รวมว่าข้อมูลที่เข้ามามีความเสี่ยง มีผลกระทบมากน้อยเพียงใด กระทบต่อ Outlook ในภาพใหญ่ หากมีความไม่แน่นอนมากขึ้น ส่วนนี้ กนง.อาจต้องช่างน้ำหนัก และรอผลให้แน่ใจก่อน เพราะนโยบายการเงินต้องใช้ระยะเวลาส่งผ่าน
ดังนั้น หากดำเนินนโยบายการเงิน “เร็วไป” หรือ “ช้าไป” ในภาพรวมอาจไม่ได้สร้างปัญหามากมายนัก ยกเว้นเกิดการเปลี่ยนแปลงเร็วมากของสถานการณ์ต่างๆ
“เรายืนยันว่าเราไม่ได้เปลี่ยนจากการมองภาพ Outlook Dependent มาเป็น Data Dependent แต่ข้อมูลที่เข้ามา แน่นอนต้องเอามาย่อย มาสกัด เพื่อมอง Outlook ข้างหน้าที่จะเป็นตัวกำหนดนโยบายในระยะข้างหน้า”
นอกจากนี้ มองว่า โอกาสปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน ต้องมาจากภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป หรือสภาวะการเงินที่เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ กนง.ต้องทบทวนการดำเนินนโยบายการเงินใหม่ ซึ่งวันนี้ยังไม่เกิดขึ้น แต่เป็นสิ่งที่ กนง.ต้องติดตามใกล้ชิด
ทั้งนี้ มองว่าภายใต้กรอบเงินเฟ้อที่ยืดหยุ่น หรือ Inflation targeting เป็นกรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่ยังมีประโยชน์ และใช้การได้ เป็นกรอบการดำเนินนโยบายการเงิน ที่สามารถรองรับช็อกจากสถานการณ์ต่างๆ ช่วง 20 ปีที่ผ่านมาได้ค่อนข้างดี ดูจากเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ ไม่หลุดลอย ทั้งพบว่า หากดูในต่างประเทศที่ใช้กรอบนโยบายการเงินแบบยืดหยุ่น ยังไม่มีประเทศใดออกจากกรอบเป้าหมายนี้ หรือถอยออกมา ดังนั้นสะท้อนว่า กรอบการดำเนินนโยบายการเงินดังกล่าวยังใช้ได้ดีระดับหนึ่ง
ห่วงอุตฯยานยนต์ล้านคนกระทบ
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทั้งยุโรป และเยอรมนี จะเห็นว่ามีการประกาศปิดโรงงาน ซึ่งเป็นปัญหาทั้งจากข้างนอก และข้างในประเทศ โดยยังคงเป็นอุตสาหกรรมที่ยังคงมีความท้าทาย และมีผลกระทบต่อไทย แม้ในแง่มูลค่าต่อจีดีพีไม่สูงมาก แต่แง่จำนวนแรงงานอาจมีสูงกว่า 1 ล้านคน
ซึ่งอาจเกิดผลกระทบรอบที่ 2 และ 3 ตามมา และเป็นสิ่งที่ ธปท.ต้องจับตา และเป็นความท้าทายของอุตสาหกรรมหนึ่ง ซึ่งในเชิงนโยบายมหภาคก็มีขอบเขตการดูแลธุรกิจเฉพาะ
กนง.เน้นดู 3 ด้านก่อนปรับนโยบายการเงิน
นายสักกะภพ พ้นธ์ยานุกูล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธปท.กล่าวว่า กรณีมีคำถามว่า ถึงจุดไหนที่ กนง.ต้องปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน ส่วนนี้มองว่า การดำเนินนโยบายการเงินของ กนง. ดูจาก 3 ด้านหลัก ที่เป็น Outlook Dependent ที่มาจากการดูการเจริญเติบโตเศรษฐกิจ เงินเฟ้ออยู่ในกรอบหรือไม่ และเสถียรภาพระบบการเงิน
สำหรับ ภาพรวมเศรษฐกิจปี 2568 มองว่า มีความไม่แน่นอนสูงขึ้น จากปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ที่รุนแรงขึ้น และนโยบายจากประเทศเศรษฐกิจที่เป็นคู่ค้าหลัก ที่ความไม่แน่นอนสูงขึ้น ดังนั้นกรณีพื้นฐาน (Baseline) ยังไม่ได้มีการรวมผลกระทบข้างต้นในประมาณการเศรษฐกิจไทย ที่คาดว่าปีนี้จะขยายตัว 2.7% เนื่องจากความไม่แน่นอนที่มีอยู่สูง
ทั้งจากการปรับขึ้นภาษีทรัมป์ และมาตรการต่างๆ ที่จะส่งผลให้เงินเฟ้อสหรัฐสูงขึ้น มีผลต่อดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อยู่ระดับสูงยาวนานขึ้น
ทั้งนี้ หากดูภาพรวมเศรษฐกิจไทย ภาพรวมยังคล้ายเดิม คาดไตรมาส 3 ขยายตัวที่ 3% และไตรมาส 4 จะขยายตัวที่เกินระดับ 3% ปัจจัยที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจมาจากการลงทุน เบิกจ่ายภาครัฐ ส่งออก ขณะที่ การบริโภคเอกชนชะลอตัวลง จากที่เคยเร่งสูงขึ้น ภาคบริการเองยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ
ดังนั้น ทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินระยะต่อไป ภาพใหญ่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวได้ ใกล้เคียงกับในแง่ของแนวโน้มในระยะปานกลาง แต่จากเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่เท่าเทียมกัน รวมถึงความไม่แน่นอนระยะข้างหน้าที่คาดว่าจะสูงขึ้น โดยเฉพาะครึ่งหลังปีนี้ ฉะนั้นในแง่การดำเนินนโยบายทางการเงินต้องมีความยืดหยุ่น และสามารถรองรับสถานการณ์ที่มีความหลากหลาย รวมถึงต้องพยายามให้ความสำคัญกับการรักษาบัฟเฟอร์ หรือขีดความสามารถดำเนินนโยบายการเงินต่างๆ ไว้ด้วย รวมถึงพิจารณาผสมผสานเครื่องมือเชิงนโยบายให้เหมาะสมกับพัฒนาการที่เกิดขึ้น
รับ ศก.ปี 68 ท้าทาย-ไม่แน่นอน
นางปราณี สุทธศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหาภาค ธปท.กล่าวว่า หากดูภาพเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า ภาพรวมเศรษฐกิจระยะข้างหน้าเผชิญความท้าทายอยู่ต่อเนื่อง จากการแข่งขันภายนอกที่รุนแรง
และมีความไม่แน่นอนระยะข้างหน้าที่สูงขึ้น จากนโยบายของประเทศเศรษฐกิจหลักสหรัฐ ยุโรป และจีน แม้เศรษฐกิจจะขยายตัวใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ แต่การฟื้นตัวแต่ละภาคส่วน มีความฟื้นตัวไม่เท่าเทียมมากขึ้น
ดังนั้น ภายใต้การคาดการณ์ ธปท. คาดว่า เศรษฐกิจปี 2567 จะขยายตัวได้ 2.7% และปีนี้ ที่ 2.9% แรงขับเคลื่อนหลัก จากอุปสงค์ในประเทศ และต่างประเทศ โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวที่ขยายตัวปีนี้ และการใช้จ่ายภาครัฐที่การเบิกจ่ายคาดว่าจะทำได้ปกติมากขึ้น
หากมองไปข้างหน้า กนง.มองว่ามีความเสี่ยงต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทย แม้เศรษฐกิจยังขยายตัวได้ แต่มีความท้าทายเพิ่มขึ้นมาก โดยมองว่าปัจจัยด้านบวกมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ ทั้งเงินโอนเฟส 2 เฟส 3 และอีอีซี
แต่ด้านลบที่ต้องติดตามคือ ความรุนแรงนโยบายกีดกันทางการค้าสหรัฐ ที่อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์