‘กอบศักดิ์’ หวั่น ภาษีทรัมป์ ลามสู่ ‘สงครามเทคโนโลยี - เกมหาพวก’

‘กอบศักดิ์’ ชี้การประกาศใช้นโยบาย Reciprocal tariffs หวังจัดระเบียบโลกใหม่ หวั่นจากนโยบายภาษี อาจนำไปสู่ ‘สงครามเทคโนโลยี - เกมหาพวก’
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุน (FETCO) กล่าวในงาน เสวนาโต๊ะกลม (Roundtable) “Trump’s Global Quake: Thailand Survival Strategy” ที่จัดโดย กรุงเทพธุรกิจ ฐานเศรษฐกิจ และ โพสต์ทูเดย์ ว่าจุดเริ่มต้นในนโยบายภาษี Reciprocal Tariffs เริ่มมาจากการที่ ทรัมป์ ที่มีความตั้งใจที่จะสร้างโลกใหม่ ที่เรียกว่า New Global Trading System คือ ความต้องการเป็นที่หนึ่งของสหรัฐต่อไป นี่คือ เป้าหมาย
เพราะเวลานี้สหรัฐกำลังเสื่อม กำลังไม่เป็นที่หนึ่ง ดังนั้นสหรัฐต้องการใช้อำนาจตรงนี้ “เขย่า” เพื่อทำให้เกิดระบบใหม่ขึ้นมา จากการที่สหรัฐการดุลการค้าย่อยยับ ภายใต้การค้าโลกที่เสรีสหรัฐขาดทุนนับแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
ดังนั้น หากสหรัฐปล่อยแบบนี้ต่อไป สหรัฐอาจเผชิญกับการเป็นหนี้หัวโต ขณะเดียวกันปัญหาที่เห็นคือ การปิดโรงงานในประเทศ จากฐานการผลิตที่ลดลง ไม่เพียงเท่านั้นสหรัฐยังขาดดุลการคลังมากขึ้นเรื่อยๆ จากการเป็นหนี้สูงขึ้นเรื่อยๆ
ดังนั้นครั้งนี้ นโยบายต่างๆ ที่ทรัมป์ขณะนี้ เพื่อต้องการจัดระเบียบโลกใหม่ การจัดระเบียบครั้งนี้คือ ต้องการทำลาย GATT หรือความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า และ WTO คือ องค์การการค้าโลก จึงใช้โอกาสนี้ใช้นโยบาย Reciprocal Tariffs เพื่อเปิดให้ประเทศอื่นๆ ที่เข้ามาเจรจา
อีกด้านคือ การดึงอุตสาหกรรมต่างๆ เข้ามาลงทุนในสหรัฐ ซึ่งวันนี้มีคนตอบรับในการเข้ามาลงทุนสหรัฐแล้ว 7 ล้านล้านดอลลาร์) เพื่อให้เกิดการจ้างงาน และมีเงินเข้ามาในประเทศมากขึ้น
ด้วยแนวคิดนี้ทำให้เกิดความผันผวน ปั่นป่วนมากขึ้น จากความกังวลใจในเรื่องภาษี ที่กระทบต่อการค้าโลก กระทบต่อ ตลาดเงิน ตลาดทุน ตลาดหุ้น และค่าเงินต่างๆ
“โจทย์วันนี้ไม่ใช่มีแค่เรื่อง Reciprocal Tariffs แต่แนวคิดคือ เขาต้องการจัดบ้านใหม่เพื่อประโยชน์ของสหรัฐเอง โดยการใช้ภาษีเป็นเครื่องมือในการคุกคามให้ทุกคนเข้าไปหาสหรัฐ ซึ่งสหรัฐเป็นทีมที่เจรจายากที่สุดในทุกประเทศดังนั้นมองว่า ครั้งนี้ไม่ใช่มีแค่เรื่องภาษี แต่ยังมีนัยที่จะตามมาอีกมาก ภาษีอย่างเดียวไม่พอ”
ทั้งนี้หากถามว่าครั้งนี้ จะนำไปสู่ ระบบทุนนิยมล่มสลายหรือไม่ มองว่าคงไม่ล่มสลาย เพราะสิ่งที่ทรัมป์อยากได้คือ การมีระบบทุนนิยม ที่จะนำไปสู่ความยิ่งใหม่ของสหรัฐในระยะข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม มองว่า การเผชิญหน้าระหว่าง 2 มหาอำนาจ ทั้งจีน และสหรัฐ มองว่าจะมีผลกระทบต่อทุกคน กระทบทั้งโลก ไม่เฉพาะประเทศใดประเทศหนึ่ง ดังนั้นกระทบทุกคน กระทบทั่วโลก กระทบซัพพลายเชน ไม่เว้นแม้แต่ตลาดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกก็คือ อเมริกาก็จะถูกกระทบไปด้วย
“อย่าเพิ่งตื่นเต้นมาก ผมมองว่าครั้งนี้เพิ่งเริ่มต้น เป็นแค่น้ำจิ้ม เราเหลืออีกตั้ง 48 เดือน ฉะนั้นโจทย์คือ ประเทศไทยจะอยู่รอดอย่างไร เราต้องพยายามมองให้ขาดว่าสุดท้ายเรื่องนี้จะจบอย่างไรนี่คือ หัวใจ ต้องอ่านว่าที่เขาเล่นเกมให้ออกซึ่งในนี้คงมีกลุ่มหนึ่งที่ไม่ยอม ต้องสู้ยิบตาคือ จีน และอีกกลุ่มคือ อียูที่คิดว่าจะสู้ และอีกกลุ่มหมอบ และกลุ่มที่เจรจาซึ่งเวลานี้มีทั้งหมด 57 ประเทศที่ทรัมป์เก็บภาษีเกิน 10% และ กลุ่มที่จะไปเจรจา สิ่งที่อาจต้องตั้งคำถามว่าต้องยอมไปขนาดไหน ต้องยอมต่อไป 2-3 หรือไม่”
ดร.กอบศักดิ์ กล่าวต่อว่า ท่ามกลางสงครามระหว่างจีน และสหรัฐ สุดท้ายอาจนำไปสู่โลกการค้ายุคใหม่ ที่ไม่ใช่โลกโลกาภิวัตน์หรือ Globalization ที่เหมือนเดิมอีกต่อไป แต่จะเป็น Globalization สำหรับทุกคนยกเว้น 2 ประเทศที่ไม่ปฏิสัมพันธ์ซึ่งกัน และกัน
สุดท้ายมองว่า เรื่องนี้คงจะไม่จบอยู่เฉพาะเรื่องของการค้า หลังจากนี้เกมจะไม่อยู่ที่ภาษี แต่เกมจะไปอยู่เรื่องของการแข่งขันทางเทคโนโลยีและการกีดกันทางเทคโนโลยี และหลังจากนั้นจะเป็นเกมการเผชิญหน้าเชิง อำนาจ และเกณฑ์การหาพรรคพวก ซึ่งเกมเหล่านี้มันจะไม่ง่าย เพราะจีนก็ไม่เลิก จะเป็นการแย่งกันเป็นที่หนึ่ง
ดังนั้น โลกระยะข้างหน้าจะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คนที่ไม่ยอมจีน กลุ่มที่หมอบราบคาบ และกลุ่มที่ยอมเจรจา
ดังนั้นภายใต้โลกวันนี้มองว่าจะสร้างความปั่นป่วนให้กับเราต่อเนื่อง ไทยเองก็ต้องเดินหน้าเจรจาให้มีค่าที่สุดเพื่อให้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น เจรจาเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับประเทศไทย ซึ่งไม่ได้แย่เสมอไป
สุดท้ายมองว่าเรื่องนี้คงไม่จบอยู่ที่ภาษี 0% เพียงอย่างเดียว แต่มันจะมีอย่างอื่นด้วยที่เขาอยากจะได้ ดังนั้นต้องมาคิดดีๆ ว่าอะไรที่ดีกับประเทศไทยระยะยาว อีกด้านประเทศไทยยังต้องเตรียมรับผลกระทบระยะสั้น จากผลพวงที่ตามมาจากการแยกออกจากกันระหว่างสหรัฐ และจีน สินค้าจีนจะทะลักเข้าไทย ซึ่งปัญหาคงไม่ใช่แค่ผู้ส่งออกอย่างเดียว แต่เป็นปัญหาระดับผู้ประกอบการด้วย
และภายใต้แรงต้านที่เกิดขึ้น ประเทศไทยควรคิดว่าเราจะสร้างโมเมนตัมให้กับเศรษฐกิจอย่างไร ดังนั้นระยะสั้นทำอย่างไรให้เศรษฐกิจไทยเดินต่อไปได้ และรับมือกับสินค้าจีนที่ทะลักเข้ามา และต้องเผื่อไปถึงแผนในระยะกลางด้วย เพราะไทยต้องอยู่กับทรัมป์ต่อเนื่องไป 4 ปี
และต้องคิดเผื่อไปในระยะยาว เพราะความวุ่นวายคงไม่จบที่ทรัมป์ แต่จะเห็นต่อเนื่องหลังจากนี้แม้ทรัมป์ไม่อยู่ ดังนั้นสิ่งที่ประเทศไทยต้องทำในระยะยาวคือ การลดพึ่งพาสหรัฐ จากปัจจุบันที่ส่งออกไปสหรัฐ 18%
ท้ายที่สุดแล้ว ในระยะข้างหน้าโลกจะบังคับให้เราเลือกข้าง เราจะเผชิญ Geopolitics ครั้งใหญ่ ในโลกจะเกิด Mutipolar โลกหลายขั้วทั้งการค้า และเทคโนโลยี ดังนั้นเราต้องเตรียมการเพราะเราคงมีทางเลือกไม่มาก เพื่อหาทางรอด และโอกาสท่ามกลางปัญหาที่เรากำลังเผชิญ
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์