เปิดแผน ‘ไทยเครดิต’ ลุยระดมทุน เสริมแกร่ง ‘เงินกองทุน’ หนุนพอร์ตสินเชื่อโต
"ธนาคารไทยเครดิต" หุ้นไอพีโอน้องใหม่กลุ่มแบงก์จ่อระดมทุนในตลาด SET ในรอบกว่า 10 ปี ! พร้อมชู "จุดเด่น" ประสบการณ์การให้บริการสินเชื่อเพื่อรายย่อยที่หลากหลาย
นับเป็น “ธนาคารพาณิชย์” รายล่าสุด... ที่กำลังจะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในรอบกว่า 10 ปี !! สำหรับไอพีโอน้องใหม่อย่าง ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) หรือ CREDIT ผู้ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ที่มุ่งเน้นการให้บริการสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการรายย่อยและลูกค้าบุคคล ด้วยประสบการณ์การให้บริการสินเชื่อเพื่อรายย่อยที่หลากหลายมากว่า 10 ปี...
โดย “หุ้น CREDIT” กำลังจะเข้าซื้อขายในตลาด SET เพื่อเร่งสร้างการเติบโตครั้งใหม่ ! ด้วยการเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 347.02 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นไม่เกิน 28.2% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมด ซึ่งประกอบด้วย (1) หุ้นสามัญเพิ่มทุน จำนวนไม่เกิน 64.70 ล้านหุ้น (2) หุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดย OCA Investment Holdings I Pte. Ltd. จำนวนไม่เกิน 282.32 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (Par) 5.00 บาท และคาดว่าจะเข้าซื้อขายวันแรก (เทรด) ภายในปี 2567
ด้วย “จุดเด่น” ของหุ้น CREDIT ที่มีประสบการณ์การให้บริการด้าน “สินเชื่อเพื่อรายย่อย” ที่หลากหลายมากว่า 10 ปี ดังนั้น จึงมีความเข้าใจกลุ่มลูกค้าเป้าหมายอย่างลึกซึ้ง ประกอบกับการมีผลิตภัณฑ์ และการบริการที่หลากหลาย สามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าหลากหลายขนาดและประเภทธุรกิจ รวมถึงการบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพและการบริหารจัดการความเสี่ยงที่รัดกุม
ดังนั้น เพื่อเป้าหมายสำคัญต้องการมุ่งสู่การเป็นธนาคารพาณิชย์ “อันดับหนึ่ง” ในการให้บริการสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการรายย่อยและลูกค้าบุคคล รวมถึงช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ ผ่านการให้บริการ “สินเชื่อนาโนและไมโครเครดิตเพื่อคนค้าขาย” (Nano and Micro Finance) และ “สินเชื่อธุรกิจไมโครเอสเอ็มอี” (Micro SME) ให้แก่กลุ่มลูกค้าในประเทศไทยที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้เท่าที่ควร ซึ่งกลุ่มลูกค้าดังกล่าวเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
โดย ณ ปัจจุบันเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ของธนาคารสามารถแบ่งออกได้เป็น “5 กลุ่มผลิตภัณฑ์” ประกอบด้วย (1) สินเชื่อธุรกิจไมโครเอสเอ็มอี (2) สินเชื่อนาโนและไมโครเครดิตเพื่อคนค้าขาย (3) สินเชื่อบ้าน (4) สินเชื่อหมุนเวียนส่วนบุคคล และ (5) สินเชื่อรายย่อยอื่นๆ
“วิญญู ไชยวรรณ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) หรือ CREDIT ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า การเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นครั้งนี้ ! เพราะมองเห็นธุรกิจยังมีช่องทางการเติบโตอีกมาก บ่งชี้จากภาพของตลาดมีขนาดใหญ่สะท้อนจากความต้องการ (ดีมานด์) ใช้เงินของกลุ่มลูกค้าดังกล่าวอยู่ในระดับสูง...โดยด้านสินเชื่อมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2563-2565 ที่อัตราการเติบโตเฉลี่ยระดับ 20-30% ซึ่งเชื่อว่าเป็นตัวเลขการเติบโตที่สูงสุดในอุตสาหกรรม
สอดรับกับวัตถุประสงค์การใช้เงินระดมทุน เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของ “เงินกองทุน” ของธนาคารไทยเครดิต เพื่อใช้เป็นเงินทุนสำหรับ “การขยายพอร์ตสินเชื่อ” รวมทั้ง นำไปใช้ปรับปรุงและพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล (Digital Transformation) และโครงสร้างพื้นฐานด้านความปลอดภัยของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Security and Infrastructure)
อย่างไรก็ตาม ด้วยกลุ่มลูกค้าของเราเป็น “กลุ่มลูกค้าความเสี่ยงสูง” (High Risk) แต่ขณะเดียวกันก็สามารถสร้าง “ผลกำไร” ในระดับสูงเช่นกัน ดังนั้น ธนาคารยึดหลักที่ถือเป็นหัวใจสำคัญ นั่นคือ “การบริหารความเสี่ยง” ด้วยการรู้จักลูกค้าให้มากที่สุด และมีกระบวนการทำงานเป็นระบบ เริ่มตั้งแต่การออกโปรดักต์ เงื่อนไขของสินเชื่อที่ปล่อย การคัดกรองลูกค้าเข้ามาในระบบ ซึ่งเจ้าหน้าที่ธนาคารฯ ต้องดูลูกค้าให้ออกว่า ลูกค้ารายไหนปล่อยสินเชื่อได้ รายไหนปล่อยไม่ได้ และสุดท้ายการติดตามหนี้ และเมื่อเกิดเป็น “หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้” (NPL) แล้ว จะมีการบริหารจัดการ NPL อย่างไร
“เราใช้ประสบการณ์กว่า 10 ปี ในการเลือกลูกค้า ดังนั้น เราเชื่อว่าเรารู้จักลูกค้าดี เพราะที่ผ่านมาไม่ใช่ว่าเราทำสำเร็จทันทีตั้งแต่ปีแรกๆ แต่เป็นการลองผิดลองถูกมาตลอด 10 ปี เราเคยเจอทั้งสัดส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพในพอร์ตสูง ซึ่งเราก็ปรับเปลี่ยนมาเรื่อยๆ จนเรามีความเชี่ยวชาญมากขึ้น สะท้อนผ่านการเติบโตของธนาคาร”
“วิญญู” บอกต่อว่า สำหรับแผนธุรกิจ 3-5 ปีข้างหน้า (2567-2571) ธนาคารไทยเครดิตยังคงมุ่งเน้นในธุรกิจหลักคือ การปล่อยสินเชื่อให้กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของกิจการแผงค้าในตลาด ร้านค้าขนาดเล็กและขนาดกลาง ตลอดจนผู้ประกอบการ “วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม” (SME) และ “ธุรกิจไมโครเอสเอ็มอี” (MSME) ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรอย่างยั่งยืน และมีส่วนช่วยเหลือเศรษฐกิจและสังคม
นอกจากนี้ ธนาคารไทยเครดิตยังมีโครงสร้างต้นทุนการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ จากเครือข่ายสาขาที่มีต้นทุนการดำเนินงานต่ำ ณ ปัจจุบันมีจำนวนสาขากว่า 500 แห่ง กระจายอยู่ทั่วประเทศ ประกอบด้วยสาขาสินเชื่อเพื่อรายย่อย สำนักงานนาโนเครดิต และสาขาที่ให้บริการเงินฝาก โดยตั้งอยู่ใน “จุดยุทธศาสตร์” ในพื้นที่หรือใกล้เคียงกับกลุ่มลูกค้า โดยในส่วนของสาขาบริการเงินฝาก ธนาคารฯ มีแผนจะขยายสาขาเพิ่ม ขณะที่สาขาสินเชื่อเพื่อรายย่อย คาดว่าจะไม่มีการเพิ่มจำนวนสาขา เนื่องจากสาขาที่มีอยู่ถือว่าเพียงพอ และครอบคลุมการให้บริการลูกค้าแล้ว
รวมทั้งมุ่งเน้นการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมผ่านช่องทางดิจิทัล โดย บริษัทไทยไมโคร ดิจิทัล โซลูชั่นส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของธนาคารฯ ได้นำแพลตฟอร์มด้านเทคโนโลยีมาใช้เพื่อสร้างเสริมประสบการณ์ของลูกค้าผ่านแอปพลิเคชัน “ไมโครเพย์” ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้งานที่ผ่านกระบวนการ KYC เป็นปัจจัยที่ทำให้ธนาคารฯ สามารถรักษาอัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้รวม (Cost-to-Income Ratio) ไว้ได้ในระดับต่ำกว่า 40%
สุดท้าย “วิญญู” ฝากไว้ว่า ธนาคารไทยเครดิตมีความมุ่งมั่นจะคืนสู่สังคม โดยธุรกิจตัวหลักคือการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อในระบบ ซึ่งการให้สินเชื่อของเราถือเป็นการไปต่อยอดให้ธุรกิจลูกค้าไปต่อได้ โดยทำควบคู่ไปกับการให้ความรู้พื้นฐานทางด้านการเงินเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน