ถอดรหัสทำไม ตลาดหุ้นมาเลเซีย บูม: 4 ปัจจัยดันจำนวน IPO พุ่งสูงสุดในรอบ 20 ปี
ตลาด IPO มาเลเซียสดใสสวนทางอาเซียน เหตุการเมืองมั่นคง-เศรษฐกิจโต 5% หนุนยอด IPO ทะลัก 42 ราย มูลค่าระดมทุน 9 เดือนพุ่ง 92% ดันตลาดหลักทรัพย์ Bursa Malaysia ตั้งเป้าปี 2025 ทะลุ 50 ราย สูงสุดในรอบ 20 ปี แม้ต้องจับตาผลกระทบจากนโยบายขึ้นค่าแรง
สำนักข่าวนิกเคอิ เอเชีย รายงานวันนี้ (4 พ.ย. 2567) ว่า ในขณะที่กิจกรรมการเสนอขายหุ้นให้ประชาชนเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) ของบริษัทต่างๆ ในตลาดหุ้นของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่ชะลอตัวลงในปีนี้ แต่สถานการณ์ไอพีโอในมาเลเซียกลับสวนทางตลาดในภูมิภาค
ตั้งแต่ผู้ผลิตน้ำมันปาล์มไปจนถึงร้านค้าปลีก การเข้าจดทะเบียนใหม่หลายรายการสะท้อนให้เห็นถึงปีที่ "โดดเด่น" สำหรับตลาดทุนมาเลเซีย โดย อุมัร สวิฟ ซีอีโอตลาดหลักทรัพย์เบอร์ซา มาเลเซียคาดว่ากระแสไอพีโอจะยังคงสดใสต่อไปในปี 2025
"เรามีกระแสการลงทุนที่แข็งแกร่งและสภาพคล่องที่ดี หากมองปีนี้เราจะมีไอพีโอ 42 ราย หรืออาจมากกว่านั้น ส่วนปีหน้า ผมเห็นแผนงานแล้วว่าจะมีถึง 50 ราย"
บทวิเคราะห์ของสำนักข่าวนิกเคอิเอเชีย รายงานว่า บริษัทเข้าจดทะเบียน 50 รายถือเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดของประเทศนับตั้งแต่ปี 2005
ภาพรวมไอพีโอในอาเซียน
ซีอีโอชี้ให้เห็นถึงการซื้อขายหุ้นที่คึกคักขึ้นในมาเลเซียในปีนี้พร้อมกับแรงส่งของไอพีโอ มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในตลาดหลักทรัพย์เพิ่มขึ้น 66% เมื่อเทียบกับปีก่อน มาอยู่ที่ 3.36 พันล้านริงกิต (766 ล้านดอลลาร์) ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2024
อุมัร ระบุว่า การเติบโตดังกล่าวมาจากเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งโดยมีจีดีพีเติบโตประมาณ 5% รัฐบาลที่มีเสถียรภาพ และมีกลยุทธ์ที่เหมาะสม "เราเห็นนโยบายที่สมเหตุสมผล และผลของนโยบายเหล่านั้นเริ่มปรากฏในปีนี้"
ข้อมูลที่รวบรวมโดยบริษัทที่ปรึกษาด้านการเงิน EY ในเดือนก.ย.แสดงให้เห็นว่า บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มาเลเซียระดมทุนได้รวม 1.4 พันล้านดอลลาร์ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2024 เพิ่มขึ้น 92% เมื่อเทียบกับปีก่อน สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้วมาเลเซียมีไอพีโอ 33 ราย เพิ่มขึ้นจาก 25 ราย ในทางตรงกันข้าม จำนวนไอพีโอของอินโดนีเซียลดลงเหลือ 34 รายจาก 66 ราย ขณะที่ตัวเลขของไทยลดลงจาก 26 เหลือ 22 ราย ส่วนศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาคอย่างสิงคโปร์มีไอพีโอเพียงรายเดียว
โดยน่าสนใจว่าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกทั้งหมด จำนวนไอพีโอ ลดลง 43% โดยส่วนใหญ่มาจากการลดลงอย่างมากในจีน
อับดุล วาฮิด โอมาร์ ประธานตลาดหลักทรัพย์เบอร์ซา มาเลเซีย กล่าวในงาน Invest Malaysia ที่รัฐยะโฮร์เมื่อวันที่ 26 ก.ย.ว่า ปีนี้เป็น "ปีที่โดดเด่นสำหรับตลาดทุน"
เขาเน้นย้ำว่ามูลค่าตลาดรวมของบริษัทจดทะเบียนทะลุ 2 ล้านล้านริงกิต (2.28 แสนล้านดอลลาร์) เป็นครั้งแรกในเดือนพ.ค.
จำนวนไอพีโอในมาเลเซียเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
อีกปัจจัยหนุนหนึ่งดูเหมือนจะเป็นขั้นตอนการอนุมัติที่สั้นลง โดยตั้งแต่เดือนมี.ค. ตลาดหลักทรัพย์ฯ และหน่วยงานกำกับดูแลได้ลดระยะเวลาที่ต้องใช้ในการอนุมัติไอพีโอ จากสูงสุด 12 เดือนเหลือ 3 เดือน
ไอพีโอขนาดใหญ่หลายรายการในปีนี้มาจากภาคธุรกิจดั้งเดิมมากกว่าเทคโนโลยีดิจิทัล ในจำนวนนี้รายใหญ่ที่สุดได้แก่ Johor Plantations Group ในเดือนก.ค. และ 99 Speed Mart Retail Holdings ในเดือนก.ย. บริษัทที่เชื่อมโยงกับรัฐยะโฮร์ระดมทุนได้ 735 ล้านริงกิตจากไอพีโอขณะที่ร้านค้าปลีกระดมทุนได้ 2.36 พันล้านริงกิตซึ่งใหญ่ที่สุดในรอบ 7 ปี
ราคาหุ้นของทั้งสองบริษัทยังคงมีแรงส่งนับตั้งแต่เข้าตลาด โดย Johor Plantation เพิ่มขึ้น 25% และ 99 Speed Mart เพิ่มขึ้น 43% จากราคา ไอพีโอ ณ วันที่ 30 ต.ค.
บริษัทจำนวนหนึ่งคาดว่า ไอพีโอจะช่วยขยายธุรกิจรวมถึงการขยายไปต่างประเทศ โดยได้แรงหนุนจากตลาดหุ้นและเศรษฐกิจในประเทศที่แข็งแกร่ง ลี เทียนวา ผู้ก่อตั้งและ ซีอีโอ ของ 99 Speed Mart กล่าวในแถลงการณ์ก่อน ไอพีโอว่า
"การเข้าถึงตลาดทุนจะช่วยให้เราเร่งแผนการขยายธุรกิจและขยายเครือข่ายร้านค้าเพื่อขยายฐานในมาเลเซียได้ต่อเนื่อง"
ล่าสุด Cuckoo Malaysia ซึ่งเป็นบริษัทลูกของผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านของเกาหลีใต้ Cuckoo Holdings ยื่นขอไอพีโอในมาเลเซียเพื่อขยายธุรกิจการขายและให้เช่า บริษัทระบุในหนังสือชี้ชวนที่เปิดเผยเมื่อวันที่ 23 ต.ค. ว่า "เราตั้งใจจะจัดสรรเงินที่ได้เพื่อสนับสนุนการซื้อผลิตภัณฑ์ล่วงหน้าเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นสำหรับแผนการเช่าในมาเลเซีย" โดยเพิ่มเติมว่าเงินส่วนหนึ่งจะใช้สำหรับการขยายธุรกิจในสิงคโปร์ด้วย
"คุณมีตลาดที่มีสภาพคล่องสูง มีบริษัทที่น่าสนใจอย่าง 99 Speed Mart และที่สำคัญกว่านั้น สิ่งที่เรากำลังทำคือการนำผู้ประกอบการเข้าสู่ตลาด"ซีอีโอของตลาดหลักทรัพย์ฯ กล่าว "เราต้องการเห็นพวกเขาเติบโต และเมื่อเวลาผ่านไป บางรายอาจควบรวมกิจการและกลายเป็นบริษัทขนาดใหญ่ได้ด้วยตัวเอง"
นักวิเคราะห์แหล่งข่าวนิกเคอิเอเชีย ชี้ให้เห็นถึงผลการดำเนินงานของตลาดที่แข็งแกร่งและมีมุมมองที่เป็นบวกต่อไอพีโอในมาเลเซีย โดยได้แรงหนุนจากสภาพคล่องในประเทศและความเชื่อมั่นของนักลงทุน
เรย์มอนด์ ชู หัวหน้าฝ่ายตลาดทุนระดับภูมิภาคของ Maybank Investment Banking Group กล่าวว่า "ความเชื่อมั่นยังคงสูง เนื่องจากมีสภาพคล่องจากนักลงทุนสถาบันและรายย่อยเพียงพอ ประกอบกับการคาดการณ์การเติบโตของกำไรที่แข็งแกร่ง" และเสริมว่างบประมาณที่สนับสนุนการเติบโตของรัฐบาลสำหรับปี 2025 จะสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนมากขึ้น
มากไปกว่านั้น สำนักข่าวนิกเคอิเอเชีย รายงานว่า ร่างงบประมาณที่เสนอต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 18 ต.ค. รวมถึงกรอบการจูงใจการลงทุนใหม่ ซึ่งรวมถึงแรงจูงใจทางภาษีสำหรับธุรกิจออกแบบวงจรรวม และการลดภาษีสำหรับมหาวิทยาลัยเอกชนและสถาบันฝึกอบรมทักษะที่พัฒนาหลักสูตรใหม่ๆ เช่น AI และหุ่นยนต์
นายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิมกล่าวในสุนทรพจน์งบประมาณว่า เศรษฐกิจมาเลเซียจะเติบโตระหว่าง 4.8% ถึง 5.3% ในปีนี้ และระหว่าง 4.5% ถึง 5.5% ในปี 2025 เร่งตัวขึ้นจาก 3.7% ในปี 2023 เนื่องจากประเทศกำลังเสริมสร้างตำแหน่งในฐานะศูนย์กลางห่วงโซ่อุปทานระดับโลก
ราชาฮัมซาห์ อาบีดิน ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทร่วมทุนของมาเลเซีย RHL Ventures ชี้ให้เห็นว่ามีสภาพคล่องจำนวนมากในตลาด โดยเฉพาะในกองทุนของรัฐและกองทุนสถาบันที่ "หิวโหยการเติบโตและผลตอบแทน" กองทุนต่างประเทศ
"ในส่วนของ Private Equity ผมยังเชื่อว่าตลาดมีความพร้อมสำหรับการนำพอร์ตโฟลิโอของพวกเขาเข้าจดทะเบียน โดยมีเงื่อนไขว่าธุรกิจต้องมีการเติบโตและมีกำไร ในขณะเดียวกัน ในส่วนของธุรกิจ Venture Capital ผมยังเชื่อว่าจะเป็นบวกในระยะยาวที่จะเข้าจดทะเบียน เมื่อมีบริษัทมากขึ้นที่เริ่มมีกำไร" ฮัมซาห์กล่าว
ไอวี อึ้ง หัวหน้าฝ่ายวิจัยหุ้นของกลุ่ม CIMB กล่าวว่า สถานะของมาเลเซียในฐานะตลาดหุ้นที่มีผลการดำเนินงานดีที่สุดในอาเซียนได้กระตุ้นให้มีบริษัทเข้าจดทะเบียนมากขึ้น
ปัจจัยที่ควรจับตาของ 'ตลาดหุ้นมาเลเซีย'
อย่างไรก็ตาม เธอชี้ให้เห็นถึงปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งรวมถึง "ความกังวลเกี่ยวกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการปรับฐานเงินเดือนในปี 2025 ซึ่งอาจนำไปสู่การขายทำกำไรของนักลงทุน" โดยอ้างถึงการขึ้นค่าแรง รวมถึงแผนของรัฐบาลที่จะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจาก 1,500 ริงกิตต่อเดือนเป็น 1,700 ริงกิตในปีหน้า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่ออัตรากำไรของบริษัทและก่อให้เกิดความกังวลด้านเงินเฟ้อ ซึ่งอาจทำให้ความกระตือรือร้นของนักลงทุนลดลง
ท้ายที่สุดซีอีโอตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังได้กล่าวถึงความเสี่ยงจากภายนอกที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศและความเชื่อมั่นของนักลงทุน "ในฐานะประเทศการค้า เราต้องระมัดระวังความเสี่ยงจากภายนอกอยู่เสมอ"
อ้างอิง: Nikkei Asia