ก.ล.ต.เดินหน้าศึกษากำกับดูแล Virtual Capital Market คาดเสร็จในไตรมาส 4/65

ก.ล.ต.เดินหน้าศึกษากำกับดูแล Virtual Capital Market คาดเสร็จในไตรมาส 4/65

ก.ล.ต. เดินหน้าผลักดันตลาดทุนไทยสู่ “ตลาดทุนดิจิทัล” ตามแผนยุทธศาสตร์ เผยอยู่ระหว่างศึกษาพัฒนาการ และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีใหม่ที่มีผลกระทบต่อตลาดทุนในทุกมิติ ในยุค Web 3.0 เพื่อกำกับดูแลเหมาะสมรองรับ Virtual Capital Market คาดแล้วเสร็จในไตรมาส 4 ปีนี้

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ในปัจจุบันพัฒนาการด้านเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วซึ่งเป็นผลต่อการเปลี่ยนแปลงกิจกรรม และวิธีการทำธุรกรรมในตลาดทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์และบริการในรูปแบบออนไลน์ รวมทั้งเทคโนโลยีบล็อกเชน และ Web 3.0* ซึ่งเป็นเทคโนโลยีแบบกระจายศูนย์ (distributed & decentralized) ที่อาจมีการประยุกต์ใช้งานหลายลักษณะที่อาจแพร่หลายในอนาคต

ก.ล.ต. ในฐานะทำหน้าที่กำกับดูแล และพัฒนาตลาดทุนไทย เห็นความจำเป็นในการศึกษาพัฒนาการและแนวทางกำกับดูแลการใช้งานเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น การนำเทคโนโลยีบล็อกเชน และ Web 3.0 มาประยุกต์ใช้ในภาคการเงิน และตลาดทุน ซึ่งอาจนำไปสู่ “Virtual Capital Market” รวมทั้งเพื่อให้เห็นถึงแนวโน้มและทิศทางในการพัฒนา และการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่อาจทำให้ภูมิทัศน์ (landscape) ของตลาดทุนไทยเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต

“การศึกษาในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ของ ก.ล.ต. ปี 2565 – 2567 ในการขับเคลื่อนให้ตลาดทุนไทยไปสู่ตลาดทุนดิจิทัล เพื่อส่งเสริมให้ตลาดทุนไทยมีการเติบโตอย่างยั่งยืน สามารถแข่งขันกับตลาดทุนต่างประเทศ และส่งเสริมศักยภาพเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่ง ก.ล.ต. ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่การปรับภูมิทัศน์การกำกับดูแลตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลให้มีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อม และเท่าทันต่อพัฒนาการของธุรกิจ และสภาพการณ์ปัจจุบัน การยกระดับการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อเพิ่มการคุ้มครองผู้ลงทุน รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ในตลาดทุนไทยอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล (Digital Infrastructure: DIF) เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านการระดมทุน และการนำเทคโนโลยีมาช่วยยกระดับช่วยตรวจสอบการกระทำผิดในตลาดทุน (E-enforcement)” 

สำหรับการศึกษาในครั้งนี้ ครอบคลุมพัฒนาการของเทคโนโลยีต่างๆ ที่อาจมีผลกระทบ และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (disruption) ต่อตลาดทุนในมิติต่างๆ ทั้งผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน วิธีการระดมทุนของภาคธุรกิจ ลักษณะการให้บริการและการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้อง พฤติกรรมของผู้ลงทุน ตลอดจนวิธีการในการกำกับดูแลของหน่วยงานกำกับดูแลที่อาจต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้อง และเท่าทันกับพัฒนาการของเทคโนโลยี ในการติดตามดูแลความเสี่ยงในรูปแบบใหม่ๆ ที่อาจเกิดขึ้นต่อผู้ลงทุน และผู้ที่เกี่ยวข้องในตลาดทุน รวมทั้งจะศึกษาเกี่ยวกับกฎหมาย และแนวทางการกำกับดูแลการใช้งานเทคโนโลยีสมัยใหม่ในต่างประเทศ เพื่อนำมาปรับใช้กับการกำหนดแนวทาง และนโยบายการกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ต่อไป โดยคาดว่าการศึกษาดังกล่าวจะแล้วเสร็จในไตรมาส 4 ปี 2565