DELTA รุกธุรกิจ “อีวี - 5จี” ขึ้นแท่นสตาร์ใหม่

DELTA รุกธุรกิจ “อีวี - 5จี” ขึ้นแท่นสตาร์ใหม่

“เดลต้า” ปั้น “อีวี - 5จี” เป็นสตาร์ รับเมกะเทรนด์ของโลก หนุนรายได้เติบโต วางเป้าหมาย 3 ปีข้างหน้าสัดส่วนรายได้ธุรกิจอีวีแตะ 20%

กระแสเทคโนโลยียุคใหม่ ! เข้ามาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และธุรกิจอย่างรวดเร็ว ไม่เว้นแม้แต่ “อุตสาหกรรมยานยนต์” ที่กำลังถูกเปลี่ยนแปลงทดแทน (Disruption) กลายมาเป็น “อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า” (EV) ที่กำลังเป็นเทรนด์มาแรงของทั่วโลก... และบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA ผู้ประกอบการธุรกิจด้านการผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์เพาเวอร์ซัพพลาย และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ

กำลังเปลี่ยนความท้าทายของโลกเทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นโอกาสเรียนรู้ เพื่อพลิกธุรกิจรับมือโลกยุคใหม่ ทั้งใน “อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า” (EV) และ “อุตสาหกรรมเทคโนโลยี” ที่อยู่ในอุตสาหกรรมเทรนด์ของโลก ! โดยบริษัทถือว่ามีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ EV คือ ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ติดในรถยนต์ไฟฟ้า และผลิตสถานีชาร์จสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ส่วนธุรกิจหลักคือ ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

ดังนั้น หาก “เดลต้า” ยังคงยึดติดอยู่กับการดำเนินธุรกิจรูปแบบเดิมๆ โอกาสการเติบโตยั่งยืนย่อมยากขึ้น ดังนั้น จึงต้องเดินแผนรักษาฐานที่มั่นในธุรกิจเดิมคือ ผู้ผลิตชั้นนำของโลกด้านผลิตภัณฑ์เพาเวอร์ซัพพลาย และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมไปกับรุกสู่ “ธุรกิจใหม่” (New Business)

 

 

“กิตติศักดิ์ เงินงอกงาม” ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน ด้านระบบพลังงาน บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA เล่าให้ “กรุงเทพธุรกิจ” ฟังในส่วนของธุรกิจใหม่ว่า เมื่อประเทศไทยมีนโยบายสร้าง “อุตสาหกรรมแห่งอนาคต” หรือ New S-Curve เพื่อเตรียมรับมือกับเศรษฐกิจยุคอนาคต และหนึ่งในนั้นคือ “อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า” (EV) และ “อุตสาหกรรมเทคโนโลยี 5G” ซึ่งสอดรับกับธุรกิจที่เป็น New S-Curve ของบริษัทเฉกเช่นกัน !

DELTA รุกธุรกิจ “อีวี - 5จี” ขึ้นแท่นสตาร์ใหม่ โดย ณ ปัจจุบันแบ่งกลุ่มธุรกิจออกเป็น 3 กลุ่มคือ 1.กลุ่มผลิตภัณฑ์เพาเวอร์อิเล็กทรอนิกส์ (Power Electronics) เป็นการออกแบบ ผลิต และจำหน่ายเพาเวอร์ซัพพลายสำหรับคอมพิวเตอร์ เซิร์ฟเวอร์อุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงาน เครื่องใช้ในครัวเรือน และรถยนต์ไฟฟ้า เช่น ดีซีคอนเวอร์เตอร์ เพาเวอร์ซัพพลายสำหรับคอมพิวเตอร์ และเซิร์ฟเวอร์ 

2. กลุ่มผลิตภัณฑ์อัตโนมัติ (Automation) เป็นการออกแบบ ผลิต และติดตั้งระบบอัตโนมัติสำหรับภาคอุตสาหกรรมและอาคาร เช่น ระบบอัตโนมัติสำหรับเครื่องจักร ระบบขับเคลื่อนสายการผลิต ระบบเซ็นเซอร์อัจฉริยะ และระบบแสงสว่างสำหรับอาคาร เป็นต้น

และ3. กลุ่มผลิตภัณฑ์โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) เป็นออกแบบ ผลิต และติดตั้งระบบโครงสร้างพื้นฐานสำหรับเทคโนโลยีสื่อสาร ข้อ มูล และโครงสร้างพื้นฐานสำหรับระบบพลังงาน โดยผลิตภัณฑ์หลักคือ ระบบโทรคมนาคม พลังงานทดแทน ระบบกักเก็บพลังงาน และพลังงานกำลังสูง เป็นต้น 

ดังนั้น บริษัทจึงนำความถนัด และคุ้นเคยอยู่แล้วในการเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์หลากหลายตัว และมีฐานการผลิตอยู่ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ทั้ง เอเชีย ยุโรป และสหรัฐ มาสร้างความได้เปรียบด้วยการนำมา “เพิ่มประสิทธิภาพ” และ “การเพิ่มมูลค่า” ให้กลายเป็น “ผลิตภัณฑ์ตัวใหม่” ซึ่งถือเป็นธุรกิจ New S-Curve ของบริษัท และเกาะไปกับการเติบโตของธุรกิจที่เป็นเทรนด์ของโลก ทั้ง 5G และ EV Car 

ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกที่เริ่มส่งสัญญาณความอ่อนแอ แต่ในส่วนของธุรกิจอีวียังเติบโตแบบ “ก้าวกระโดด” ล่าสุดบริษัทมีการเปิดตัวเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า AC และ DC รุ่นใหม่ล่าสุด รวมถึงเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแบบ V2X , อินเวอร์เตอร์พลังงานแสงอาทิตย์ (PVI) ระบบกักเก็บพลังงาน และระบบจัดการพลังงาน

“กิตติศักดิ์” บอกต่อว่า เป้าหมายคือ การเป็นโซลูชัน “โครงสร้างพื้นฐานสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร” ของเดลต้า อาทิ เครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าหลากหลายรุ่น , อินเวอร์เตอร์พลังงานแสงอาทิตย์ และระบบจัดการพลังงาน สำหรับผู้ใช้ในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

โดยโซลูชันดังกล่าวเป็นการผสมผสานผลิตภัณฑ์นวัตกรรมใหม่เข้าไว้ด้วยกัน หรือเรียกง่ายๆ ว่า “ไมโครกริด” หรือ แหล่งกำเนิดไฟฟ้าย่อยที่เราสามารถพัฒนาผลิตขึ้นได้เอง และบริหารจัดการ การใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมดด้วยระบบซอฟต์แวร์เราที่พัฒนาขึ้นเองเรียกว่า “เดลต้ากริดซอฟต์แวร์” ขณะเดียวกันก็นำพลังงานแบตเตอรี่จากรถยนต์ไฟฟ้าสู่กริดใช้ในอาคารและบ้านเรือน 

ทั้งนี้ ปี 2566 บริษัทจะตั้งรูปแบบสถานีชาร์จจำลองอัดบรรจุไฟฟ้าแบบไมโครกริดครบวงจรที่โรงงานบางปู และ โรงงานบางปะกง เพื่อต้องการเพิ่มความสะดวกให้กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย โดยเฉพาะคาดหวังกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ระดับ “เครือปตท.” และ “การไฟฟ้าต่างๆ” ดังนั้น เราต้องเผยแพร่ข้อมูลและนำเสนอข้อมูลให้ลูกค้าเข้าใจในเบื้องต้นก่อน ขณะที่กลุ่มชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าจะเป็นลูกค้าทั่วไป 

นอกจากนี้ เดลต้ายังได้เปิดตัวเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า DC แบบเร็วรุ่นใหม่ล่าสุด ได้แก่ เครื่องชาร์จรุ่น Ultra Fast Charger 200kW, DC City Charger 200kW และ DC Wallbox Charger 50 kW ในฐานะผู้ให้บริการโซลูชันสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน เดลต้าสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาของแบรนด์ที่ว่า Smarter. Greener. Together. 

โดยภาพรวมตลาดรถอีวีในไทยกำลังเติบโตแบบก้าวกระโดด สะท้อนผ่านการจดทะเบียนรถอีวีปี 2564 ประมาณเกือบ “หมื่นคัน” แม้ตอนนี้จะส่งมอบไม่ได้เพราะติดปัญหาขาดแคลนชิปในการผลิต ซึ่งในปีนี้ตัวเลขจดทะเบียนอาจลดลงเนื่องจากผลิตไม่ได้เพราะขาดแคลนชิป แต่ความต้องการไม่ได้ลดลง ขณะที่ตลาดรถอีวีระดับโลกก็เติบโตมาก สะท้อนผ่านนโยบายบางประเทศปี 2025 หรือ 2030 จะต้องเปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้าทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนเกี่ยวกับรถอีวียังไม่มีการจำหน่ายในตลาดเมืองไทย โดยปัจจุบันขายในต่างประเทศทั้งหมด แต่หากอนาคตมีการประกอบรถอีวีในเมืองไทยมากขึ้น บริษัทจะมีการขยายตลาดขายสินค้ารถอีวีด้วย รวมทั้งตั้งโรงงานผลิตเพิ่ม 

ดังนั้น เป้าหมายทิศทางสัดส่วนรายได้ธุรกิจอีวีใน 3 ปี (2566-2568) จะเพิ่มเป็น “เท่าตัว” หรือคิดเป็นสัดส่วน 20% ของรายได้รวม จากปัจจุบัน 10% และอีกหนึ่งธุรกิจที่มีการเติบโตสูง “ธุรกิจโทรคมนาคมและดาต้าเซ็นเตอร์” จะมีผลิตภัณฑ์อุปกรณ์เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี 5G โดยโรงงานแห่งที่ 3 และ 7 จะรับหน้าที่ผลิตชิ้นส่วนดังกล่าว 

ท้ายสุด “กิตติศักดิ์” บอกไว้ว่า เราไม่ได้พัฒนาธุรกิจอย่างเดียวแต่สามารถพัฒนาความยั่งยืนของบริษัทอีกด้วยคือ การนำสิ่งที่มีในมืออยู่แล้ว มาพัฒนาให้มีมูลค่าเพิ่ม และสร้างความยั่งยืนให้กับบริษัท

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์