"ออโรร่า" ลุยระดมทุน ผงาด "ร้านทองแรก" ในตลาดหุ้น
“ออโรร่า” เปิดแผนธุรกิจวางเป้า “ขยายสาขา-ธุรกิจฝากขาย” ขึ้นแท่น “ดาวเด่น” ดันรายได้โตก้าวกระโดดพร้อมผงาด ‘ร้านทองแรก’ ในตลาดหุ้น มูลค่าระดมทุน 3.6 พันล้าน
ตลาด “ทองคำ” มีขนาดใหญ่มาก ! หากแยกเฉพาะ “ค้าปลีกทองคำ” มูลค่าอาจแตะระดับ “แสนล้านบาท !” ส่งผลดีให้ บริษัท ออโรร่า ดีไซน์ จำกัด (มหาชน) หรือ AURA ผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกทองรูปพรรณ เครื่องประดับเพชร-อัญมณี และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอื่นที่มีบริการแบบครบวงจร (One Stop Service)
กำลังจะเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ด้วยการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนไอพีโอ จำนวนไม่เกิน 334 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 10.90 บาท มูลค่าที่ตราไว้ (Par) 1.00 บาท และจะเข้าซื้อขายวันแรก (เทรด) 29 พ.ย. 2565 มูลค่าการระดมทุนอยู่ที่ 3,640.60 ล้านบาท
เกิดมาก็เจอพ่อทำธุรกิจอยู่แล้ว !! “อนิพัทย์ ศรีรุ่งธรรม” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการตลาด บริษัท ออโรร่า ดีไซน์ จำกัด (มหาชน) หรือ AURA ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า จุดเริ่มต้นของ “ออโรร่า” ธุรกิจเติบโตมาจาก “โรงงานทำทองรูปพรรณ” เมื่อ 50 ปีก่อน และด้วยความที่พ่ออยากรู้ความต้องการของลูกค้า จึงก้าวเข้ามาสู่ “ธุรกิจร้านทอง” โดยเปิดสาขาแรกที่สุขุมวิท 103 (ซอยอุดมสุข)
โดยที่ผ่านมาออโรร่ามีการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงตลอด สะท้อนผ่านออโรร่าทำสถิติเป็น “เจ้าแรก” บ่อยๆ เริ่มจากการเป็นร้านทองเจ้าแรกที่เปิดสาขาในห้างสรรพสินค้า ต่อมาเป็นร้านทองร้านแรกที่เปิดสาขาควบคู่ไปกับร้านเพชร และช่วงวิกฤติต้มย้ำกุ้ง ปี 2540 ออโรร่าเป็นร้านทองที่ขยายสาขาเข้าไปในร้านค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) อย่าง ห้างสรรพสินค้า , โลตัส , บิ๊กซี และล่าสุด ออโรร่ากำลังจะเป็นร้านทองร้านแรกที่จะเข้าระดมทุนในตลาดหุ้น !
เมื่อเป้าหมายสำคัญต้องการมุ่งสู่การเป็นแบรนด์อันดับ 1 ในใจลูกค้าในธุรกิจค้าปลีกทองรูปพรรณ และเครื่องประดับและของขวัญที่ทำมาจากทองคำ ฉะนั้น การเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นครั้งนี้ !! เพิ่มขีดความสามารถการสร้างสรรค์นวัตกรรมผลิตภัณฑ์และพัฒนาแบรนด์ใหม่ เพื่อสร้างการเติบโตแบบ “ก้าวกระโดด” ครั้งใหม่ สะท้อนผ่านเงินระดมทุนใช้เป็นเงินลงทุนในการ “ขยายสาขา” ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน รวมถึงการซื้อสินค้าเพื่อจำหน่าย และขยายพอร์ตธุรกิจขายฝาก และที่เหลือชำระคืนเงินกู้ยืมสถาบันการเงิน
“อนิพัทย์” แจกแจงแผนธุรกิจหลังเข้าระดมทุน ในช่วง 3 ปีข้างหน้า (2565-2567) โดยบริษัทมุ่งขยายธุรกิจทั้งในส่วน “การขยายสาขา” และ “ขยายลูกหนี้ขายฝากคงเหลือ” ซึ่งทำให้บริษัทมีการกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ (diversification) เพื่อที่จะลดความเสี่ยงจากการพึ่งพิงรายได้จากส่วนธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง โดยวางเป้าหมายทั้งสองส่วนเป็น “หัวหอก” ในการสร้างการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ จากในช่วงที่ผ่านมาบริษัทมีรายได้เติบโตเฉลี่ย 10-15%
โดย ณ สิ้นเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา บริษัทมีจำนวนสาขารวม 266 แห่ง และมีเป้าหมายขยายสาขาเป็น 491 สาขาในปี 2567 และเพิ่มช่องทางการจำหน่ายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ทั้ง เว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย มาร์เก็ตเพลส อาทิ Lazada , Shopee เป็นต้น ช่วยสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายทุกเพศและทุกวัย
สำหรับ ธุรกิจค้าปลีกทองรูปพรรณ เครื่องประดับเพชร และอัญมณี และของขวัญที่ทำมาจากทองคำเป็นหลัก แบ่งผลิตภัณฑ์หลัก 3 ประเภทคือ “ผลิตภัณฑ์โมเดิร์น โกลด์” (Modern Gold) สัดส่วนรายได้ 95% มีประเภทสินค้าที่หลากหลาย ได้แก่ สร้อยคอ แหวน สร้อยข้อมือ ต่างหู ทองแผ่น เป็นต้น
“ผลิตภัณฑ์ดีไซน์ โกลด์” (Design Gold) สัดส่วนรายได้ 2%โดยผลิตภัณฑ์จากทองอื่นๆ มีสินค้า 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.พระเครื่องเลี่ยมทอง 2.สินค้าเสริมสิริมงคล เช่น สร้อยมือปีเซี่ยะ แผ่นทองมงคล จี้ราศี เป็นต้น 3.เครื่องประดับ เช่น สร้อยคอ แหวน สร้อยข้อมือ ต่างหู เป็นต้น และ 4.สินค้ากลุ่มของขวัญ เช่น กรอบรูปงานหัตถศิลป์ทองคำ เป็นต้น
“ผลิตภัณฑ์เครื่องประดับเพชร” (Diamond) คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 3% ซึ่งเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องประดับเพชรแท้ เช่น แหวนเพชร สร้อยคอเพชร ต่างหูเพชร สร้อยข้อมือเพชร จี้เพชร เป็นต้น
และ “ธุรกิจขายฝากทองคำและเครื่องประดับที่มีทองคำและเพชรเป็นส่วนประกอบ” (ขายฝาก) โดยลูกค้าสามารถไถ่ถอนทรัพย์ที่นำมาขายฝากได้ภายในระยะเวลาที่ตกลงกัน ภายใต้อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 15% ต่อปี หรือ 1.25% ต่อเดือน ซึ่งเป็นตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งปัจจุบันธุรกิจขายฝากไม่มีหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เนื่องจากระยะเวลาขายฝากสั้น ดังนั้น บริษัทจะมีการบริหารจัดการได้ดี
ทั้งนี้ บริษัทวางนโยบายขับเคลื่อนธุรกิจภายใต้ 6 กลยุทธ์ ประกอบด้วย 1.นำเสนอสินค้าและบริการที่มีความหลากหลาย โดยนำ Big Data มาใช้สร้างสรรค์นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ทั้งในกลุ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ แบรนด์ใหม่ รวมทั้งขยายธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับทองคำ 2. มุ่งขยายธุรกิจขายฝากทองรูปพรรณ เครื่องประดับที่มีทองคำและเพชรเป็นส่วนประกอบภายใต้แบรนด์ “ทองมาเงินไป” บนทำเลที่มีศักยภาพในแหล่งชุมชน
3. สร้างความแข็งแกร่งของช่องทางจำหน่าย ด้วยกลยุทธ์ O2O (Online to Offline) มุ่งเน้นขยายสาขา (Offline) บนทำเลที่มีศักยภาพทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดหัวเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ ควบคู่กับการขยายช่องทางขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ (Online)
4.สร้างความสัมพันธ์อันดีกับคู่ค้าและพันธมิตร โดยรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับซัพพลายเออร์ ตลอดจนสถาบันอัญมณีศาสตร์ชั้นนำของโลก 5.นำเทคโนโลยีสร้างสรรค์สินค้าและบริการ ด้วยการพัฒนาแอปพลิเคชันใหม่เพื่อส่งเสริมการซื้อสินค้าและบริการหลังการขาย และ 6. ดำเนินกลยุทธ์สร้างแบรนด์ที่แตกต่างและมีความแข็งแกร่งด้วยการเป็นแบรนด์ของขวัญล้ำค่า เพื่อส่งมอบความสุขในโอกาสพิเศษต่างๆ มากกว่าเป็นร้านขายทองคำ
อย่างไรก็ตาม “ความเสี่ยง” จากความผันผวนของราคาทองคำ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนและราคาขายสินค้า และมูลค่าสินค้าคงเหลือ โดยบริษัทตระหนักถึงปัจจัยความเสี่ยงดังกล่าว จึงมีการบริหารความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาทองคำโดยการปิดสถานะสุทธิของบริษัทด้วย “การซื้อหรือขายทองคำ” (Hedging) โดยพิจารณาจากสถานะสุทธิของบริษัทในแต่ละวัน
รวมทั้งมีการติดตามสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของราคาทองคำอย่างใกล้ชิดเพื่อวิเคราะห์แนวโน้มของราคาเพื่อกำหนดกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงการกำหนดหลักเกณฑ์ทบทวนราคารับขายฝากหากราคาทองคำมีการเปลี่ยนแปลงเกินกว่าอัตราร้อยละที่กำหนด เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจในช่วงเวลานั้นๆ
ท้ายสุด “อนิพัทย์” ฝากไว้ว่า ทิศทางอุตสาหกรรมค้าปลีกทองรูปพรรณ และเครื่องประดับ หรือของขวัญที่ทำมาจากทองคำมีศักยภาพเติบโตอีกมาก โดยได้วางกลยุทธ์การตลาดมุ่งสร้างแบรนด์ของขวัญล้ำค่าส่งมอบความสุขในโอกาสพิเศษต่างๆ เพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง พร้อมนำเสนอนวัตกรรมผลิตภัณฑ์และแบรนด์ใหม่