รีดภาษีส่อสะเทือน ‘ตลาดหุ้น’ โบรกเกอร์หวั่นวอลุ่มดิ่ง 40% ฉุดขีดแข่งขัน

รีดภาษีส่อสะเทือน ‘ตลาดหุ้น’  โบรกเกอร์หวั่นวอลุ่มดิ่ง 40% ฉุดขีดแข่งขัน

ครม.ไฟเขียวเก็บภาษีขายหุ้น 0.11% หลังเว้นมานานกว่า 40 ปี เผยปีแรกเก็บเพียง 0.05% ด้าน “คลัง” มั่นใจช่วยเพิ่มรายได้ปีละ 1.6 หมื่นล้านบาท ยันกระทบรายย่อยไม่มาก ฟากโบรกเกอร์ห่วงทำวอลุ่มหุ้นไทยดิ่ง 30 - 40% ฉุดสภาพคล่องลด กระทบขีดแข่งขันตลาดทุน

คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะ และกำหนดกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ (ฉบับที่...) พ.ศ... ซึ่งเป็นการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ หรือ Financial Transaction Tax ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ หลังจากมีการยกเว้นจัดเก็บภาษีดังกล่าวมา 40 ปี

ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ควรให้ยกเลิกการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ โดยเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะอัตราครึ่งหนึ่งของอัตราตามประมวลรัษฎากรในปีแรกของการจัดเก็บ 0.055% (อัตราที่รวมกับภาษีท้องถิ่น) และจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะในอัตราตามประมวลรัษฎากรในปีต่อไปของการจัดเก็บ 0.11% (เมื่อรวมกับภาษีท้องถิ่น)

เพื่อให้ผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) มีเวลาเพียงพอแก่การปรับตัวรับผลกระทบการขึ้นอัตราดอกเบี้ย รวมทั้งผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ต่อการลงทุนก่อนเริ่มเสียภาษี ตลอดจนบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิก ตลท.มีระยะเวลาเพียงพอแก่การพัฒนาระบบหัก และนำส่งภาษี

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ครม.อนุมัติกฎหมายการจัดเก็บภาษีการขายหุ้น หลังจากยกเว้นภาษีดังกล่าวเพื่อสนับสนุนตลาดหลักทรัพย์มาอย่างยาวนานถึง 40 ปี โดย ครม.อนุมัติในหลักการให้ยกเลิกการยกเว้นดังกล่าว เพื่อสร้างความเป็นธรรมในระบบภาษี สำหรับคนที่ซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ กับคนที่ไม่ได้มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์

สำหรับอัตราภาษีที่เพดานสูงสุดกำหนดไว้ไม่เกิน 0.11% เมื่อรวมภาษีท้องถิ่นแล้วจะเป็นเท่าไรนั้นจะต้องรอคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจร่างกฎหมายนี้ก่อน ซึ่งหลังจากคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจร่างกฎหมายเสร็จแล้ว หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ครม.จะอนุมัติร่างกฎหมาย และนำลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งกฎหมายจะมีผลบังคับใช้ หลังจากลงประกาศในร่างกิจจานุเบกษาแล้ว 3 เดือน

ทั้งนี้ ในกรณีการซื้อขายหุ้นผ่าน Market Maker ไม่ว่าจะเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) หรือกองทุนประกันสังคม จะได้รับการยกเว้นภาษีตัวนี้ เนื่องจากเป็นกองทุนขนาดใหญ่ ที่ช่วยสร้างสภาพคล่องให้กับตลาดหลักทรัพย์

“การจัดเก็บภาษีตัวนี้กรมสรรพากร จะจัดเก็บจากการขายหุ้นตั้งแต่บาทแรก ของรายได้จากการขาย ซึ่งคาดว่ากรมสรรพากรจะมีรายได้จากภาษีนี้ 15,000 - 16,000 ล้านบาท ในกรณีจัดเก็บภาษีตัวนี้ในอัตรา 0.11 % โดยรายย่อยจะได้รับผลกระทบไม่มากเท่ารายใหญ่ ซึ่งต้องดูนักลงทุนอีกครั้งเพราะมีหลายประเภท เช่น นักลงทุนต่างชาติ สถาบันด้วย” นายอาคม กล่าว

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในปีแรกของการจัดเก็บภาษีตัวนี้คือ ในปี 2566 กระทรวงการคลัง จะจัดเก็บภาษีในอัตรา 0.055% (รวมภาษีท้องถิ่นแล้ว) และในปีถัดมาคือปี 2567 จะจัดเก็บ เต็มเพดานที่กฎหมายกำหนดคือ 0.11% ทั้งนี้ การยื่นแบบชำระภาษี จะเป็นหน้าที่ของ Broker ที่เป็นตัวแทนของผู้ขาย

ทั้งนี้ เพื่อเก็บภาษีการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ตามที่กระทรวงการคลังเสนออัตรา 0.10% โดยในปีแรกที่มีการเก็บภาษีการขายหุ้นในปีแรกที่กฎหมายบังคับใช้จะเก็บอัตรา 0.055% เมื่อรวมภาษีท้องถิ่น แบ่งเป็นภาษีขายหุ้นโดยตรง 0.050% และภาษีท้องถิ่น 0.005%

สำหรับการเก็บภาษีจากธุรกรรมการขายหุ้น (Transaction Tax) ในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งคำนวณจากรายรับก่อนหักรายจ่ายใดๆ ทั้งสิ้น โดยต้องเสียภาษีอัตราดังกล่าวของมูลค่าที่ขาย ทั้งนี้กฎหมายนี้จะมีผลบังคับใช้ภายใน 90 วันหลังประกาศใช้เพื่อให้นักลงทุนรับทราบข้อมูลอย่างทั่วถึง โดยคาดว่าเริ่มใช้ไตรมาส 2 ปี 2566

ครม.ถกยาวหวั่นผลกระทบ

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า อัตราการเก็บภาษีการขายหุ้นปกติอยู่ที่ 0.1% เพราะเป็นภาษีธุรกิจเฉพาะ โดยให้โบรกเกอร์เป็นผู้จัดเก็บให้เพราะต้องเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ซื้อขายหุ้นอยู่แล้ว ซึ่งการเก็บจะมีทุกเดือนเช่นเดียวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 

อย่างไรก็ดี ปีแรกหลังกฎหมายบังคับใช้ จะให้เก็บในอัตราเพียง 0.055% ก่อน จนถึงสิ้นปี 2566 อย่างไรก็ตาม หากคิดรวมกับภาษีท้องถิ่น เพดานสูงสุดจะอยู่ที่อัตรา 0.11% ซึ่งทำให้ในปีแรก จัดเก็บอัตรา 0.055% เท่านั้น

แหล่งข่าวในที่ประชุม ครม.กล่าวว่า ครม.ใช้เวลาพิจารณา และแสดงความเห็นเรื่องนี้กว้างขวาง โดยนายกรัฐมนตรีบอกว่าต้องพิจารณาให้รอบคอบ เพราะใกล้ปีใหม่แล้ว และใกล้ครบวาระรัฐบาล

ส่วนนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวเสริมว่าอยากให้พิจารณารอบคอบเพราะแม้ผู้ได้รับผลกระทบมีไม่มากนัก แต่เป็นกลุ่มนี้มีกำลังซื้อมาก และการเคลื่อนไหวของคนกลุ่มนี้จะมีพลังมาก

“คลัง”แจง ครม.ศึกษามาดี

ขณะที่ นายอาคม กล่าวใน ครม.ว่ากระทรวงการคลังได้มีการศึกษาแล้วในเรื่องนี้โดยได้เปรียบกับฝรั่งเศส และอิตาลี ซึ่งในเรื่องนี้กรณีของประเทศฝรั่งเศส กระทบแค่ระยะสั้นๆ ส่วนประเทศอิตาลี ไม่มีผลกระทบกับการซื้อขายหุ้นเลย

นอกจากนี้กระทรวงการคลัง รายงาน ครม.ว่ากระทรวงการคลังเห็นว่าการยกเว้นภาษีสำหรับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ ได้ดำเนินการมา 40 ปีแล้ว และปัจจุบัน ตลท.เติบโตขึ้นมาก โดยมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) เพิ่มขึ้นถึง 22 เท่าจาก 30 ปีก่อน

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังควรยกเลิกการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ โดยเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะในอัตราครึ่งหนึ่งของอัตราตามประมวลรัษฎากรในปีแรกของการจัดเก็บ 0.055% (อัตราที่รวมกับภาษีท้องถิ่น) และจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะในอัตราตามประมวลรัษฎากรในปีต่อไปของการจัดเก็บ 0.11% (เมื่อรวมกับภาษีท้องถิ่น) เพื่อให้ผู้ลงทุนใน ตลท.มีเวลาเพียงพอแก่การปรับตัวรับผลกระทบการขึ้นอัตราดอกเบี้ย รวมทั้งผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ต่อการลงทุนก่อนเริ่มเสียภาษี ตลอดจนบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิก ตลท.มีระยะเวลาเพียงพอแก่การพัฒนาระบบหัก และนำส่งภาษี

กระทบรายได้รัฐปีแรก 8 พันล้าน

กระทรวงการคลัง รายงานด้วยว่าการจัดเก็บภาษีดังกล่าวจะเพิ่มรายได้ให้กับภาครัฐปีละ 16,000 ล้านบาทต่อปี โดยปีแรกเก็บรายได้ 8,000 ล้านบาท รวมทั้งมีการประเมินผลกระทบด้านอื่น คือ 

1.การเพิ่มความเป็นธรรมในการเก็บภาษีและลดความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ โดยไม่กระทบการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ใน ตลท.และการออมเพื่อการเกษียณอายุ 2.อาจส่งผลให้ต้นทุนทำธุรกรรมใน ตลท.สูงขึ้นจาก 01.7% เป็น 0.22% (ต้นทุนที่รวมทั้งการซื้อ และการขาย) แต่ยังอยู่ระดับแข่งขันได้ โดยต่ำกว่าของมาเลเซียที่อยู่ระดับ 0.29% และของฮ่องกงที่ 0.38% และสูงกว่าสิงคโปร์ที่ 0.20%

ทั้งนี้ ในปีแรกของการจัดเก็บที่มีการลดอัตราภาษีเหลือ 0.055% ต้นทุนดังกล่าวจะอยู่ที่ร้อยละ 0.195% ซึ่งใกล้เคียงกับของสิงคโปร์

ตลท.เตรียมทำข้อเสนอลดเก็บภาษีซ้ำซ้อน

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำลังทำงานร่วมกับสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย(สมาคมโบรกเกอร์) ในการเตรียมการสำหรับกระบวนการจัดเก็บภาษีดังกล่าว เพื่อให้มีภาระต้นทุนที่ต่ำ และมีประสิทธิภาพในการทำงานของทั้งอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ จะมีการเตรียมข้อเสนอในรายละเอียดการจัดเก็บภาษีให้กับกระทรวงการคลัง เพื่อไม่ให้เกิดการจัดเก็บภาษีซ้ำซ้อนจากผู้ลงทุนในบางประเภทธุรกรรมหากมีการจัดเก็บ

โบรกเกอร์ห่วงกระทบวอลุ่มต่างชาติ

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)ทิสโก้ จำกัด กล่าวว่า การเก็บภาษีขายหุ้นดังกล่าวแน่นอนว่าจะกระทบในกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศ ที่ส่วนใหญ่เป็นประเภท Program Treading (PT) คิดเป็นสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 30-40% ของยอดเทรดหุ้นไทยนักลงทุนกลุ่มนี้ เน้นลงทุนเป็นปริมาณที่มากและถี่ เมื่อมีการเก็บภาษีดังกล่าวจะทำให้ต้นทุนในการเทรดหุ้นไทยเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว อาจทำให้การลงทุนไม่คุ้มค่า

จากการประเมินเบื้องต้น มูลค่าซื้อขายในตลาดหุ้นไทย มีโอกาสลดลง 30-40% ในระยะถัดๆ ไป ด้วยภาระต้นทุนที่สูงขึ้นทำให้นักลงทุนกลุ่มดังกล่าวที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ คงต้องเปลี่ยนนโยบายการลงทุนหรือเปลี่ยนประเทศอื่นแทน แต่การเปลี่ยนนโยบายการลงทุนคงทำไม่ได้ทันที ดังนั้นผลกระทบในระยะสั้นจะเห็นวอลุ่มเทรดคงค่อยๆ ปรับลดลงไม่ได้ลดลงแรงทันทีในปีแรก

นายไพบูลย์ กล่าวว่า สิ่งที่กังวล และเสียดาย คือ “สภาพคล่องของตลาดหุ้นไทยที่ลดลง”เพราะสภาพคล่องที่ลดลงไปย่อมส่งผลกระทบไปหมด

เพราะการซื้อขายหุ้นไทยคงไม่สะดวกไม่คล่องตัวเท่าเดิม และเป็นห่วงในเรื่องขีดความสามารถการแข่งขันตลาดหุ้นไทยลดลง เพราะหลังจากนี้ยังต้องพัฒนาอีกมาก เช่น การใช้เป็นแหล่งระดมทุนของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะการระดมทุนธุรกิจ S-Curve และสตาร์ตอัป คาดว่าจะได้รับผลกระทบ ไม่คล่องตัวตามไปด้วย

อีกทั้ง มองว่า ช่วงเวลาของการประกาศใช้ภาษีดังกล่าว ค่อนข้างเซอร์ไพรส์ และไม่เหมาะสม เพราะเรากำลังอยู่ในภาวะของเศรษฐกิจโลกชะลอตัวค่อนข้างรุนแรง มีแต่ข่าวลบ และสภาพคล่องทั่วโลกที่ลดลง

ในขณะที่ปัจจุบันตลาดหุ้นไทยกำลังอยู่ในจุดที่ได้เปรียบดึงดูดเงินทุนต่างชาติเข้ามาจากท่องเที่ยวที่กำลังฟื้นตัวดี แต่เมื่อมีการเก็บภาษีดังกล่าว มองว่า ยิ่งเป็นการเพิ่มข้อจำกัดการลงทุนให้กับนักลงทุนที่จะสามารถเข้าถึงตลาดหุ้นไทยได้มากขึ้น

ห่วงกระทบขีดแข่งขันตลาดหุ้นโลก

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า การที่รัฐกลับมาเห็บภาษีขายหุ้นในรอบ 30 ปี อัตรา 0.05% ในช่วงไตรมาส 2 - ไตรมาส 4 ปี 2566 ฝ่ายวิจัย คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อความสนใจในการลงทุนลดลง เนื่องจาก ภาระต้นทุนภาษีดังกล่าวที่สูงขึ้น อาจไม่รองรับกับมาร์เก็ตแคป ตลาดที่ใหญ่ขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของหุ้นใหม่ๆ ได้ และน่าจะส่งผลกระทบต่อขีดความในการแข่งขันตลาดหุ้นโลกที่ลดลง

รวมถึงมูลค่าการซื้อขายที่หดตัวลง อาจส่งผลให้การเรียกเก็บภาษีในระยะยาวมีโอกาสลดลง แม้ว่ารายได้รัฐบาลจะเพิ่มขึ้นปีหน้าประมาณ 6.5 พันล้านบาท (อ้างอิงจากมูลค่าซื้อขายปี 2565 ต่อปี 17.4 ล้านล้านบาท)

สำหรับหุ้นที่ได้รับผลกระทบประเด็นนี้ คือ หุ้นโบรกเกอร์ หุ้นขนาดเล็กที่ราคาแพง มีการซื้อขายหนาแน่น และหุ้นที่มีสัดส่วนการใช้มาร์จิ้นสูง

และประเด็นนี้คาดว่าจะเข้ามากดดันบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้ และในไตรมาสแรกปีหน้า เพราะก่อนหน้านี้ประเด็นนี้เคยกดดันดัชนีฯ ลงไปเกือบ 50 จุดในช่วง 2 วันทำการ ก่อนที่จะฟื้นกลับขึ้นมา

นายสุนทร ทองทิพย์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า การเก็บภาษีขายหุ้น (FTT) ของภาครัฐ แม้จะทำให้รัฐมีรายได้มากขึ้น 1-2 หมื่นล้านบาท ต่อปี แต่จะส่งผลลบต่อตลาด โดยภาษี FTT จะทำให้ มูลค่าการซื้อขายของตลาดลดลง โดยเฉพาะธุรกรรมในกลุ่ม high-frequency trading (HFT) มองว่าธุรกรรม HFT ในตลาดจะหายไปหมด เพราะโอกาสในการทำกำไรจะลดลงอย่างมากหลังจากที่รัฐบาลมีการเก็บภาษี FTT

นอกจากนี้ ความนิยมในการซื้อขายหุ้นในตลาดที่ลดลง ส่งผลให้ค่า PE ของหุ้น และตลาดต่ำลง ต้นทุนในส่วนของผู้ถือหุ้นสูงขึ้น และลดแรงจูงใจในการนำบริษัทเข้าตลาดถ้า PE ไม่น่าจูงใจ

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์การลงทุนฝ่ายกลยุทธ์ และพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนบลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า ธุรกิจบลจ. ได้รับผลกระทบด้านภาระต้นทุนภาษีที่เพิ่มขึ้นน้อยมาก เพราะกองทุนเป็นนักลงทุนระยะยาวอยู่แล้ว และสามารถปรับนโยบายการลงทุน บริหารจัดการทางด้านผลตอบแทนกับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยได้

แต่มองว่า การเก็บภาษีดังกล่าวคาดว่า จะส่งผลกระทบ นักลงทุนรายย่อยในประเทศ เก็งกำไรหุ้นระยะสั้นมากกว่า คาดมูลค่าซื้อขายหุ้นของนักลงทุนกลุ่มนี้จะลดลงไปราว 10% ในปีแรก แต่เม็ดเงินของนักลงทุนกลุ่มนี้ โดยเฉพาะรายใหญ่ จะไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด คาดว่าน่าจะไหลเข้ามาลงทุนผ่านกองทุนทำหน้าที่บริหารจัดการแทน

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์