'การบินไทย' ตั้งที่ปรึกษาการเงิน ลุยแปลงหนี้-เพิ่มทุน มั่นใจ 2 ปี พ้นฟื้นฟู

'การบินไทย' ตั้งที่ปรึกษาการเงิน ลุยแปลงหนี้-เพิ่มทุน มั่นใจ 2 ปี พ้นฟื้นฟู

การบินไทย เผยจ้างเจ้าที่ปรึกษาการเงิน เพื่อมาดูระยะเวลาเหมาะสมกับสถานการณ์และเป็นประโยชน์กับเจ้าหนี้-ผู้ถือหุ้นรายใหม่ เดินหน้าแปลงหนี้เป็นทุน-เพิ่มทุนในอนาคต ยันทุกกระบวนเสร็จตามแผนในปี 67 ส่วนปีหน้ามุ่งเพิ่มฝูงบิน-เส้นทางการบิน รับเปิดประเทศเดินทางคึกคัก

นายชาย  เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่อาวุโส รักษาการประธานเจ้าหน้าที่สาย การเงินและการบัญชี บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI กล่าวว่า  สำหรับความคืบหน้าการดำเนินการของแผนฟื้นฟู ยังต้องดำเนินการตามแผนต่อไป  ได้แก่ การแปลงหนี้เป็นทุนทั้งส่วนของกระทรวงการคลัง เจ้าหนี้ตามที่ระบุในแผนและการเพิ่มทุนในอนาคต ซึ่งผู้ถือหุ้นปัจจุบัน มีสิทธิในการเพิ่มทุนด้วย  
  
ขณะนี้บริษัทได้เริ่มมีการจ้างที่ปรึกษาการเงิน เพื่อเข้ามาดูระยะเวลาที่เหมาะสมกับสถานการณ์และเป็นประโยชน์กับเจ้าหนี้ และผู้ถือหุ้นรายใหม่ด้วย ซึ่งทุกกระบวนการแก้หนี้ตามแผนฟื้นฟูจะเสร็จสิ้นภายในปี 2567 หรือประมาณอีก 2 ปีข้างหน้า 

 "คงไม่สามารถบอกได้ว่า เราจะเริ่มเมื่อไหร่ที่ แปลงหนี้เป็นทุน กระทรวงการคลังใส่เงินเพิ่มทุน คงต้องรอประเมินสถานการณ์ แต่ยังเป้าหมายทุกกระบวนการแก้หนี้ตามแผนจะต้องเสร็จสิ้นในปี 2567" 

หลังจากที่ผ่านมานี้ เมื่อ  1 ก.ย. บริษัท ได้ประชุมเจ้าหนี้ โดยพิจารณาเห็นชอบแผนฟื้นฟู 20 ต.ค.  ศาลล้มละลายกลางได้เห็นชอบแผนฟื้นฟู  พ.ย.ผู้บริหารแผนฟื้นฟูได้มีมติเพิ่มทุน โดยบริษัทจดทะเบียนเพิ่มทุนแล้ว 336,000  ล้านบาท แล้วเมื่อ 2 วันที่ผ่านมานี้ และยื่นขอแก้ไขในหนังสือบริคณห์สนธิไปแล้ว ล่าสุด มีการแต่งตั้ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่ จะมีผล 1 ก.พ. 2566 แจ้งให้ทราบทั่วไปแล้ว 

ขณะที่โครงสร้างผู้ถือหุ้นยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ปัจจุบันกระทรวงการคลัง ยังเป็นถือหุ้นใหญ่สัดส่วน 44.693% ผู้ถือหุ้นคนไทย สัดส่วน 35.810 %ผู้ถือหุ้นต่างชาติ สัดส่วน 15.981% ธนาคารออมสิน สัดส่วน 2.126% อื่นๆ  สัดส่วน 1.39% แต่หากมีการปรับโครงสร้างทุนใหม่แล้ว โครงสร้างผู้ถือหุ้นจะมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคต 

"เราผ่านพ้นในช่วงเวลาที่ต่ำสุดของการบินไทยแล้ว เรากำลังเพิ่มระดับการบินที่สูงขึ้นและเพิ่มมูลค่าให้กับการบินไทยสูงขึ้น รักษาการบินไทยให้เป็นสายการบินแห่งชาติต่อไป"  

นายชาย กล่าวว่า  สำหรับแผนงานในปี 2566 บริษัทมุ่งการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน  คาดว่าจะสามารถทำได้อีก 56,000 ล้านบาท ในปี 2563 จากสิ้นปีนี้ทำไปแล้ว 63,600 ล้านบาท 

ขณะเดียวกันบริษัทมีแผนจะนำเครื่องบินเข้ามาประจำการเพิ่มขึ้น ในลักษณะของการเช่าดำเนินการจากในปีที่ผ่านมา มีจำนวนเครื่องบินทั้งหมด 41 ลำ ด้วยสถานการณ์ที่ธุรกิจกลับมาฟื้นตัวเร็ว คาดว่าในสิ้นปีนี้จะนำเครื่องบินของเราเองกลับมาบินได้ทั้งหมด 9 ลำ และยังมีการพิจารณาขายเครื่องบินบางส่วน ขณะนี้
มีทั้งส่งมอบแล้ว และมีผู้ซื้อแล้ว รอดำเนินการขายและส่งมอบต่อไป ซึ่งเครื่องบินปลดประจำการเยอะ มีอายุสูง ค่อนข้างต้องใช้เวลาในการหาผู้ซื้อ 

นอกจากนี้ในปีหน้า คาดว่าจะกลับไปบิน เส้นทางบิน ออสโส และ มิลาน  และหากจีนเปิดประเทศได้ จะกลับเข้าไปปฏิบัติการบินให้ได้มากที่สุด 
 
"หากการเดินทางของผู้โดยสารกลับมาในระดับปัจจุบัน และแต่ละประเทศ ไม่กลับไปปิดประเทศแล้ว  ถือเป็นปัจจัยบวกต่อการดำเนินงานของบริษัทในระยะข้างหน้า  ส่วนปัจจัยราคาน้ำมันและเงินเฟ้อ ทุกสายการบินได้รับผลกระทบทั้งหมด ไม่เฉพาะการบินไทย ในช่วงเปิดประเทศจะพบว่ทั้งอุตสาหกรรม
มีการยกระดับราคาขายของบัตรโดยสารสูงขึ้น  แต่เรายังมุ่งเน้นการบริหารจัดการน้ำมันให้มีประสิทธิภาพในทุกเที่ยวบิน " 

หลังจากบริษัทมีผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปีนี้ มีรายได้ในการทำกำไรแข็งแกร่งมากขึ้น  มีกำไรจากการดำเนินงาน 3,920 ล้านบาท จาก ขาดทุน 1,299 ล้านบาท ในไตรมาสก่อนหน้า  มาจากรายได้จากการดำเนินงาน มาอยู่ที่ 32,860 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 52.7% จากไตรมาสก่อนหน้า อยู่ที่ 21,526 ล้านบาท 
ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน อยู่ที่ 28,940 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.3% จากไตรมาสก่อนหน้า อยู่ที่ 22,825 ล้านบาท  

"ในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ มีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นบวก ต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบิน ปรับตัวดีขึ้นจากช่วงต้นปีที่ผ่านมานี้  ประกอบกอบเครื่องบินหนึ่งลำของเรามีความสามารถทำกำไรเพิ่มขึ้นด้วย แต่ในส่วน IATA รายงานว่าช่วงโควิดเป็นช่วงที่ยากของอุตสาหกรรมการบิน จากการห้ามเดินทาง แม้ในปีนี้หลายประเทศกลับมาเปิดประเทศ แต่อุตสาหกรรมการบินทั่วโลก ยังมี EBIT margin  ติดลบ 2-3% ในปีนี้"