CPF จะไม่ทน! ทุ่ม 2.5 หมื่นล้าน ลุย "ซื้อหุ้นคืน" ตลอดช่วงโควิด
หลังปล่อยให้ราคาหุ้นไหลรูดลงมาอย่างต่อเนื่อง! ในที่สุดบอร์ดบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF จะไม่ทนอีกต่อไปแล้ว ประกาศทุ่มเงิน 5 พันล้านบาท เดินหน้าซื้อหุ้นคืน 200 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1.00 บาท หรือ คิดเป็น 2.32% ของหุ้นที่จำหน่ายได้ทั้งหมด
โดยจะดำเนินการซื้อหุ้นผ่านตลาดหลักทรัพย์ ระหว่างวันที่ 19 ธ.ค. 2565-18 มิ.ย. 2566 ระยะเวลารวมทั้งหมด 6 เดือน ซึ่งราคาที่จะซื้อเกินจะไม่เกินกว่า 115% ของราคาปิดของหุ้นเฉลี่ย 5 วันทำการซื้อขายก่อนหน้าวันที่ทำการซื้อหุ้นคืน ทั้งนี้ ย้อนไปดูราคาปิดเฉลี่ยของหุ้น CPF 30 วันทำการ ตั้งแต่ 31 ต.ค.-13 ธ.ค. 2565 จะอยู่ที่ 24.36 บาทต่อหุ้น
สาเหตุสำคัญที่ทำให้บริษัทตัดสินใจประกาศซื้อหุ้นคืน เนื่องจากมองว่าราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ตอนนี้ต่ำกว่ามูลค่าตามบัญชี (Book Value) ขณะเดียวกันการซื้อหุ้นคืนจะส่งผลดีต่อผู้ถือหุ้น เนื่องจากช่วยทำให้อัตราผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) และกำไรต่อหุ้น (EPS) สูงขึ้น
ขณะที่ราคาหุ้น CPF ปิดการซื้อขาย ณ วันที่ 14 ธ.ค. ก่อนที่จะประกาศแผนซื้อหุ้นคืนที่ 23.80 บาท โดยปรับตัวลดลง 6.67% YTD และซื้อขายที่ระดับ P/E 10.60 เท่า และ P/BV 0.78 เท่า
ส่วนแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ซื้อหุ้นคืนนั้นบริษัทยืนยันว่ามีเพียงพอ โดยบริษัทมีเงินสดคงเหลือ ณ วันที่ 30 ก.ย. 2565 จำนวน 2,229 ล้านบาท และคาดว่าจะมีเงินปันผลรับจากบริษัทย่อยในไตรมาส 4 ปี 2565 และในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 เข้ามาอีก 9,500 ล้านบาท ทำให้มีสภาพคล่องเพียงพอในการชำระหนี้ที่จะถึงกำหนดชำระในอีก 6 เดือนข้างหน้านับแต่วันที่ซื้อหุ้นคืนและมีเงินสดคงเหลือเพียงพอต่อการซื้อหุ้นคืนตามโครงการ
ถ้าใครติดตาม CPF มาโดยตลอด จะเห็นว่า “การซื้อหุ้นคืน” เป็นหนึ่งกลยุทธ์สำคัญที่บริษัทนำมาใช้เพื่อดูแลราคาหุ้นตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อหลายธุรกิจ และสร้างความปั่นป่วนอย่างหนักให้กับตลาดหุ้นไทย
โดยตั้งแต่เกิดโรคระบาด CPF ได้ประกาศซื้อหุ้นคืนครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2563 จำนวน 400 ล้านหุ้น หรือ คิดเป็น 4.65% ของจำนวนหุ้นที่จะซื้อคืนต่อจำนวนหุ้นที่ชำระแล้ว ด้วยวงเงินรวมทั้งหมด 1 หมื่นล้านบาท เริ่มคิกออฟโครงการตั้งแต่ 1 เม.ย.-30 ก.ย. 2563
เนื่องจากช่วงนั้นราคาหุ้น CPF ดิ่งหนักสุดในรอบ 4 ปี ราคาหุ้นหลุดแนวรับสำคัญ 20 บาท ลงไปทำจุดต่ำสุด 18.70 บาท ในวันเดียวกับที่บอร์ดตัดสินใจให้ซื้อหุ้นคืน
ปรากฏว่าหลังสิ้นสุดโครงการ บริษัทสามารถซื้อหุ้นคืนไปได้ทั้งหมด 197,673,800 หุ้น หรือ 2.30% ของจำนวนหุ้นที่ซื้อคืนต่อจำนวนหุ้นที่ชำระแล้ว โดยใช้เงินไปกว่า 6,084 ล้านบาท และถือว่าประสบความสำเร็จ เพราะตั้งแต่มีข่าวว่าบอร์ดอนุมัติให้ซื้อหุ้นคืน ราคาหุ้นค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นมาต่อเนื่อง จนไปทำจุดสูงสุดที่ 35.25 บาท เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2563 และเมื่อสิ้นสุดโครงการราคาหุ้นไปอยู่ที่ 28 บาท
ส่วนรอบต่อมาเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2564 บอร์ดให้ซื้อหุ้นคืนอีก 1 หมื่นล้านบาท ตั้งแต่ 15 ต.ค. 2564 - 14 เม.ย. 2565 แต่ดูเหมือนว่ารอบนี้อาจไม่หวือหวาเท่ากับรอบแรก เนื่องจากราคาหุ้นเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบๆ ในช่วง 25.75 – 23.50 บาท
และล่าสุด ถือเป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 2 ปีที่บริษัทประกาศซื้อหุ้นคืน แต่วงเงินลดลงไปครึ่งหนึ่งจาก 2 ครั้งที่ผ่านมา ซึ่งก็ต้องมารอติดตามดูว่ารอบนี้จะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน?
โดยบล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี แนะนำ “ซื้อเก็งกำไร” CPF ให้ราคาเป้าหมาย 33.00 บาท หลังบริษัทประกาศซื้อหุ้นคืนวงเงิน 5 พันล้านบาท โดย CPF ระบุว่ามีมูลค่าทางบัญชีต่อหุ้นอยู่ที่ 30.65 บาท แม้ช่วงนี้ราคาเนื้อสัตว์จะปรับตัวลดลงและเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจะกดดันราคาหุ้น แต่ฝ่ายวิจัยมองว่าราคาหุ้นได้ปรับตัวลงมาสะท้อนปัจจัยดังกล่าวไปมากแล้ว และมองว่าโครงการซื้อหุ้นคืนจะช่วยจำกัด Downside Risk ของราคาหุ้นได้