ส่องหุ้นเด่นรับอานิสงส์ "เงินบาท" แข็งค่ามากที่สุดในรอบ 8 เดือน
“เงินบาท” แข็งค่าแรงตั้งแต่ต้นปี โดยหลุดลงไปต่ำกว่า 34 บาทต่อดอลลาร์ ถือเป็นการแข็งค่ามากที่สุดในรอบ 8 เดือน หลังค่าเงินดอลลาร์เริ่มอ่อนค่า เนื่องจากมองว่าปีนี้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเริ่มชะลอความแรงในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ซึ่งในรายงานการประชุมเฟดล่าสุด แม้ว่ากรรมการเฟดจะส่งสัญญาณใส่เกียร์เดินหน้า ขึ้นดอกเบี้ย ต่อในปีนี้เพื่อสู้กับ เงินเฟ้อ แต่กรรมการทุกคนมีความเห็นตรงกันว่าควรจะชะลออัตราการขึ้นดอกเบี้ย เพื่อลดผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ นั้นหมายความว่าปีนี้เฟดคงไม่ได้ขึ้นดอกเบี้ยแรงเท่ากับปีที่ผ่านมา จึงทำให้ ค่าเงินดอลลาร์ เริ่มอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลหลักอื่นๆ
ขณะเดียวกัน เงินบาท ได้อานิสงส์จากฟันด์โฟลว์ที่มีแนวโน้มไหลเข้าต่อเนื่อง ทั้งตลาดหุ้นและตลาดบอนด์ หลังพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังดูดีกว่าหลายๆ ประเทศ โดยปีที่ผ่านมาต่างชาติกลับมาซื้อหุ้นไทยครั้งแรกในรอบ 5 ปี กว่า 2 แสนล้านบาท และซื้อตลาดพันธบัตรกว่า 4.6 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ ค่าเงินบาท ยังได้รับแรงหนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่คึกคัก ถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องยนต์หลักในการนำรายได้เข้าสู่ประเทศ โดยล่าสุดมีข่าวดีจีนเตรียมเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบในวันที่ 8 ม.ค. นี้
ทำให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) รีบออกมารับลูก ปรับเพิ่มเป้านักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้เป็น 25 ล้านคน จากเดิม 20 ล้านคน หลังจีนเปิดประเทศเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้
แม้ เงินบาท จะกลับมาแข็งค่าแรงตั้งแต่ต้นปี แต่ก็ใช่ว่าจะยืนระยะแบบนี้ไปได้ตลอดทั้งปี ยังมีโอกาสที่เงินบาทจะผันผวนเหมือนกับปีที่ผ่านมา ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้ง เศรษฐกิจโลก ที่มีโอกาสเกิดภาวะถดถอย การขึ้นดอกเบี้ยของเฟด จนถึงสถานการณ์โควิดหลังไทยเปิดประเทศ
แต่ในระยะสั้นการแข็งค่าของเงินบาท กลายเป็นอีกหนึ่งธีมการลงทุนที่น่าสนใจในช่วงนี้ โดย บล.ดาโอ (ประเทศไทย) ระบุว่า
อุตสาหกรรมที่จะได้รับประโยชน์จากค่าเงินบาทแข็งค่า ได้แก่
1. สายการบิน ซึ่งมีโครงสร้างต้นทุนเป็นเงินดอลลาร์ราว 60% เมื่อเงินบาทแข็งค่าจะทำให้ต้นทุนลดลง โดยมี AAV เป็น Top Pick โดยบริษัทมีหนี้เป็นดอลลาร์ประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเงินบาทที่แข็งค่าทุกๆ 1 บาท จะทำให้บริษัทมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนราว 1 พันล้านบาท
และยังได้รับประโยชน์จากจำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้แนวโน้มผลการดำเนินงานไตรมาส 4 ปี 2565 มีโอกาสพลิกมีกำไรเป็นครั้งแรกในรอบ 13 ไตรมาส
2. กลุ่มโรงไฟฟ้า เนื่องจากมีเงินกู้สกุลเงินดอลลาร์จำนวนมาก แต่อย่างไรก็ตามรายการดังกล่าวเป็นเพียงรายการทางบัญชี ไม่มีผลกระทบต่อกระแสเงินสด
เลือก BGRIM เป็น Top Pick โดยบริษัทมีหนี้เป็นดอลลาร์ราว 350 ล้านดอลลาร์ ซึ่งทุกๆ 1 บาทที่แข็งค่า จะมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนราว 350 ล้านบาท ส่วนแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 4 ปี 2565 คาดฟื้นตัว QoQ จากการรับรู้ปัจจัยบวกปรับค่า Ft เต็มไตรมาส
3. กลุ่มพลังงาน มีหุ้น Top Pick ได้แก่ TOP ซึ่งมีหนี้สกุลดอลลาร์ 78% ของหนี้ทั้งหมด ฝ่ายวิจัยประเมินว่าเมื่อรวมผลกระทบจากการทำประกันความเสี่ยง (Hedging) แล้ว ทุกๆ 1 บาทที่แข็งค่าจะมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนประมาณ 400-500 ล้านบาท
ขณะที่แนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 4 ปี 2565 จะฟื้นตัว QoQ จากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์น้ำมันและราคาน้ำมันดิบ (crack spread) ที่ฟื้นตัวและขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันที่ลดลง
4. กลุ่มผู้จำหน่ายสินค้าไอที มี SYNEX เป็น Top Pick เนื่องจากมีการนำเข้าสินค้าโดยใช้เงินดอลลาร์ เมื่อเงินบาทแข็งค่า ต้นทุนสินค้าจะถูกลง ส่งผลให้กำไรขั้นต้นปรับตัวดีขึ้น
ส่วนกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท ได้แก่ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์, กลุ่มอาหาร, กลุ่มเกษตร เนื่องจากมีรายได้ส่วนใหญ่มาจากการส่งออก
บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุว่า กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการแข็งค่าของเงินบาท คือ กลุ่มที่มีหนี้ต่างประเทศและกลุ่มนำเข้า ได้แก่
- สายการบิน (AAV, BA)
- โรงไฟฟ้า (GPSC, GULF, BGRIM)
- พลังงาน (PTTGC, TOP, IVL, PTT)
- กลุ่มนิคมฯ (AMATA, WHA)
- กลุ่มนำเข้าสินค้า (TOA, ICHI, SABINA, JUBILE, JMART, COM7, SYNEX, SIS)
หุ้นเด่น ได้แก่ AAV ที่จะได้รับประโยชน์จากเงินบาทแข็งค่า การเปิดประเทศของจีน และราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง นอกจากนี้ ราคาน้ำมันที่ชะลอตัวยังเป็นปัจจัยบวกต่อ GPSC, GULF และ ICHI
บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ระบุว่า เงินบาทที่แข็งค่ามากที่สุดในรอบ 8 เดือน เป็นผลดีกับหุ้นที่นำเข้าวัตถุดิบและสินค้าจากต่างประเทศ เช่น TVO, IT, COM7, JMART, SPVI, SIS,CPW และกลุ่มที่มีหนี้ต่างประเทศ โดยจะบันทึกกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้น เช่น กลุ่มโรงไฟฟ้า BGRIM, GPSC, GULF, EGCO, WHA, WHAUP, AMATA, BA, AAV