เปิดสังเวียน พอร์ต 3 แบงก์ใหญ่ กระจายลงทุนหุ้นระดับหลักหมื่นล้านบาท
เปิดพอร์ตธนาคาร 3 แห่งของเมืองไทย เข้าไปลงทุนในตลาดหุ้น มูลค่าหลักหลายหมื่นล้านบาท KTB พอร์ต 77,920.65 ล้านบาท ขณะที่ BAY มูลค่าพอร์ต 23,227.20 ล้านบาท และ KBANK พอร์ตหุ้น 1,302.46 ล้านบาท
ตลาดการเงินร้อนระอุ แข่งเดือดเพิ่มขึ้นทุกอณู ทั้งแบงก์รัฐ และแบงก์พาณิชย์ หลังจากที่หลายธนาคารเริ่มปรับทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ และล่าสุดกับจุดเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของธุรกิจอุตสาหกรรมธนาคาร และระบบการเงิน สู่ธนาคารเสมือนจริง หรือ Virtual Bank ที่จะทำให้เกิดการแข่งขันการให้บริการ และพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างหลากหลายมากขึ้น
ขณะเดียวกันในแต่ละปีธนาคารนอกจากจะมีรายได้จากการปล่อยกู้สินเชื่อ รวมถึงค่าธรรมเนียมต่างๆ และธนาคารยังเข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นไทยอีกด้วย
ทั้งนี้ ‘กรุงเทพธุรกิจ’ ได้ทำการสำรวจ ธนาคาร 3 แห่งของเมืองไทย ที่เข้าไปลงทุนในตลาดหุ้น ซึ่งมีมูลค่าพอร์ตการลงทุนหลายหมื่นล้านบาท (ข้อมูลตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ณ 16 มกราคม 2566)
1.ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB
ล่าสุดได้ลงนาม MOU กับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จํากัด (มหาชน) หรือ ADVANC เพื่อให้บริการ Virtual Bank หรือ ธนาคารไม่มีสาขา ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ โดยความร่วมมือดังกล่าวถือเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจ และตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าทั้งกลุ่มลูกค้าเดิมๆ และลูกค้าใหม่มากขึ้น ซึ่งรายละเอียดหรือรูปแบบธุรกิจต้องรอทางธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ประกาศกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนอีกครั้ง
หุ้น KTB มีมาร์เก็ตแคป 248,773.89 ล้านบาท ราคาปิด 16 ม.ค.2566 ที่ 17.80 บาท P/E 8.15 เท่า P/BV 0.69 เท่า อัตราผลตอบแทนเงินปันผล 2.35% ส่วนงบ 9 เดือน 2565 สินทรัพย์รวม 3,691,704.43 ล้านบาท รายได้รวม 108,179.63 ล้านบาท กำไรสุทธิ 25,588.55 ล้านบาท หนี้สิน 3,314,320.30 ล้านบาท
ปัจจุบัน KTB เข้าไปลงทุนในหุ้น 3 บริษัท ได้แก่
- บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC ธนาคารกรุงไทยเข้าไปถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 (ข้อมูลผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 19 เม.ย. 2565) จำนวน 1,270,908,500 หุ้น หรือ 49.29% ราคา ณ วันที่ 16 มกราคม 2566 ปิดที่ 59.00 บาท รวมมูลค่า 74,983.60 ล้านบาท
- บริษัท ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TIPH ธนาคารกรุงไทยเข้าไปถือหุ้นใหญ่อันดับ 4 (ข้อมูลผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 14 กันยายน 2565) จำนวน 59,429,000 หุ้น หรือ 10.00% ราคา ณ วันที่ 16 มกราคม 2566 ปิดที่ 49.00 บาท รวมมูลค่า 2,912.02 ล้านบาท
- บริษัท ไทยไวร์โพรดัคท์ จำกัด (มหาชน) หรือ TWP ธนาคารกรุงไทยเข้าไปถือหุ้นใหญ่อันดับ 9 (ข้อมูลผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 11 มีนาคม 2565) จำนวน 8,234,570 หุ้น หรือ 3.05% ราคา ณ วันที่ 16 มกราคม 2566 ปิดที่ 3.04 บาท รวมมูลค่า 25.03 ล้านบาท
รวมมีมูลค่าหุ้นทั้ง 3 หลักทรัพย์ 77,920.65 ล้านบาท
2.ธนาคาร กรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY
กรุงศรี ล่าสุดร่วมกับ Stripe ผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินระดับโลกสำหรับธุรกิจต่างๆ เปิดตัวการให้บริการโซลูชันการชำระเงินอย่างเป็นทางการในประเทศไทยผ่านเครือข่ายกรุงศรี เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ประกอบการทุกระดับในการทำธุรกรรมออนไลน์ที่ได้มาตรฐาน สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้เป็นการสร้างความแข็งแกร่งด้านดิจิทัลแบงกิ้ง และตอกย้ำถึงเป้าหมายของกรุงศรี ที่ต้องการเป็นผู้นำด้านการให้บริการโซลูชันทางการเงินดิจิทัลที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทุกระดับ
หุ้น BAY มีมาร์เก็ตแคป 233,545.44 ล้านบาท ราคาปิด 16 ม.ค.2566 ที่ 31.75 บาท P/E 7.86 เท่า P/BV 0.70 เท่า อัตราผลตอบแทนเงินปันผล 2.68% ส่วนงบ 9 เดือน 2565 สินทรัพย์รวม 2,590,135.14 ล้านบาท รายได้รวม 102,485.73 ล้านบาท กำไรสุทธิ 23,321.63 ล้านบาท หนี้สิน 2,256,092.47 ล้านบาท
ปัจจุบัน BAY เข้าไปลงทุนในหุ้น 4 บริษัท ได้แก่
- บริษัท อลิอันซ์ อยุธยา แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ AYUD ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เข้าไปถือหุ้นใหญ่อันดับ 7 (ข้อมูลผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 14 กันยายน 2565) จำนวน 12,124,600 หุ้น หรือ 3.11% ราคา ณ วันที่ 16 มกราคม 2566 ปิดที่ 42.00 บาท รวมมูลค่า 509.23 ล้านบาท
- บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เข้าไปถือหุ้นใหญ่อันดับ 10 (ข้อมูลผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 21 พฤศจิกายน 2565) จำนวน 16,441,100 หุ้น หรือ 0.51% ราคา ณ วันที่ 16 มกราคม 2566 ปิดที่ 74.75 บาท รวมมูลค่า 1,228.97 ล้านบาท
- บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ TIDLOR ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เข้าไปถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 (ข้อมูลผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 29 เมษายน 2565) จำนวน 695,695,530 หุ้น หรือ 30.00% ราคา ณ วันที่ 16 มกราคม 2566 ปิดที่ 30.50 บาท รวมมูลค่า 21,218.71 ล้านบาท
- บริษัท ทีทีดับบลิว จำกัด (มหาชน) หรือ TTW ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เข้าไปถือหุ้นใหญ่อันดับ 9 (ข้อมูลผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 7 กันยายน 2565) จำนวน 28,754,200 หุ้น หรือ 0.72% ราคา ณ วันที่ 16 มกราคม 2566 ปิดที่ 9.40 บาท รวมมูลค่า 270.28 ล้านบาท
รวมมีมูลค่าหุ้นทั้ง 4 หลักทรัพย์ 23,227.20 ล้านบาท
3.ธนาคาร กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK
ล่าสุดเข้าลงทุนใน บริษัท เงินเทอร์โบ จำกัด หรือเงินเทอร์โบ จำนวน 11.111 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% เพื่อสนับสนุนการเติบโตของเงินเทอร์โบในธุรกิจสินเชื่อรายย่อย สินเชื่อดิจิทัล นายหน้าประกันชีวิตและประกันวินาศภัย และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ โดยเงินเทอร์โบตั้งเป้าปีนี้ขยายสาขาเพิ่มขึ้น 1,000 สาขา พร้อมตั้งเป้าพอร์ตสินเชื่อคงค้างกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท หรือเติบโตกว่า 50%
หุ้น KBANK มีมาร์เก็ตแคป 367,245.78 ล้านบาท ราคาปิด 16 ม.ค.2566 ที่ 155.00 บาท P/E 8.65 เท่า P/BV 0.73 เท่า อัตราผลตอบแทนเงินปันผล 2.10% ส่วนงบ 9 เดือน 2565 สินทรัพย์รวม 4,229,795.37 ล้านบาท รายได้รวม 198,404.22 ล้านบาท กำไรสุทธิ 32,578.69 ล้านบาท หนี้สิน 3,672,186.88 ล้านบาท
ปัจจุบัน KBANK เข้าไปลงทุนในหุ้น 3 บริษัท ได้แก่
- บริษัท เฮงลิสซิ่ง แอนด์ แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ HENG ธนาคารกสิกรไทยเข้าไปถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 (ข้อมูลผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 7 มีนาคม 2565) จำนวน 381,000,000 หุ้น หรือ 10.00% ราคา ณ วันที่ 16 มกราคม 2566 ปิดที่ 3.10 บาท รวมมูลค่า 1,181.10 ล้านบาท
- บริษัท โรงพยาบาล ลาดพร้าว จำกัด (มหาชน) หรือ LPH ธนาคารกสิกรไทยเข้าไปถือหุ้นใหญ่อันดับ 7 (ข้อมูลผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 24 พฤศจิกายน 2565) จำนวน 16,800,000 หุ้น หรือ 2.33% ราคา ณ วันที่ 16 มกราคม 2566 ปิดที่ 5.70 บาท รวมมูลค่า 95.76 ล้านบาท
- บริษัท อาหารสยาม จำกัด(มหาชน) หรือ SFP ธนาคารกสิกรไทย เข้าไปถือหุ้นใหญ่อันดับ 7 (ข้อมูลผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 15 ธันวาคม 2565) จำนวน 200,000 หุ้น หรือ 0.95% ราคา ณ วันที่ 12 มกราคม 2566 ปิดที่ 128.00 บาท รวมมูลค่า 25.60 ล้านบาท
รวมมีมูลค่าหุ้นทั้ง 3 หลักทรัพย์ 1,302.46 ล้านบาท
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์