บล.บลูเบลล์ เปิดแผนปี 66 ชูธงผู้นำหุ้นกู้ดิจิทัล-ลุยขยายธุรกิจใหม่ เต็มสูบ
บล.บลูเบลล์ กางแผนปี 66 เตรียมเปิดบริการ"หุุ้นกู้ดิจิทัล" กลางปีนี้ หวังดันยอดออกหุ้นกู้สิ้นปีแตะ1.5 หมื่นล้าน ชูธงขึ้นท็อปเท็น ครึ่งปีหลังลุยธุรกิจใหม่ "บลน. -ตราสารหนี้ตลาดรอง -คราวด์ฟันดิ้" พร้อมจ่อขอไล่เซนไอซีโอพอร์ทัล-นายหน้าสินทรัพย์ดิจิทัลสิ้นปีนี้
นางสาวนริสรา ชัยวัฒนะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.บลูเบลล์ จำกัด หรือ BlueBell เปิดเผยว่า บริษัทได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์จากกระทรวงการคลัง เมื่อ 23 มี.ค.2565 และได้รับอนุญาตจาก สำนักงาน ก.ล.ต. ให้เริ่มประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์อันเป็นตราสารแห่งหนี้ เมื่อ 17 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา บริษัทมีทุนจดทะเบียนชำระเต็มจำนวน 25 ล้านบาท ซึ่งตนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ สัดส่วน 70% และทีมทำงาน ถือหุ้นในส่วนที่เหลือ
ทั้งนี้ บริษัทได้เริ่มบริการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ เปิดเสนอขายดีลหุ้นกู้ไปแล้วกว่า 23 ดีล รวม 34 รุ่น สิ้นปี 2565 มีมูลค่ายอดขายหุ้นกู้ ถึง 5,550.30 ล้านบาท มีกำไร 12 ล้านบาท ซึ่งมีกำไรตั้งแต่เดือนแรกที่เริ่มธุรกิจ และมีรายได้ 70 ล้านบาท
สำหรับทิศทางธุรกิจปี 2566 บริษัทเดินหน้าขยายธุรกิจใหม่เพิ่มเติม ตั้งเป้าหมายเติบโตก้าวกระโดด มีกำไร 50 ล้านบาท และรายได้ 170 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัวจากปีก่อน ด้วยการเป็นผู้นำระบบธุรกรรมจองซื้อหุ้นกู้ออนไลน์แบบเต็มรูปแบบตอบโจทย์ผู้ลงทุนในยุคดิจิทัล และพัฒนานวัตกรรมการลงทุนรูปแบบใหม่ที่แตกต่างจากในธุรกิจบล.ส่วนใหญ่เน้นหุ้นเป็นหลัก
นางสาวนริสรา กล่าวว่า จะเปิดบริการหุ้นกู้ดิจิทัลช่วงกลางปีนี้ (Digital Bond) คาดว่า มูลค่าเปิดขายหุ้นกู้ดิจิทัลตัวแรก มูลค่าไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ช่วยสนับสนุนเป้าหมายยอดขายหุ้นกู้ในปีนี้วางไว้ที่ 15,000 ล้านบาท เติบโต 300% ขึ้นติดอันดับ1 ใน10 ของธุรกิจจัดจำหน่ายหุ้นกู้
สำหรับธุรกิจจำหน่ายหุ้นกู้ในปีนี้ คาดว่า จะมีดีลเปิดเสนขายหุ้นกู้เพิ่มเติมราว 60 รุ่น หรือเฉลี่ย 5-6 รุ่นต่อเดือน ภายใต้ฐานลูกค้าผู้ประกอบการ 30 รายในตลาดหลักทรัพย์ฯ และกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ ปัจจุบัน ราว 4,000 ราย มีเงินลงทุนระดับ 3 ล้านบาทขึ้นไป พร้อมยังมีเงินลงทุนและแนะนำลูกค้ารายใหม่เพิ่มเติม
ขณะเดียวกันครึ่งหลังปีนี้ บริษัทยังเตรียมแผนขยายธุรกิจใหม่ โดยไตรมาส 3 เปิดบริการตัวแทนจัดจำหน่ายกองทุนรวม โดยจะผู้บริหารธุรกิจกองทุนรวมมาร่วมบริหาร รวมถึงเตรียมแผนในการดูแลผู้แนะนำการลงทุนอิสระ เพื่อช่วยขยายฐานกลุ่มลูกค้าเวลธ์รายใหม่ๆ เพิ่มเติมคาดว่าจะมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการในปีนี้ถึง 8,000 ล้านบาท
ในส่วนของบริการตราสารหนี้ตลาดรอง และ ผลิตภัณฑ์คราวด์ฟันดิง พร้อมเดินหน้าในไตรมาส 3 และ 4 ต่อไปเช่นกัน เชื่อมั่นว่า เติมเต็มธุรกิจได้อย่างครบวงจรอย่างที่ตั้งเป้าไว้ จะสามารถชูจุดยืนในการเป็นบริษัทหลักทรัพย์ชั้นนำได้อย่างแน่นอน
นอกจากนี้สร้างความแตกต่างทางธุรกิจและนำเสนอนวัตกรรมการลงทุนใหม่ๆ บริษัทเตรียมขยายธุรกิจผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal) และ ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับใบอนุญาตนายหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Broker)
บริษัท คาดว่า สิ้นปีนี้ จะสามารถยื่นขอในอนุญาตทั้งสองประเภทจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และน่าจะเริ่มธุรกิจนี้ได้ปี 2567 เพื่อเข้ามาตอบโจทย์ลูกค้าผู้ประกอบการที่ปัจจุบันมีความต้องการระดมทุนผ่านโทเคนดิจิทัล พร้อมกับให้ความรู้กับผู้ลงทุนควบคู่ไปด้วย