ผ่าสินทรัพย์สี่เสาหลัก เบื้องหลัง ‘กองหนี้’ ของอดานิ
ไฟแนนเชียล ไทมส์ ชี้ ธุรกิจหลัก 4 ด้านในพอร์ต อดานิ กรุ๊ป ได้แก่ ท่าเรือ โรงไฟฟ้า สนามบิน และปูนซีเมนต์ ยังคงมีพื้นฐานดี นักวิเคราะห์ชี้ ‘Adani Transmission’ เป็นธุรกิจที่ขายออกง่าย และมีแต่คนอยากได้
Key Points
- โกตัม อดานิ พยายามสร้างธุรกิจของเขาให้เป็น ‘จุดหมาย’ ของนักลงทุนที่อยากให้พอร์ตเติบโตล้อไปกับเศรษฐกิจอินเดีย
- นักวิเคราะห์ชี้ธุรกิจหลัก 4 ด้านของเขายังคงมีพื้นฐานดี
- ธนาคารกลางอินเดียมองบวก วิกฤติความเชื่อมั่นอดานิ อาจไม่กระทบธนาคารพาณิชย์ในประเทศที่ปล่อยกู้
โกตัม อดานิ สร้างตัวเองจนกลายมาเป็น ‘เจ้าพ่อ’ ผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในอินเดียผ่านการสร้างอาณาจักรโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ตั้งแต่ท่าเรือบรรจุคอนเทนเนอร์ที่พลุกพล่านที่สุดของประเทศ ไปจนถึงธุรกิจด้านพลังงาน มากไปกว่านั้น เขายังใช้เวลานานหลายปีในการยกระดับบริษัท ให้เป็นปลายทางของเหล่านักลงทุนที่ต้องการให้พอร์ตเติบโตแบบเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจอินเดีย เพราะธุรกิจของอดานิ ไม่ว่าจะเป็นด้านโลจิสติกส์ ด้านการไฟฟ้า หรือแม้กระทั่งศูนย์ข้อมูล ล้วนขยายตัวล้อไปกับเศรษฐกิจอินเดียมาอย่างยาวนาน
ในขณะที่อาณาจักรของมหาเศรษฐีผู้นี้กำลังตกอยู่ภายใต้ข้อกล่าวหาเรื่องธรรมาภิบาลในการประกอบธุรกิจจากฮินเดนเบิร์ก รีเสิร์ช บริษัทวิจัยและการลงทุนสัญชาติอเมริกัน ทว่าธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานของเขากลับยังสามารถจ่ายเงินคืนให้ผู้ถือหุ้นกู้บางรายได้ (บอนด์โฮลเดอร์) และหากมหาเศรษฐีผู้นี้จำเป็นต้องขายบริษัทใดก็ตามในเครือ คาดว่ากลุ่มบอนด์โฮลเดอร์เหล่านี้อาจเป็นบุคคลสำคัญกลุ่มแรกที่โกตัม อดานิ อยากพบมากที่สุด
อมิต แทนดอน ผู้ก่อตั้ง และกรรมการผู้จัดการของ Institutional Investor Advisory Services บริษัทให้บริการด้านการเงิน สัญชาติอินเดีย กล่าวว่า “สินทรัพย์ของโกตัม อดานิ ไม่ว่าจะเป็นท่าเรือ สนามบิน โรงไฟฟ้า หรือเหมืองล้วนเป็นธุรกิจที่จับต้องได้จริง”
ประกอบกับ มาเฮช กุมาร เชน รองผู้ว่าธนาคารกลางอินเดีย ย้ำว่า
ธนาคารกลางยังคงมองบวกเกี่ยวกับผลกระทบของวิกฤติอดานิต่อกลุ่มธนาคารพาณิชย์เนื่องจากธนาคารส่วนใหญ่ปล่อยกู้ให้บริษัท นำเงินไปใช้ในธุรกิจที่มีพื้นฐานดี และสร้างกระแสเงินสดสม่ำเสมอ
อย่างไรก็ตาม หนึ่งในผู้จัดการด้านการเงินแหล่งข่าวของสำนักข่าวไฟแนนเชียล ไทมส์ ซึ่งเห็นว่าวิกฤติอดานิจะสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวว่า แม้จะมีกระแสความกดดันเรื่องวิกฤติความเชื่อมั่นของอดานิที่ถาโถมมาอย่างต่อเนื่องในช่วงเกือบครึ่งเดือนที่ผ่านมา ทว่าอาจมีนักลงทุนที่เต็มใจซื้อกิจการโครงสร้างพื้นฐานของอดานิอยู่เพราะธุรกิจส่วนหนึ่งของเขามีมูลค่า และมีพื้นฐานดี “เรามองว่าท่าเรือขนส่งสินค้าเป็นสินทรัพย์ที่มีค่า รวมทั้งAdani Transmission และกิจการสนามบิน เหล่านี้เป็นธุรกิจที่ขายออกไปได้ง่าย เพราะมั่นคง รวมทั้งมีแต่คนอยากได้”
ด้านนักวิเคราะห์แหล่งข่าวของสำนักข่าวไฟแนนเชียล ไทมส์ ซึ่งเป็นนายธนาคารอยู่ในธนาคารพาณิชย์ที่ไม่ปล่อยกู้ให้อดานิ กรุ๊ป เห็นต่างในมุมนี้โดยระบุว่า “ถ้าโกตัม อดานิ มีสามัญสำนึกเขาคงขายธุรกิจบางธุรกิจไปตั้งแต่แรกๆ แล้ว”
ท่าเรือ
อดานิ สร้าง Adani Ports and Special Economic Zone Limited หรือ APSEZ ท่าแห่งแรกที่เมืองมุนดรา ในรัฐคุชราต โดยหวังให้ท่าเรือดังกล่าวเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์และการคมนาคมในประเทศ
หากคำนวณตามวอลุ่มการขนส่ง ปัจจุบัน APSEZ คือ ท่าเรือพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่สุดของอินเดีย ซึ่งครองสัดส่วนการขนส่งทางทะเลถึง 24% ของสัดส่วนทั้งหมด ด้านนักวิเคราะห์ต่างระบุว่า APSEZ คือ ธุรกิจท่าเรือที่โดดเด่นที่สุดในประเทศ
APSEZ รายงานว่า บริษัทเติบโตตามแผนของปีงบประมาณที่จะสิ้นสุดในเดือนมี.ค.ที่จะถึงนี้ อย่างไรก็ตามหนี้ของบริษัทยังคงสูงกว่ารายได้ถึงสามเท่า แต่บริษัทมีแผนชะลอการลงทุนเพื่อลดอัตราส่วนหนี้ต่อรายได้ดังกล่าวในอนาคต โดยบริษัท มีท่าเรือในพอร์ต 13 แห่ง รวมทั้งธุรกิจคลังสินค้า ไซโลธัญพืช และธุรกิจทางรถไฟ
ทั้งนี้ บริษัทได้ขยายธุรกิจไปต่างประเทศคือ อิสราเอล และศรีลังกา ทว่าเพิ่งจะถอนการลงทุนในเมียนมาเนื่องจากสถานการณ์การเมืองในประเทศที่ไม่สู้ดี
ด้านเงินสด และรายการเทียบเท่าเงินสดของ APSEZ ณ สิ้นปี 2565 อยู่ที่ 6.3 หมื่นล้านรูปี (ประมาณ 76 ล้านดอลลาร์)
นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งตั้งสมมติฐานว่าอดานิอาจใช้วิธีการทำให้ธุรกิจที่ยังเติบโตดีให้ ‘ลีน’ มากที่สุด จุดประสงค์เพื่อนำเงินส่วนต่างไปฟื้นฟูกิจการที่ได้รับผลกระทบจากรายงานของฮินเดนเบิร์ก
ผู้ถือบอนด์ลำดับที่ 2 ของ APSEZ กล่าวว่า “ความเสี่ยงน่ากลัวที่สุดตอนนี้คือ อดานิอาจใช้เงินของบริษัทเพื่อจุนเจือบริษัทอื่นในเครือที่มีปัญหาทางการเงิน”
พลังงาน
ผู้เชี่ยวชาญด้านความเสี่ยงทางเครดิต ประเมินว่า อดานิ กรุ๊ป จะไม่ขายธุรกิจในกลุ่มพลังงานเด็ดขาดถ้าไม่มีความจำเป็นจริงๆ “หากถามว่าธุรกิจใดในเครืออดานิ ที่มีมูลค่าส่วนผู้ถือหุ้นมาก (Equity Value) ผมมองว่าคือ Adani Transmission บริษัทโฮลดิงส์สินทรัพย์ด้านพลังงานทั่วอินเดีย ซึ่งก่อตั้งขึ้นครั้งแรกในปี 2549 น่าสนใจว่าหนึ่งในสินทรัพย์ที่บริษัทย่อยดังกล่าวเข้าไปถือหุ้นคือ ธุรกิจด้านการจัดจําหน่าย และ Qatar Investment Authority หน่วยงานกำกับดูแลกองทุนเพื่อความมั่งคั่งของกาตาร์ถือหุ้นถึง 25%”
น่าสนใจว่า อดานิ กรุ๊ป ยังคงลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่องส่งผลให้หนี้ของบริษัท อยู่ที่ประมาณห้าเท่าของรายได้
ทว่านายธนาคารจำนวนหนึ่งยังยืนยันว่าโครงการด้านพลังงานหลายแห่งของอดานิรวมถึงธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์ดําเนินการภายใต้คู่สัญญากับรัฐบาลซึ่งถือเป็นแหล่งเงินสดที่เชื่อถือได้
อนึ่ง Adani Transmission รายงานกําไรหลังหักภาษี ช่วง 3 เดือนก่อนถึงเดือนธ.ค. อยู่ที่ 4.8 พันล้านรูปี (ประมาณ 5.8 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 73% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
สนามบิน
ในปี 2561 อดานิ กรุ๊ป ได้รับชัยชนะ ‘อย่างน่าประหลาดใจ’ จากการผลักดันการแปรรูปสนามบินของอินเดียให้เป็นเอกชน โดยได้รับสิทธิในการดําเนินการ และพัฒนาสิ่งอํานวยความสะดวกหกแห่ง ผ่านการประมูลราคากับรัฐบาล และในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน อดานิ กรุ๊ป ได้ซื้อสนามบินที่เป็นที่นิยมมากที่สุดเป็นอันดับสองของอินเดีย ในนครมุมไบ รวมทั้งในขณะนี้เขากําลังสร้างสนามบินแห่งใหม่บริเวณใกล้เคียงกันด้วย
ซีเมนต์
เมื่อปีที่แล้ว อดานิ กรุ๊ป ได้กลายเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายใหญ่อันดับสองของอินเดียชั่วข้ามคืนจากการเข้าซื้อบริษัท Holcim’s Indian, Ambuja Cement และ ACC บริษัทย่อย ด้วยมูลค่า 1.05 หมื่นล้านดอลลาร์ (ประมาณ 3.465 แสนล้านบาท) โดย Ambuja Cement เป็นบริษัทที่ไม่มีหนี้สิน ทั้งยังมีเงินสด และรายการเทียบเท่าเงินสดทั้งหมด 1 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 3.3 หมื่นล้านบาท)
ด้านแหล่งข่าวนักวิเคราะห์ฝ่ายการเงินของสำนักข่าวไฟแนนเชียล ไทมส์ ชี้ว่า ธุรกิจซีเมนต์เป็นเหมือน ‘สินค้าทำเงิน’ ของบริษัทซึ่งอดานิอาจนำเงินไปใช้กับบริษัทอื่นได้
ส่วนแหล่งข่าววงในของไฟแนนเชียล ไทมส์ซึ่งใกล้ชิดกับอดานิ ระบุว่าวิธีคิดแบบนั้นไม่จริง และดูจะไร้สาระ
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์