OSP-CBG หวังโกยมาร์เก็ตแชร์ หลัง ‘กระทิงแดง’ ขึ้นราคา
“เครื่องดื่มชูกำลัง” เป็นหนึ่งในเครื่องดื่มยอดนิยมของคนไทย สะท้อนจากมูลค่าตลาดที่สูงราวๆ 2-3 หมื่นล้านบาท แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ตลาดดูจะซบเซาลงไปบ้าง ซึ่งก็เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจ ประกอบกับปัจจุบันผู้บริโภคมีตัวเลือกมากขึ้น
ขณะที่การแข่งขัน “เครื่องดื่มชูกำลัง” เป็นไปอย่างดุเดือด ระหว่าง 3 กลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ ได้แก่ บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) หรือ OSP ซึ่งมี 3 แบรนด์หลัก “M-150”, “ฉลาม” และ “ลิโพ” โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดรวมกันมากกว่า 50%
นอกจากนี้ ยังมีบริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CBG ของคุณเสถียร เสถียรธรรมะ เจ้าของ “คาราบาวแดง” และ กลุ่มทีซีพี หรือ “กระทิงแดง” ของตระกูลอยู่วิทยา
ที่ผ่านมา “ราคา” เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค ทำให้แต่ละแบรนด์พยายามตรึงราคามาโดยตลอด เฉลี่ยอยู่ที่ขวดละ 10 บาท เพราะถ้าขึ้นราคาผู้บริโภคพร้อมที่จะย้ายค่ายทันที เพราะเป็นสินค้าที่สามารถทดแทนกันได้
แต่เมื่อต้นทุนพุ่งไม่หยุด แต่ละค่ายเริ่มไม่ไหว นำโดยเจ้าตลาด “M-150” ประกาศขึ้นราคาตั้งแต่ต้นปี 2565 นับเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 37 ปี จากลังละ 425 บาท ขยับมาเป็น 435 บาท และ 520 บาท ตามลำดับ ส่งผลให้ราคาขายปลีกเพิ่มจากขวดละ 10 บาท เป็น 12 บาท
ล่าสุด ถึงคิว “กระทิงแดง” ขอขึ้นราคาขายปลีกเช่นกันจากขวดละ 10 บาท เป็น 12 บาท ส่วน “คาราบาวแดง” ที่ไม่เคยปรับขึ้นราคามาก่อนเลย ขายขวดละ 10 บาทมาตั้งแต่เปิดตัว แต่ปีนี้ คุณเสถียร ยอมรับว่าอยู่ระหว่างพิจารณาปรับราคาขายเช่นกัน หลังต้นทุนทั้งน้ำตาล ขวดแก้ว พลังงาน และแพคเกจจิ้ง พุ่งขึ้นถึง 15% สูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ออกสินค้ามากว่า 20 ปี
ด้าน บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุ หลังกระทิงแดงปรับราคาขายปลีกจาก 10 บาท เป็น 12 บาท น่าจะทำให้การแข่งขันในตลาดเครื่องดื่มชูกำลังลดลง เป็นปัจจัยบวกต่อทั้งกลุ่ม
โดยส่วนแบ่งทางการตลาดของ OSP น่าจะปรับตัวดีขึ้น หลังต้องสูญเสียมาร์เก็ตแชร์ให้กับคู่แข่งมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่มีการปรับขึ้นราคาเมื่อปีที่ผ่านมา โดยปัจจุบันมาร์เก็ตแชร์ของ OSP ลดลงเหลือ 47% เทียบกับช่วงก่อนขึ้นราคาที่ 54%
ส่วน CBG คาดว่าจะคงราคาเดิมต่อไป แต่จะได้รับจิตวิทยาเชิงบวกจากมาร์เก็ตแชร์ที่มีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้น
ฝ่ายวิจัยมองว่าจุดเปลี่ยนในครั้งนี้จะทำให้ตลาดมองบวกต่อกลุ่มผู้ประกอบการเครื่องดื่มชูกำลังมากขึ้น โดยเฉพาะ OSP (แนะนำซื้อเก็งกำไร ราคาเป้าหมาย 31 บาท) และอาจส่งผลให้มีการปรับประมาณการในระยะถัดไป ส่วน CBG (แนะนำซื้อ ราคาเป้าหมาย 111 บาท) รับจิตวิทยาบวกจากส่วนแบ่งที่จะเพิ่มขึ้น