เกาะกระแส “เหมืองโปแตซ” ขุมทรัพย์รอขุด TRC
รอบเกือบ 10 ปี การดำเนินการทำเหมืองในประเทศไทยปิดฉากลงหรือแทบจะไม่มีด้วยประเด็นทางกฎหมายและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการกลับมาของ “เหมืองโปแตช” ปี 2565 เป็นการฟื้นชีพ (ราคาหุ้น) ให้ "ทีอาร์ซี คอนสตรัคชั่น" หรือ TRC ภายใต้บริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน)
ด้วย TRC เข้าลงทุนกับกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรมตั้งแต่ ม.ค. ปี 2558 ได้รับประทานบัตรระยะเวลา 25 ปี หากแต่ยังไม่มีการดำเนินการเชิงพาณิชย์แต่อย่างใดด้วยปัจจัยการหาแหล่งเงินทุนไม่เพียงพอและราคาของแร่โปแตชที่สูงจนไม่ถึงจุดคุ้มทุน
หากแต่ราคาหุ้นของ TRC ปรับตัวขึ้นมาจากต้นปี 2566 อยู่ที่ 0.29 บาท ล่าสุด (28 ก.พ.66) ปิดที่ 0.73 บาท เพิ่มขึ้น 60 % และยังเป็นราคาสูงสุดในรอบ 5 ปี ซึ่งช่วงปี 2565 ราคาหุ้นสามารถแตะ 0.53 บาท จากสิ้นปี 2564 อยู่ที่ 0.10 บาท เรียกได้ว่าเป็น "หุ้นสายเก็งกำไร" ก็ว่าได้
ปี 2565 เริ่มมีการพูดถึง “เหมืองโปแตช” จากสถานการณ์รัสเซีย –ยูเครน ทำให้สินค้าคอมมูนิตี้พาเหรดปรับตัวสูงผิดปกติและหนึ่งนั้นคือ แร่โปแตช ที่ใช้ผลิตปุ๋ยโพแทสเซียม ซึ่งรัสเซียเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก ทำให้ราคาปุ๋ยยูเรียและแอมโมเนียมฟอสเฟต (DAP) เพิ่มจาก 400 ดอลลาร์ต่อตัน และ 500 ดอลลาร์ต่อตัน เพิ่มเป็น 1,200 ดอลลาร์ต่อตัน และ 1,300 ดอลลาร์ต่อตัน ตามลำดับ หรือเพิ่มขึ้น 160-200%
แน่นอนว่าไทยเป็นผู้นำเข้าแทบทั้งสิ้นทำให้ช่วงนั้นกระทรวงการคลังเสนอฟื้นโครงการ "เหมืองแร่โปแตชอาเซียน" จังหวัดชัยภูมิ มีวงเงินลงทุนรวม 63,800 ล้านบาท ทดแทนการนําเข้าแม่ปุ๋ยโพแทสเซียมจากต่างประเทศ 7-8 แสนตันต่อปี เพื่อช่วยให้เกษตรกรเข้าถึงปุ๋ยโพแทสเซียมราคาถูกลง 20-30%
เมื่อครม. เห็นชอบแต่ยังไม่สามารถเปิดดำเนินการได้เพราะปัญหาที่คาราคาซังที่มีอยู่คือ “ขาดเงินลงทุน” ในภาวะราคาแร่โปแตชสูงถึง 200 ดอลลาร์ต่อตัน ไม่คุ้มค่าที่จะทุ่มเงินลงไปจึงทำให้ไร้ความคืบหน้าโดยปริยาย
ปี 2566 เกิดกระแสข่าวทุนใหม่สนใจเข้าลงทุน ทั้ง บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) และรัฐบาลมาเลเซีย มีประเด็นผลพลอยได้จากการขุดโปแตชคือโซเดียมสามารถใช่เป็นวัตถุดิบผลิตแบตเตอรี่ประเภท Sodium-ion ได้ และยังมีต้นทุนต่ำกว่าแบตเตอรี Lithium-ion ซึ่งล่าสุดครม.มีการพิจารณาว่าจะเห็นชอบเพิ่มทุน เนื่องจากโครงสร้างการถือหุ้นของ “อาเซียนโปแตชชัยภูมิ” มีกระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่ด้วย
สัดส่วนการถือหุ้น TRC ถือหุ้น 25.13 % ผ่านบริษัทย่อย คือ TRC Investment Limited 22.46% และ TRC International Limited 2.67% ส่วนผู้ถือหุ้นรายอื่นประกอบไปด้วย -กระทรวงการคลัง 20 % และผู้ร่วมทุนอื่นๆ อีก 54.87 %
โครงการดังกล่าวที่ อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ โดยมีเป้าหมายกำลังผลิตแร่โพแทชเพื่อใช้ในการผลิตผลิตปุ๋ยโพแทสเซียม 1.235 ล้านตันต่อปี เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าแร่โพแทช 7-8 แสนตันต่อปี สำหรับผลผลิตส่วนเกินที่เหลือจะทำการส่งออกไปขายต่างประเทศเพื่อให้ได้รายได้เพิ่มขึ้นและคุ้มค่ากับการลงทุน ซึ่งมีทุนจดทะเบียน 29,472.04 ล้านบาท ทุนชำระแล้ว 2,805.80 ล้านบาท ดำเนินธุุรกิจเหมืองแร่โพแทช (ยังไม่ดำเนินงานเชิงพาณิชย์)
ที่ผ่านมา “เหมืองโปแตช” เป็นตุ้มถ่วงใหญ่สำหรับ TRC ด้วยสัญญาผูกพันจ่ายชำระเงินผลประโยชน์พิเศษ 8 งวด งวดละ 433 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 6.5 % ต่อปี รวม 569 ล้านบาท เริ่มตั้งแต่ปี 2561 ช่วงดังกล่าวมีการเพิ่มทุน 29 ล้านหุ้นให้ผู้ถือหุ้นรายเดิมที่ราคา 68.43 บาทปรากฎไม่มีผู้ชำระค่าหุ้น
จนปี 2562 มีการปรับราคาเสนอขายเพิ่มทุนเป็น 15.00 บาท ในอัตรา 4 หุ้นเดิมต่อ 5 หุ้นใหม่ ยังไม่สามารถได้แหล่งเงินตามที่กำหนด จึงทำให้ต้องหยุดดำเนินการในการลงทุนและก่อสร้างจนกว่าจะหาแหล่งเงินทุนได้
หากแต่ TRC จำเป็นต้องรับรู้ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องในงบการเงินจนทำให้มีการตั้งค่าเผื่อการด้อยค่าของเงินลงทุนสิ้นปี 2564 ที่ 1,213 ล้านบาท จากสินทรัพย์ที่มีเพียง 232 ล้านบาท และมีการตั้งค่าความนิยมที่ 847 ล้านบาท ทำให้รับรู้ขาดทุน 483 ล้านบาท
ล่าสุดถือว่าเป็นข่าวบวกหลัง ครม.ไฟเขียวให้กระทรวงการคลังเพิ่มทุน ตามสัดส่วนเหมืองโปแตชชัยภูมิ ก้อนแรกวงเงิน 90ล้านบาท เพื่อจ้างที่ปรึกษาประเมินความเป็นไปได้ของโครงการ หลังจาก ครม.อนุมัติยกหนี้ให้ 5,848 ล้านบาทก่อนหน้านี้
ตัวเลขตามงบดังกล่าวจะพลิกกลับมาทันทีหากมีการดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ มีการรับรู้รายได้เข้ามา ซึ่งราคาหุ้นจะรับรู้ได้ก่อนและมีโอกาสจะเทินร์อะราวด์จากปัจจุบัน TRC ขาดทุนต่อเนื่องและมีขาดทุนสะสม 900 ล้านบาท