ก.ล.ต.ชี้โทษ 14 รายชง DSI ฟัน ปมร่วมกันสร้างราคาหุ้น KC
ก.ล.ต. กล่าวโทษผู้กระทำความผิด 14 ราย ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI กรณีสร้างราคาหุ้น บริษัท เค.ซี. พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ KC
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำความผิด 14 ราย กรณีสร้างราคาหุ้นบริษัท เค.ซี. พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) (KC) ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้แก่
(1) นายธงชัย ลิ้มทองสิทธิคุณ
(2) นายไพศาล พาณิชย์ชะวงศ์
(3) นายภัทรภพ (ปัจจุบันชื่อ นายกฤติภัทร) อิทธิสัญญากร
(4) นายสุทัศน์ สิวาภิรมย์รัตน์
(5) Equities First Holdings, LLC (EFH)
(6) Mr. Vincent DeFilippo (นายวินเซนต์ เดอ ฟิลิปโป)
(7) Mr. Al Christy, Jr. (นายอเล็กซานเดอร์ ชาร์ลส คริสตี้ จูเนีย หรือ นายอัล คริสตี้ จูเนียร์)
(8) นายโชติพันธุ์ เตียวิวัฒน์
(9) นายอภิเชฐ ปุสรี
(10) นางสาวเพรชรัตน์ จรรยธรรมพต
(11) นายวสันต์ บุญสิริสกุล
(12) นางสาวพัชราวรรณ ปาจรีย์
(13) นางอัญชิสา บัวแก้ว และ
(14) นายชวนาถ สิทธิบุศย์
ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้รับข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตรวจสอบเพิ่มเติม พบการกระทำความผิดของบุคคล 14 ราย โดยแบ่งเป็นตัวการร่วม 12 ราย (ลำดับที่ 1 – 12) และผู้สนับสนุนให้ยืมใช้บัญชีซื้อขาย 2 ราย (ลำดับที่ 13 – 14) ร่วมกันในการสร้างราคาหุ้น KC ในช่วงวันที่ 5 มกราคม 2558 ถึงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2558 ทำให้ราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้น KC ในช่วงดังกล่าวผิดไปจากสภาพปกติของตลาด เพื่อจูงใจให้นักลงทุนรายอื่นเข้าซื้อหรือขายตาม
โดยมีการกระทำเป็นขบวนการ แบ่งหน้าที่กันทำ เพื่อประโยชน์ของกลุ่มผู้กระทำความผิด เริ่มตั้งแต่
(1) การติดต่อซื้อ Big lot หุ้น KC จากกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมเพื่อนำหุ้นไปขายในราคาสูงหลังมีการสร้างราคาให้กับผู้กระทำความผิดรายหนึ่งโดยการทำเป็นสัญญาขายและซื้อหุ้นคืน (Sale and Repurchase Agreement) หรือเรียกว่า “สัญญา REPO”
(2) การหาแหล่งเงินใช้ในการซื้อ Big lot หุ้น KC
(3) การสร้างราคาหุ้น KC เพื่อเตรียมการก่อนนำหุ้น KC ไปทำสัญญา REPO และ
(4) การนำหุ้น KC ที่รับซื้อมาจากสัญญา REPO ไปขายในราคาสูงหลังมีการสร้างราคา
การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายเป็นการปฏิบัติฝ่าฝืนมาตรา 243 (2) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ) ซึ่งปัจจุบันพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2559 ยังบัญญัติเป็นความผิดตามมาตรา 244/3 ซึ่งต้องระวางโทษตามมาตรา 296 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ (กฎหมายขณะกระทำความผิด)ประกอบมาตรา 83 และมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายอาญา (แล้วแต่กรณี) โดยกลุ่มผู้กระทำความผิดทั้งหมดได้รับประโยชน์เป็นเงินจำนวน 149.86 ล้านบาท จึงกล่าวโทษบุคคลทั้ง 14 ราย ต่อ DSI เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ทั้งนี้ การกล่าวโทษข้างต้นมีผลให้ผู้ถูกกล่าวโทษเข้าข่ายมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจในการเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียน* จึงไม่สามารถเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียน นับตั้งแต่วันที่ถูกกล่าวโทษไปจนตลอดระยะเวลาที่ถูกกล่าวโทษดำเนินคดี
พร้อมกันนี้ ก.ล.ต. ได้รายงานการดำเนินการดังกล่าวต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป เนื่องจากความผิดดังกล่าวเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542
อย่างไรก็ตาม การกล่าวโทษของ ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นขั้นตอนในอำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวน การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ ตลอดจนดุลพินิจของศาลยุติธรรม ตามลำดับ