HENG ปรับทัพรุก'สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ' ลดผลกระทบ สคบ.คุมเพดานดบ.
“เฮงลิสซิ่ง” ปรับกลยุทธ์ขยายพอร์ตสินเชื่อจำนำทะเบียนรถเป็น60% แทนสินเชื่อเช่าซื้อ ลดผลกระทบสคบ.คุมเพดานดอกเบี้ย เชื่อดันยีลด์สูงขึ้นแตะ 20-21% จากปีก่อน 19% มั่นใจพอร์ตโต 20-30% แตะ 1.4 หมื่นล้าน
นายวิชัย ศุภสาธิตกุล ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เฮงลิสซิ่ง แอนด์ แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ HENG เปิดเผยว่า สำหรับกลยุทธ์ของบริษัทในปีนี้ จะมุ่งขยายพอร์ตสินเชื่อจำนำทะเบียนรถมากขึ้นเป็น 60% จาก 35% และลดพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อรถลงเหลือ 35% จาก 60% ที่เหลืออีก 5% เป็นสินเชื่อประเภทอื่นๆ
ทั้งนี้เพื่อช่วยลดผลเชิงลบต่ออัตราผลตอบแทนจากการปล่อยสินเชื่อ หลังจาก สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) กำหนดเพดานควบคุมดอกเบี้ยเช่าซื้อรถไม่เกิน 15% เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่เดือน ม.ค.ที่ผ่านมานี้ และมีความเสี่ยงต่อการก่อหนี้ที่ไม่เกิดรายได้ (NPL) สูงกว่า เพราะเมื่อเทียบกับสินเชื่อจำนำทะเบียนรถให้อัตราผลตอบแทนปล่อยสินเชื่อที่ 22% และมีความเสี่ยงต่ำกว่า จะส่งผลให้บริษัทมีอัตราผลตอบแทนจากการปล่อยสินเชื่อเฉลี่ยโดยรวมดีขึ้นจาก 19% เป็น 20-21% ในปีนี้
นอกจากนี้ยังเป็นการขยายสินเชื่อใหม่ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันต่อเนื่อง ทำให้ต้นทุนการตั้งสำรองหนี้ลดลง และมั่นใจว่าคุม NPL ปีนี้ลดลงต่ำกว่า 3% หรือไม่เกิน 2.9% จากปีก่อนที่ 3%
ดังนั้นทำให้บริษัทจึงมั่นใจว่า สิ้นปีนี้มีโอกาสทำให้รายได้ และกำไรมากกว่าเป้าหมายที่วางไว้ โดยช่วง 2 เดือนที่ผ่านมานี้สามารถทำได้ดีกว่าเป้าหมายที่วางไว้แล้ว โดยเฉพาะกำไรทำได้มากกว่าถึง 6 เท่า
จากปีนี้บริษัทตั้งเป้ารายได้ และกำไรเติบโตตามการขยายพอร์ตสินเชื่อที่เติบโต 20-30% เป็นสินเชื่อรวม 14,400 ล้านบาท และสินเชื่อใหม่ 9,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 มีรายได้ 2,124 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 461 ล้านบาท และมีสินเชื่อรวม 12,021 ล้านบาท สินเชื่อใหม่ 6,590 ล้านบาท เติบโต 30% จากปีก่อนหน้า
“ตลาดสินเชื่อเช่าซื้อและจำนำทะเบียนรถปีนี้ยังแนวโน้มดีตามเศรษฐกิจฟื้นตัว และปกติเมื่อมีการเลือกตั้ง มีเงินเข้ามาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น ลูกหนี้มักจะมีความสามารถชำระหนี้ดีขึ้นและต้องการสินเชื่อมากขึ้นอีกด้วย"
นางสุธารทิพย์ พิสิฐบัณฑูรย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เฮงลิสซิ่ง กล่าวว่า ด้านการลงทุนปีนี้ วางงบไว้ที่185 ล้านบาท ขยายสาขา 70 ล้านบาท ตั้งเป้าขยายให้ครบ 830 สาขา ภายในไตรมาส 2 ปีนี้ จากปัจจุบันมีแล้ว 760 สาขาเน้นพื้นที่ใหม่ๆ ในภาคเหนือและอีสาน มีคนจำนวนมากและเรามีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว แม้ตลาดนี้แข่งขันดุเดือดจากคู่แข่งรายใหญ่ แต่มั่นใจไม่กระทบกับการขยายฐานลูกค้าใหม่และเป็นงบปรับปรุงระบบไอทีอีก 115 ล้านบาท รองรับการขยายงานอีก 1-2 ปีข้างหน้า
นอกจากนี้ ยังมีแผนออกหุ้นกู้ วงเงินไม่เกิน 2,000 ล้านบาท ยังอยู่ระหว่างจัดทำเรตติ้ง และกำหนดผลตอบแทนเหมาะสม คาดสามารถออกเสนอขายช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ เพื่อทดลองตลาด และอยากให้ตลาดรู้จักบริษัทมากขึ้น