ดอกเบี้ยสหรัฐฯ 5% กับการจัดพอร์ตและการลงทุนในปี 2023

ดอกเบี้ยสหรัฐฯ 5% กับการจัดพอร์ตและการลงทุนในปี 2023

ในเวลานี้ดูเหมือนว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ มีโอกาสสูงที่จะคงดอกเบี้ยในระดับสูงไว้ต่อเนื่องยาวนานกว่าที่นักลงทุนเคยมองไว้

อย่างน้อยก็น่าจะทั้งปี 2023 จากเรื่องของตัวเลขเศรษฐกิจที่อาจจะไม่ชะลอตัวเท่าที่คาดและการคาดการณ์เงินเฟ้อที่อาจจะไม่ลดลงเร็วจนสร้างความมั่นใจได้ว่าแรงกดดันเงินเฟ้อจะไม่กลับมาเป็นปัญหาอีก จากที่เคยมองไว้ว่าดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ

อาจจะเริ่มลดลงในช่วงไตรมาส 4 ปี 2023 ก็ถูกชะลอออกไปเป็นช่วงต้นไตรมาส 1 ปี 2024 ไม่นับว่าจุดสุดของดอกเบี้ยในรอบนี้จากเดิมที่มองไว้ในช่วง 5.00-5.25% เป็น 5.25-5.50% ในปัจจุบัน ซึ่งดอกเบี้ยในระดับ 5% ที่อาจจะคงอยู่ไปอีกพักใหญ่ๆ ในตลาดการเงินอีกอย่างน้อยก็น่าทั้งปี น่าจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนในปีนี้ในหลายๆ ช่องทาง ดังนี้

 

ประเด็นแรก คือ เรื่องของการจัดสรรสินทรัพย์ในพอร์ตฟอลิโอ (Asset Allocation) โดยเฉพาะในส่วนของนักลงทุนในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นนักลงทุนกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญมากที่สุดในตลาดการเงินโลกอยู่แล้ว

ผลกระทบในการจัดสรรน้ำหนักในพอร์ตโดยรวมจะเป็นประโยชน์ต่อตราสารหนี้มากกว่าตราสารทุน เช่น หากเราต้องการผลตอบแทนเท่าเดิมเหมือนที่เคยต้องการในอดีต ตามเป้าหมายการวางแผนการเงินและการลงทุนที่มี ณ ปัจจุบัน นักลงทุนไม่จำเป็นจะต้องจัดสรรน้ำหนักไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงจำนวนมากเหมือนในอดีตอีกต่อไป 

เนื่องจากปัจจุบัน ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 1 ปี ก็ให้ผลตอบแทนสูงถึงเกือบๆ 5% แตกต่างจากในอดีตที่ผลตอบแทนของการลงทุนในพันธบัตรช่วงอายุเดียวกันนี้ให้ผลตอบแทนใกล้เคียงศูนย์ การเปลี่ยนแปลงในลักษณะนี้ก็อาจจะส่งผลต่อสินทรัพย์เสี่ยงทางตรงด้วย เช่น ความน่าสนใจที่ลดลง หรือ ทางอ้อมผ่านทางการประเมินมูลค่า เช่น ระดับมูลค่าการซื้อขายที่วัดจากอัตราส่วนทางการเงินต่างๆ เช่น Price-to-Earning (P/E) นั้นอาจจะไม่สามารถอยู่ในระดับสูงเท่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้

เนื่องจากเมื่อเทียบกับตราสารหนี้ ผลตอบแทนจะต้องมากกว่าเดิมถึงจะเกิดแรงจูงใจ ซึ่งเป็นจุดที่นักลงทุนอาจจำเป็นจะต้องพิจารณาเพิ่มเติม เนื่องจากบ่อยครั้งอัตราส่วนเหล่านั้นมักจะถูกหยิบหยกมาเทียบกับช่วงเวลาในอดีตว่าสูงหรือต่ำกว่าเป็นตัววัดความน่าสนใจของการลงทุนในปัจจุบัน

ประเด็นที่สอง คือ เรื่องของต้นทุนทางการเงิน โดยช่องทางของการลงทุนและตลาดเงินก็จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อแนวโน้มของภาคธุรกิจที่ต้องแบกภาระดอกเบี้ยมากขึ้น ทำให้ผลประกอบการแย่ลง ความน่าสนใจในโครงการต่างๆ น้อยลง หรืออีกช่องทางผ่านการลงทุนในลักษณะที่มีการกู้ยืม (Leverage) เนื่องจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

แตกต่างจากหลายปีที่ผ่านมา ที่การกู้ยืมเงินดอลลาร์ สรอ. แทบไม่มีต้นทุน ก็จะทำให้การลงทุนในลักษณะของการกู้ยืม ที่เป็นเรื่องปรกติในตลาดหลักๆ เช่น สหรัฐฯ นั้น แทบจะทำได้ยากขึ้นมากๆ ซึ่งก็อาจจะทำให้สภาพคล่องในตลาดการเงินบางส่วนหดหายไปด้วย ในเรื่องของ Funding Cost ที่เพิ่มขึ้นแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องที่จะลดลง

ประเด็นที่สาม คือ เรื่องของต้นทุนในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน น่าจะเห็นกันไปบ้างแล้วในปีที่แล้วที่การเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนสามารถเปลี่ยนผลลัพท์ของการลงทุนจากขาดทุนเป็นกำไร หรือกำไรเป็นขาดทุนได้ ไม่เว้นแม้แต่การลงทุนในหุ้น

เนื่องจากความผันผวนที่ปรับตัวขึ้นมามาก ไม่เฉพาะค่าเงินบาทที่เราคุ้นเคยกันดี แต่ยังรวมถึงเงินสกุลหลัก เช่น ยูโร เยน หรือ เงินสกุลอื่นๆ ภูมิภาคเอเชีย โดยทั่วๆ ไป ต้นทุนการป้องกันความเสี่ยงคือส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยระหว่างสองประเทศ เช่น ปัจจุบันดอกเบี้ยในไทยอยู่ที่ระดับ 1.50%

 ในขณะที่ในสหรัฐฯ อยู่ที่ 5.00% การป้องกันความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยสำหรับนักลงทุนในไทยก็จะอยู่ที่ 3.50% ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับในช่วงหลายปีที่ผ่านมาที่ดอกเบี้ยอยู่ในระดับใกล้เคียงกันและแทบไม่มีต้นทุนในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเลย

โดยต้นทุนที่สูงขึ้นไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะการลงทุนของนักลงทุนไทย แต่เกิดขึ้นกับนักลงทุนในภูมิภาคอื่นๆ แทบจะทั่วโลก เนื่องจากสหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้น โดยต้นทุนในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เพิ่มขึ้น อาจจะทำให้การลงทุนในสหรัฐฯ มีความน่าสนใจลดลงสำหรับนักลงทุนต่างประเทศ ทำให้อาจจะมีเงินทุนไหลไปยังประเทศหรือภูมิภาคอื่นๆ แทนที่จะเป็นในสหรัฐฯ เช่น ในภูมิภาคเอเชียตามที่นักวิเคราะห์พูดแนะนำกันอย่างมากในช่วงต้นปี หรือยุโรปที่ดูเหมือนว่าความเสี่ยงด้านพลังงานและเงินจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เป็นต้น

การเปลี่ยนแปลงเรื่องของนโยบายการเงิน เศรษฐกิจ เงินเฟ้อ มักจะส่งผลเชื่อมโยงต่อกันทั้งทางตรงและทางอ้อม ในปี 2023 การลงทุนในภาพรวมแม้จะดูดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว จากความไม่แน่นอนที่ลดลงมาก แต่ก็ยังมีความเสี่ยงจากเรื่องของปัจจัยพื้นฐานทั้งแนวโน้มของการชะลอตัวของเศรษฐกิจและผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน ทำให้นักลงทุนยังคงต้องลงทุนด้วยความระมัดระวัง และปรับเปลี่ยนน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ อย่างเหมาะสมครับ

หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด