หุ้นโรงแรมเฮ! ‘เราเที่ยวด้วยกัน’สุดปังยอดจองทะลัก
ยังคงได้รับกระแสตอบรับถล่มทลายสำหรับโครงการ “เราเที่ยวด้วยกันเฟส 5” หลังเริ่มต้นคิกออฟเปิดให้จองห้องพักวันแรกตั้งแต่ 7 มี.ค. ที่ผ่านมา
ปรากฏว่ามีประชาชนให้ความสนใจจำนวนมาก เพียงแค่วันแรกมียอดจองเข้ามาแล้วกว่า 2.79 แสนสิทธิ จากจำนวนสิทธิทั้งหมด 5.6 แสนสิทธิ หรือ เฉลี่ยราวๆ 300 สิทธิ/นาที
ขณะที่ปัจจุบันมียอดจองสิทธิหมดเต็มโควต้า ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก ซึ่งตามไทม์ไลน์จะเริ่มต้นให้ Check in เข้าพักวันแรก 10 มี.ค., จองที่พักวันสุดท้าย 26 เม.ย., ให้ Check in เข้าพักวันสุดท้าย 29 เม.ย. และสิ้นสุดโครงการ Check out ออกจากที่พัก 30 เม.ย.
ด้วยเวลาในการใช้สิทธิที่ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับเฟสก่อนๆ จึงทำให้ประชาชนแห่จองห้องพักตั้งแต่วันแรกๆ และส่วนใหญ่จะเลือกไปใช้สิทธิเข้าพักในช่วงวันหยุดยาวสงกรานต์ โดยรัฐบาลยังคงช่วยสนับสนุนค่าห้องพัก 40% หรือ สูงสุดไม่เกิน 3,000 บาท/ห้อง/คืน โดยรอบนี้ปรับลดสิทธิเหลือเพียงคนละ 5 ห้อง หรือ 5 คืนเท่านั้น
นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับคูปองค่าอาหาร กิจกรรมท่องเที่ยว เหมือนเดิมอีกวันละ 600 บาท แต่ยกเลิกการให้ส่วนลดค่าตั๋วเครื่องบิน
ทั้งนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ประเมินว่าโครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 5 จะสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจรวมทั้งหมด 12,539 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้ทางตรงต่อผู้ประกอบการท่องเที่ยว 9,025 ล้านบาท และรายได้ทางอ้อมจากกิจกรรมต่อเนื่องอีก 3,334 ล้านบาท
สำหรับโครงการเราเที่ยวด้วยกันเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2563 เพื่อหวังกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ หลังภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของโควิด-19 ถือเป็นโครงการสำคัญที่มีส่วนช่วยพยุงการท่องเที่ยวไทย ช่วยผู้ประกอบการภาคการท่องเที่ยวให้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่เลวร้ายไปได้
ซึ่งหากย้อนกลับไปดูตั้งแต่เฟส 1-4 มียอดการใช้สิทธิเข้าพักรวมทั้งหมดกว่า 11.05 ล้านสิทธิ เงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจกว่า 4.9 หมื่นล้านบาท และหากรวมทั้ง 5 เฟส เท่ากับว่าช่วยสร้างรายได้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากกว่า 6 หมื่นล้านบาท
ความสำเร็จของโครงการเราเที่ยวด้วยกันช่วยต่อลมหายใจให้กับผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มโรงแรมที่ได้รับอานิสงส์ไปเต็มๆ สะท้อนจากผลประกอบการของหลายๆ บริษัทที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง
โดยบริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ERW น่าจะเป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากโครงการเราเที่ยวด้วยกันมากที่สุดเมื่อเทียบกับบริษัทอื่นๆ ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย เพราะโรงแรมเกือบทั้งหมดอยู่ในประเทศ
รายได้จากธุรกิจโรงแรมในปีที่ผ่านมา 2565 ฟื้นตัวอย่างโดดเด่น หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย กลับมาเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ โดยมีรายได้ 4,564 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 223% จากปี 2564 ที่ 1,415 ล้านบาท อัตราการเข้าพักเพิ่มเป็น 65% จาก 27% ค่าห้องพักเฉลี่ยอยู่ที่ 1,524 บาท/คืน จากปีก่อน 924 บาท/คืน และมีรายได้เฉลี่ยต่อห้องพัก 990 บาท/คืน จาก 251 บาท/คืน
ส่วนปีนี้ 2566 บริษัทมองว่าสถานการณ์จะดียิ่งขึ้นไปอีก ตามการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย การเปิดประเทศของจีน และมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ คาดว่ารายได้จะเติบโตไม่น้อยกว่า 45% จากอัตราการเข้าพักที่จะสูงกว่า 75-80% ราคาห้องพักจะเติบโต 20% และรายได้เฉลี่ยต่อห้องพักเติบโตกว่า 40%
ด้านบริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL ซึ่งมีโรงแรมทั้งในประเทศไทย มัลดีฟส์ และดูไบ ธุรกิจฟื้นตัวในทุกประเทศ โดยรายได้จากธุรกิจโรงแรมเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวอยู่ที่ 6,541 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,209 ล้านบาท หรือ 180% จากปี 2564 ที่มีรายได้ 2,332 ล้านบาท
ขณะที่อัตราการเข้าพักในประเทศไทยเพิ่มเป็น 47% จาก 15% และหากดูเฉลี่ยรวมทั้งหมดอยู่ที่ 52% จากปีก่อนที่ 19% ค่าห้องพักเฉลี่ยทั้งหมด 4,791 บาท/คืน จากปีก่อน 4,460 บาท/คืน ส่วนรายได้จากค่าห้องพักอยู่ที่ 2,486 บาท/คืน จาก 849 บาท/คืน
ส่วนแนวโน้มปีนี้ยังสดใส คาดอัตราการเข้าพักเฉลี่ยที่ 65-72% รายได้ต่อห้องพักเฉลี่ยเติบโต 30-37% มาอยู่ที่ 3,250 –3,400 บาท
อีกหนึ่งผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีเครือข่ายโรงแรมอยู่ทั่วโลก บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT ได้เห็นการฟื้นตัวเช่นกัน โดยมีอัตราการเข้าพัก 60% จากปีก่อน 36% ค่าห้องเฉลี่ย 5,029 บาท/คืน จาก 4,024 บาท/คืน และมีรายได้เฉลี่ยต่อห้องพัก 2,998 บาท/คืน จาก 1,462 บาท/คืน