หุ้น ‘Baidu’ พุ่ง 14% หลังโบรกมองบวกต่อผลิตภัณฑ์คล้าย ‘ChatGPT’ ตัวใหม่
หุ้น Baidu Inc. ขึ้น 17.50 ดอลลาร์ฮ่องกงหรือ 13.99% มาอยู่ที่ 142.60 ดอลลาร์ฮ่องกง เหตุโบรกเกอร์มองบวกเกี่ยวกับ ‘Ernie Bot’ ผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ซึ่งทำงานคล้ายกับ ChatGPT คู่แข่ง Alphabet Inc. และ OpenAI Inc แม้ก่อนหน้านักลงทุนผิดหวังจากวิธีการเปิดตัวแชทบอทดังกล่าวแบบวิดีโอ
หุ้นบริษัท Baidu Inc. หรือ 9888 ในตลาดหลักทรัพย์เขตปกครองพิเศษฮ่องกงพุ่ง 17.50 ดอลลาร์ฮ่องกง (ประมาณ 76.20 บาท) หรือ 13.99% มาอยู่ที่ 142.60 ดอลลาร์ฮ่องกง (ประมาณ 620.92 บาท) ณ วันนี้ (17 มี.ค.) เวลา 14.15 น. หลังจากโบรกเกอร์จำนวนหนึ่ง รวมถึงจากซิตี้กรุ๊ปมองบวกต่อ ‘Ernie Bot’ ผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ซึ่งทำงานคล้ายกับ ChatGPT ของบริษัทฯ
โลบิน ลี ผู้บริหารสูงสุดของ Baidu Inc.
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งมองว่าระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นหนึ่งในการแย่งชิงความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐ-จีน โดย Baidu ถือเป็น ‘บริษัทแนวหน้า’ ของจีนในในด้านนี้ด้วย และ Ernie Bot เป็นที่จับตาในฐานะ ‘เครื่องมือ’ ในการแข่งขันกับ Alphabet Inc. และ OpenAI Inc ผู้ผลิต ChatGPT
มิเรนดา จวง นักวิเคราะห์จากแบงก์ออฟอเมริกาและคณะ กล่าวว่า “เราลองทดสอบ ERNIE Bot ในหลายการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็น ขอคําแนะนํา, การวิเคราะห์, การเขียนงาน, การสร้างภาพ ซึ่งเราพอใจกับผลลัพธ์ อย่างไรก็ตาม กลุ่มทดลองยังอยู่ในวงแคบและจำนวนน้อยดังนั้นผลการทดลองนี้อาจไม่สามารถเป็นตัวแทนของผู้ใช้งานทั้งหมดได้ อย่างไรก็ดีเรามองว่า ERNIE Bot เป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่หยุดนิ่ง และเรียนรู้เพื่อพัฒนาตัวเองตลอดเวลา”
โลบิน ลี ผู้บริหารสูงสุดของ Baidu Inc.
ในวันเดียวกัน อลิเซีย แยป นักวิเคราะห์จากซิตี้กรุ๊ป และคณะ ระบุว่า แม้ Ernie Bot จะอยู่ในขั้นตอนพัฒนาและยังไม่สมบูรณ์ ทว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวยังสามารถตอบคำถามที่ซับซ้อนและคำถามเชิงปรัชญาส่วนใหญ่ได้เป็นอย่างดี
น่าสนใจว่า เมื่อวานนี้ก่อนที่จะมีบทวิเคราะห์เชิงบวกของโบรกเกอร์ออกมา หุ้นบริษัทฯ ย่อตัวลง 6.4% เนื่องจากโลบิน ลี ผู้บริหารสูงสุด เปิดเผยเดโม (Demo) การตอบคำถามของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวผ่านวิดีโอ ท่ามกลางความต้องการของนักลงทุนที่ประสงค์ให้บริษัทฯ แสดงศักยภาพของ Ernie Bot แบบเรียลไทม์
นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งชี้ว่า “รีวิวด้านบวกจากโปรกเกอร์มีผลโดยตรงทำให้หุ้นปรับตัวสูงขึ้น จากช่วงก่อนหน้าที่นักลงทุนผิดหวังเนื่องจากการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ในรูปแบบวิดีโอ ไม่ใช่แบบเรียลไทม์”