มูลค่าบอนด์เสี่ยงสูงของ Credit Suisse ดิ่ง 5 แสนล้านบาท หลัง UBS เทคโอเวอร์
มูลค่าหุ้นกู้พิเศษของธนาคาร Credit Suisse ลดลงประมาณ 1.6 หมื่นล้านฟรังก์สวิส ราว 1.73 หมื่นล้านดอลลาร์ (ประมาณ 5.709 แสนล้านบาท) หลังธนาคาร UBS เข้าควบรวมกิจการภายใต้การช่วยเหลือของธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ กูรูชี้ว่าเป็นการลดลงของมูลค่าหุ้นกู้ที่มากเป็นประวัติการณ์
Key Points
- มูลค่าของหุ้นกู้พิเศษที่ออกโดยธนาคาร Credit Suisse ลดลงประมาณ 1.6 หมื่นล้านฟรังก์สวิส ราว 1.73 หมื่นล้านดอลลาร์
- นักวิเคราะห์ชี้ว่าเป็นผลจากการควบรวมกิจการกับธนาคาร UBS ภายใต้การช่วยเหลือของธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์
- การลดลงของมูลค่าหุ้นกู้ในครั้งนี้เป็นครั้งที่มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยมูลค่าในตลาด AT1 ของยุโรปอยู่ที่ 2.75 แสนล้านดอลลาร์
- ในกรณีการควบรวมภายใต้การสนับสนุนจากธนาคารกลางฯ ครั้งนี้ ผู้ถือหุ้นแทนที่จะถูกลดทุน กลับได้รับหุ้นประมาณ 3 พันล้านสวิสฟรังซ์
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานวันนี้ (20 มี.ค.) ว่ามูลค่าของหุ้นกู้พิเศษที่ออกโดยธนาคาร Credit Suisse ลดลงประมาณ 1.6 หมื่นล้านฟรังก์สวิส ราว 1.73 หมื่นล้านดอลลาร์ (ประมาณ 5.709 แสนล้านบาท) ซึ่งเป็นตัวเลขการย่อตัวที่มากเป็นประวัติการณ์ หลังจากที่ UBS Group AG ธนาคารที่ใหญ่เป็นอันดับ 1 ของสวิตเซอร์แลนด์ประกาศเข้าซื้อกิจการด้วยเม็ดเงิน 3.3 พันล้านดอลลาร์ (ราว 1.089 แสนล้านบาท) จากข้อเสนอก่อนหน้าอยู่ที่อยู่ 1 พันล้านดอลลาร์ (ราว 3.3 หมื่นล้านบาท) ซึ่งต่ำกว่าราคาตลอดเกือบ 8 เท่า
ทั้งนี้ FINMA หน่วยงานกํากับดูแลด้านการเงินของสวิตเซอร์แลนด์กล่าวในแถลงการณ์บนเว็บไซต์ทางการว่า ข้อตกลงระหว่างธนาคาร Credit Suisse และ UBS Group AG ครั้งนี้จะส่งผลให้หุ้นกู้เพิ่มเติมแบบเทียร์ 1 (AT1) ของธนาคาร Credit Suisse มีมูลค่าต่ำกว่ามูลค่าแท้จริง (Complete Write-down) ในขณะเดียวกันผู้ถือหุ้นของธนาคารจะได้รับเงินคนละ 3 พันล้านฟรังก์ หรือประมาณ 3.24 พันล้านดอลลาร์ (ราว 1.0692 แสนล้านบาท) แทนการถูกลดต้นทุน
หุ้นกู้ชนิดนี้เป็นประเภทพิเศษชื่อว่า ‘Contingent Convertible Bonds’ หรือ CoCo เป็นหุ้นกู้แปลงสภาพตามเงื่อนไข โดยสิทธิ์ในการแปลงสภาพไม่ใช่สิทธิ์ของผู้ถือหุ้นกู้ตามปกติ ทว่าจะแปลงสภาพในกรณีที่บริษัทมีปัญหา ไม่ต่างกับหุ้นกู้ที่มีระเบิดมือติดไปด้วย ที่มีสลักที่อาจจะถูกดึงได้อยู่ตลอดเวลา
นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งประเมินว่าการลดลงของมูลค่าหุ้นกู้ในครั้งนี้เป็นครั้งที่มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยมูลค่าในตลาด AT1 ของยุโรปอยู่ที่ 2.75 แสนล้านดอลลาร์ (ประมาณ 9.075 ล้านล้านบาท)
ณ วันที่ 20 มี.ค. ธนาคาร Credit Suisse มีหุ้นกู้แบบ CoCo อยู่ทั้งหมด 13 หน่วย คิดเป็นมูลค่าพาร์ประมาณ 1.73 หมื่นล้านดอลลาร์ (ประมาณ 5.709 แสนล้านบาท) โดยธนาคารฯ ออกหุ้นกู้ดังกล่าวในหลายสกุลเงิน เช่น สวิสฟรังส์ ดอลลาร์ และดอลลาร์สิงคโปร์ ทว่า ธนาคารแห่งชาติสวิตเซอร์แลนด์ (SNB) ระบุว่ามียอดคงค้างประมาณ 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์ (ประมาณ 5.28 แสนล้านบาท)
หากคำนึงจากฉากทัศน์ปกติของการลงมูลค่าต่ำกว่าความเป็นจริงของสินทรัพย์ หรือ กระบวนการ Write-down โดยปกติแล้วสถานภาพของบัญชีฝั่งเครดิต ‘หนี้’ จะอยู่เหนือ ‘ส่วนของผู้ถือหุ้น’ เพราะในกรณีที่บริษัทมีปัญหา ผู้ถือหุ้นควรเป็นผู้รับความเสี่ยงและได้รับผลกระทบก่อนเป็นลำดับแรก
อย่างไรก็ตามในกรณีของธนาคาร Credit Suisse มีหุ้นกู้จำนวนหนึ่งที่มีมูลค่าให้ต่ำศูนย์ก่อนส่วนผู้ถือหุ้น ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้ถือหุ้นกู้ชนิดดังกล่าวของ Credit Suisse จะตอบสนองอย่างดุเดือดจากกรณีที่ธนาคารฯ ลดมูลค่าของหุ้นกู้ลงเพื่อชดเชยหนี้สินที่มีระดับความเสี่ยงสูง (to write down the bank’s riskiest debt)
ด้านแพทริค เคาฟ์มันน์ ผู้จัดการพอร์ตการลงทุนของ Aquila Asset Management AG กล่าวในกรณีดังกล่าวว่า “ทั้งหมดไม่มีเหตุผลเลย มันเหมือนเป็นการโยนระเบิดทั้งหมดไปที่ตลาด AT1 คุณโควตคำพูดนี้ผมได้เลย”
“ในกรณีการควบรวมภายใต้การสนับสนุนจากธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ผู้ถือหุ้นแทนที่จะถูกลดทุน กลับได้รับหุ้นประมาณ 3 พันล้านสวิสฟรังซ์ เป็นค่าตอบแทนส่งผลให้ผู้ถือหุ้นกู้ CoCo ไม่พอใจเป็นอย่างมาก”
เคาฟ์มันน์กล่าวต่อว่า แท้จริงแล้วเงินควรตกไปเป็นของผู้ถือ AT1 โดยไม่ต้องทิ้งอะไรไว้ให้ผู้ถือหุ้นเนื่องจาก “เราต้องเคารพลำดับชั้นของโครงสร้างเงินทุน (Capital Structure) ที่ว่าผู้ถือหุ้นต้องเป็นผู้รับความเสี่ยงเป็นลำดับแรก”
ทั้งนี้ หุ้นกู้ชนิด CoCo นี้มักจะออกเป็นหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ (Perpetual Bonds) ที่ไม่มีกำหนดไถ่ถอนที่ชัดเจน และมักจะให้สิทธิ์กับผู้ออกหุ้นกู้ในการไถ่ถอนได้ 5 ปีหลังจากวันที่ออกหุ้นกู้ เพราะมีต้นทุนสูง
ผู้ถือหุ้นกู้ชนิด AT1
กลุ่มบริษัทจัดการสินทรัพย์ที่ถือหุ้นกู้ที่ออกโดยธนาคาร Credit Suisse ชนิด AT1 ประกอบด้วย Investment Management Co., Invesco Ltd. และ BlueBay Funds Management Co. SA
หุ้นกู้ชนิด AT1 เข้ามาในยุโรปครั้งแรก เพื่อทำหน้าที่เป็น ‘โช้คอัพ’ (Shock Absorbers) หลังจากเกิดวิกฤติการเงินโลก ในขณะที่ธนาคารพาณิชย์จำนวนมากอยู่ในความเสี่ยงที่จะล่มสลาย โดยหุ้นกู้ชนิดนี้ออกมาแบบมาเพื่อกําหนดการสูญเสียถาวร (Impose Permanent Losses) ให้กับผู้ถือหุ้นกู้ หรืออาจแปลงหุ้นกู้ชนิดนี้เป็นส่วนของผู้ถือหุ้น (Equity) หากอัตราส่วนเงินทุน (Capital Ratios) ของธนาคารลดลงต่ำกว่าระดับที่กำหนดไว้ก่อนหน้า ซึ่งประโยชน์ของหุ้นกู้ชนิดนี้คือทําให้งบดุลของบริษัทอยู่ในเกณฑ์ที่มีสุขภาพดี และทำให้บริษัทยังสามารถดำเนินต่อไปได้
อย่างไรก็ตาม หากกรณีที่สถาบันการเงินมีเงินกองทุนต่ำกว่าที่กำหนดไว้ในเงื่อนไข หุ้นกู้ชนิดดังกล่าวจะถูกบังคับให้แปลงสภาพเป็นหุ้นบางส่วนหรือทั้งหมด ขึ้นอยู่กับว่าสถาบันการเงินนั้นขาดเงินกองทุนมากน้อยเพียงไร
ช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ราคาหุ้นกู้ข้างต้นผันผวนอย่างรุนแรงเนื่องจากผู้ค้ารวมตัวกันทำการซื้อขายในเซสชั่นสุดสัปดาห์ ทำให้ราคาขึ้นลงระหว่าง 20 เซ็นต์ ถึง 70 เซ็นต์ คาดว่าเป็นเพราะนักลงทุนพยายามทดลองชั่งน้ำหนักระหว่างสองฉากทัศน์ คือ
- หน่วยงานกำกับดูแลอาจโอนบางส่วนของธนาคาร Credit Suisse หรือทั้งหมดมาเป็นของรัฐ (Nationalization)
- UBS เข้าซื้อกิจการโดยไม่สร้างการขาดทุนให้กลุ่มผู้ถือหุ้นกู้
ระเบิดมือที่มากับหุ้นกู้ชนิด AT1
น่าสนใจว่า นักลงทุนจำนวนหนึ่งอาจไม่แปลกใจกับข้อเท็จจริงที่ว่าการเข้าซื้อกิจการของ UBS จะทำให้มูลค่าสินทรัพย์ดังกล่าวของ Credit Suisse ลดลง เนื่องจากพวกเขารู้ว่าสินทรัพย์ดังกล่าวอยู่ในช่วงดาวน์ไซด์ ท่ามกลางวิกฤติแบงก์รันในสหรัฐ
ด้านจอห์น แมคเคลน ผู้จัดการพอร์ตการลงทุนที่ Brandywine Global Investment Management กล่าวว่า ผู้ถือหุ้นกู้ชนิด AT1 ขณะนี้รู้ดีว่ากําลังซื้อสินทรัพย์เสี่ยง ‘ที่ให้ผลตอบแทนสูง’ (High-yield Risk Assets)
ท้ายที่สุด นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งมองว่า ในกรณีนี้ SNB อนุมัติให้ UBS เข้าซื้อกิจการของธนาคาร Credit Suisse เพื่อแก้ไขวิกฤติการณ์เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นจึงเข้าข่ายเงื่อนไข ‘Complete Write-down’ ซึ่งหุ้นกู้ทั้งหมดจะถูกตัดจำหน่าย เพื่อเพิ่มเงินกองทุนเทียร์ 1