จาก ‘SVB’ ถึง ‘Deutsche Bank’ เกิดอะไรขึ้น? กับสถาบันการเงินระดับโลก

จาก ‘SVB’ ถึง ‘Deutsche Bank’ เกิดอะไรขึ้น? กับสถาบันการเงินระดับโลก

ตลอดเดือน มี.ค.ทุกสายตาต่างจับจ้องไปที่กลุ่มแบงก์ทั่วโลก ท่ามกลางวิกฤติแบงก์รัน โดยเฉพาะในสหรัฐ-ยุโรป เริ่มตั้งแต่ซิลเวอร์เกต แคปิตอล, ซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์, เฟิร์สท์ รีพับลิค แบงก์ และเครดิตสวิส โดยล่าสุดลามไปถึงธนาคารที่มีความสำคัญของเยอรมัน อย่าง “ดอยซ์ แบงก์”

Key Points

  • ช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา สายตาทุกคู่คล้ายจะจับจ้องไปที่ “กลุ่มธนาคารพาณิชย์” อย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางความกังวลวิกฤติแบงก์รัน หลังการล่มสลายของธนาคารบางส่วนในสหรัฐ
  • แม้นักวิเคราะห์มองว่า สถานการณ์แบงก์รันในสหรัฐปรับตัวดีขึ้น แต่ด้วยความเปราะบางของเครดิต สวิส และนักลงทุนรายใหญ่ไม่เพิ่มเงินสนับสนุน ส่งผลให้ท้ายที่สุด ยูบีเอสต้องเข้ามาเทคโอเวอร์ 
  • ปัญหายังไม่จบ ล่าสุดหุ้นธนาคารดอยซ์แบงก์ร่วงลงไปราว 15% หลังจากผู้บริหารแจงว่าจะซื้อหุ้นกู้แบบตราสารหนี้ด้อยสิทธิระยะยาวเทียร์ 2 กลับมาก่อนครับระยะเวลาที่กำหนด 
  • นักวิเคราะห์ประเมินว่า สถานการณ์ของธนาคารดอยซ์แบงก์ยังอยู่ในเกณฑ์ดี และไม่น่าจะเป็นธนาคารเครดิตสวิสรายต่อไป

ช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา สายตาทุกคู่คล้ายจะจับจ้องไปที่ “กลุ่มธนาคารพาณิชย์” อย่างต่อเนื่อง เริ่มต้นตั้งแต่ในวันที่ 9 มี.ค. เมื่อเกิดการล่มสลายของธนาคารซิลเวอร์เกต แคปิตอล  (Silvergate Capital) ธนาคารที่เน้นปล่อยสินเชื่อให้บริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมคริปโทเคอร์เรนซี

จาก ‘SVB’ ถึง ‘Deutsche Bank’ เกิดอะไรขึ้น? กับสถาบันการเงินระดับโลก

ต่อมาในวันที่ 10 มี.ค. ที่ลูกค้ารายใหญ่และรายย่อยของธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (Silicon Valley Bank) หรือ SVB แห่เข้าไปถอนเงินพร้อมกันอย่างร้อนแรงจนเกิดสถานการณ์แบงก์รัน (Bank Run) ส่งผลให้ทางการสหรัฐต้องรีบเข้าไปปิดธนาคารดังกล่าว พร้อมประกาศรับประกันเงินฝากให้ประชาชนทุกราย หวังแก้ไขสถานการณ์ไม่ให้ลามเป็นวิกฤตการณ์ทางการเงินคล้ายช่วงวิกฤตเลห์แมน บราเธอร์ส ในปี 2551 ที่เกิดสถานการณ์แบงก์รันแต่ทางการสหรัฐกลับประกาศไม่อุ้มเงินฝากจนลามเป็นวิกฤตการณ์ทางการเงินอื่นๆ ตามมา 

รวมทั้งหุ้นธนาคารเฟิร์สท์ รีพับลิค แบงก์ (First Republic Bank) ย่อตัวลงกว่า 15% ในวันที่ 23 มี.ค. จากความกังวลในวิกฤตธนาคารพาณิชย์ช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับถ้อยแถลงของเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ ประกาศท่ามกลางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ว่า ไม่สามารถรับประกันเงินฝากให้ประชาชนได้ครบทุกราย

 

อ่านเพิ่มเติม 

บทเรียนวิกฤต Bank Run "2 ธนาคาร" ล้มในสัปดาห์เดียว ความผิดอยู่ที่ใคร?

"หุ้นแบงก์ยุโรป" ร่วงเกือบ 6% เผชิญแรงกดดันจาก SVB

 

หลังจากนั้นไม่นาน สถานการณ์ในสหรัฐ “ดูเหมือน” จะปรับตัวไปในทางที่ดีขึ้น ทว่าความกังวลในกลุ่มธนาคารพาณิชย์กลับเริ่มลุกลามไปยังภูมิภาคอื่นๆ จนทำให้หน้าหุ้นในกลุ่มดังกล่าวย่อตัวลงตามกันไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในทวีปยุโรปที่นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งประเมินว่ามี “โครงสร้างและความท้าย” คล้ายคลึงกับกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐ

จุดเริ่มต้นความปั่นป่วนในภาคธนาคารยุโรป

จนกระทั่งหลังจากสถานการณ์ความปั่นป่วนในภาคธนาคารสหรัฐเริ่มขึ้นราว 1 สัปดาห์ ในวันที่ 13 มี.ค. หน้าหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ของยุโรปก็ร่วงลงเฉลี่ย 6% โดยหากแยกเป็นรายตัวจะประกอบด้วย หุ้นคอมเมิร์ซแบงก์ เอจี (Commerzbank AG), เครดิต สวิส กรุ๊ป เอจี (Credit Suisse Group AG), บาวัก กรุ๊ป เอจี (BAWAG Group AG) และ บันโค บีพีเอ็ม เอสพีเอ (Banco BPM SpA) ดิ่ง 11.72%, 10.46%, 8.56% และ 8.49% ตามลำดับ 

รวมทั้งในวันเดียวกัน ดัชนีฟุตซี เอ็มไอบี (FTSE MIB Index) ของอิตาลีเคลื่อนไหวในระดับที่ต่ำกว่า (Underperformed) ดัชนีอื่นในภูมิภาค โดยลดลง 1,208.96 จุด หรือ 4.43% มาอยู่ที่ 26,073 จุด เนื่องจากมีหุ้นธนาคารพาณิชย์ในพอร์ตการลงทุนจำนวนมาก

จาก ‘SVB’ ถึง ‘Deutsche Bank’ เกิดอะไรขึ้น? กับสถาบันการเงินระดับโลก

ต่อมาในวันที่ 15 มี.ค. เว็บไซต์อินเวสติงดอทคอม (Investing.com) รายงานว่า หุ้นธนาคารเครดิต สวิสร่วงลงต่ออีก 24% หลังจากธนาคารแห่งชาติซาอุดีอาระเบีย (Saudi National Bank) หรือ SNB ผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดของธนาคารเครดิต สวิสชี้ชัดว่า ไม่สามารถเพิ่มสัดส่วนการลงทุนกับธนาคารเครดิต สวิสได้แล้ว เนื่องจากนโยบายของธนาคารระบุไว้ชัดเจนว่าจะลงทุนในธนาคารดังกล่าวไม่เกิน 10%

ก่อนหน้านั้น ธนาคารเครดิต สวิสชะลอการปล่อยรายงานประจำปี 2565 เนื่องจากได้รับสายโทรศัพท์จากสํานักงานคณะกรรมการกํากับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา (ก.ล.ต.) ช่วงกลางดึก

จากเหตุการณ์ดังกล่าวประกอบกับข่าวการพัวพันด้านการทุจริต และการขายสินทรัพย์โดยผิดกฎหมายในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ต้นปี 2565 ลูกค้าของธนาคารเครดิต สวิสจำนวนมากแห่ถอนเงินลงทุนออกจากธนาคารฯ อย่างมหาศาล

ใหญ่เกินกว่าจะปล่อยให้ล้ม (?)

อย่างไรก็ตาม ด้วยความเก่าแก่ มีความสำคัญสูง และมีโครงข่ายเชื่อมโยงกับธนาคารพาณิชย์อื่น ๆ ทั้งในยุโรปและสหรัฐส่งผลให้ผู้กำกับสถาบันการเงินสวิตเซอร์แลนด์ (FINMA) จำเป็นต้องรีบประกาศให้ความช่วยเหลือธนาคารเครดิต สวิสทันที เพราะเกรงว่าหากปล่อยให้ธนาคารฯ ล่มสลายไปเหมือน SVB อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศอย่างมีนัยสำคัญ

จนท้ายที่สุด ยูบีเอส กรุ๊ป เอจี (UBS Group AG) ธนาคารรายใหญ่ที่สุดในสวิตเซอร์แลนด์ประกาศเข้าซื้อกิจการของเครดิต สวิสเมื่อวันที่ 19 มี.ค. ด้วยเม็ดเงินประมาณ 3.3 พันล้านดอลลาร์ (ราว 1.089 แสนล้านบาท) 

 

อ่านข่าวเพิ่มเติม

หุ้น เครดิตสวิสร่วงแรง 24% หลังนักลงทุนซาอุฯ ถอนการช่วยเหลือ

ไขปม "หุ้นเครดิตสวิส" ราคาดิ่งลงเหลือ 60 บาท ปัญหาส่วนตัวหรือวิกฤต SVB

4 สิ่งต้องรู้จาก "ดีลประวัติศาสตร์" ของสองแบงก์ยักษ์ใหญ่สวิตเซอร์แลนด์

 

ล่าสุด ท่ามกลางบทวิเคราะห์มากมายที่ประเมินเป็นเสียงเดียวกันว่าวิกฤตการณ์ทางการเงินทั้งในสหรัฐและทวีปยุโรปต่างปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ดี เมื่อวันศุกร์ผ่านมา (24 มี.ค.) หุ้นดอยซ์แบงก์ (Deutsche Bank) ธนาคารเพื่อการลงทุนและสถาบันการเงินรายใหญ่ที่สุดของประเทศเยอรมนี ดิ่งลงมากถึง 15% สู่ระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือน จนทำให้มูลค่าตลาด (Market Value) หายไปราว 3 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 9.9 หมื่นล้านบาท) ภายในหนึ่งสัปดาห์ หรือหายไปประมาณ 1 ใน 5 ของมูลค่าทางการตลาดเดิม ประกอบกับตัวเลขที่บ่งบอกถึง "Credit Default Swap" หรือ CDS ปรับตัวสูงขึ้น 2.2% จากเดิม 1.42% เมื่อวันที่ 20 มี.ค. หรือเพียง 2 วันก่อนวันหุ้นร่วง

ทั้งนี้ CDS คือรูปแบบอนุพันธ์ทางการเงินรูปแบบหนึ่งที่นักลงทุนฝั่งซื้อใช้เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการโดนผิดนัดชำระหนี้หรือความเสี่ยงด้านการเงินประเภทอื่นๆ ซึ่งหากตัวเลขที่บ่งบอกถึงอัตรา CDS พุ่งสูงขึ้นก็หมายความว่าความน่าจะเป็นในการผิดนัดชำระหนี้ก็เพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน

มุมมองนักวิชาการต่อสภาวะหุ้นดอยซ์ แบงก์

ด้านดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ และประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) แสดงความคิดเห็นผ่านสื่อสังคมออนไลน์ส่วนตัวถึงเหตุผลการย่อตัวของหุ้นธนาคารดอยซ์แบงก์ว่า

“ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่มีความอ่อนไหว ข่าวทุกข่าวมีความหมายและนัยในตัวเอง โดยเมื่อวันที่ 23 มี.ค. มีข่าวว่าธนาคารดังกล่าวต้องการที่จะซื้อหุ้นกู้แบบตราสารหนี้ด้อยสิทธิระยะยาวเทียร์ 2 (Tier 2 Subordinated Debt) คืนก่อนกำหนดระยะเวลาเดิมคือ 5 ปี ซึ่งสามารถทำได้เพราะเป็นไปตามเงื่อนไขตามหนังสือชี้ชวนการลงทุน ซึ่งปกติแล้ว ข่าวแบบนี้จะสะท้อนว่าแบงก์อยู่ในฐานะดีและสามารถลดหนี้ได้ แต่ข่าวนี้ได้กลับกลายเป็นจุดเริ่มของความผันผวนรอบใหม่ ทำให้ทุกสายตาหันไปจับจ้องธนาคารดังกล่าวว่ามีปัญหาอะไรเปล่าทำไมถึงทำเช่นนี้ รวมทั้ง ตัวเลข CDS ของหุ้นกู้ของธนาคารฯ ก็ปรับเพิ่มสูงขึ้น ทั้งหมดจึงเป็นที่มาของการเทขายหุ้น

จาก ‘SVB’ ถึง ‘Deutsche Bank’ เกิดอะไรขึ้น? กับสถาบันการเงินระดับโลก ทั้งๆ ที่ช่วงที่เกิดปัญหาในสวิตเซอร์แลนด์ เห็นชัดว่าเงินฝากจำนวนหนึ่งได้ไหลไปที่ธนาคารดอยซ์แบงก์ รวมทั้งธนาคารฯ ก็เพิ่งประกาศกำไรสูงสุดในรอบ 15 ปี ที่ประมาณ 5.5 พันล้านดอลลาร์ (ราว 1.815 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์ (ราว 6.6 หมื่นล้านบาท) ในปีก่อนหน้า การที่เกิดเรื่องเช่นนี้ได้ ก็คงเพราะช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่ไม่ปกติ และเมื่อประชาชนได้ยินข่าวอะไรที่แปลกออกไป ก็อาจมีปัญหาตามมาได้ เช่นกรณีนี้เป็นต้น”

แต่ดอยซ์แบงก์ยังไม่ใช่เครดิต สวิส รายต่อไป

อย่างไรก็ดี สจวร์ต แกรห์ม และลีโอนา หลี่ นักวิเคราะห์ของบริษัทวิจัย "ออโตโนมัส" (Autonomous) เปิดเผยกับสำนักข่าวซีเอ็นบีซี (CNBC) ว่า ภาพรวมของธนาคารดอยซ์แบงก์อยู่ในเกณฑ์ดี และ “ทุกอย่างอยู่ภายใต้การควบคุม” รวมทั้งสถานการณ์ “ไม่น่ากังวล” ผ่านการอ้างอิงถึงสถานะเงินทุนและสภาพคล่องที่แข็งแกร่ง

“เราไม่มีความกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้หรือเกี่ยวกับทรัพย์สินของดอยซ์แบงก์เลย และผมขอยืนยันอย่างชัดเจนอีกครั้งว่าดอยซ์แบงก์ไม่ใช่ธนาคารเครดิต สวิสรายต่อไป และที่สำคัญดอยซ์แบงก์ยังคงทํากําไรได้อย่างมั่นคงและต่อเนื่อง”