ตราสารหนี้เสี่ยงโดนแรงขาย หลัง ‘ไช่ อิงเหวิน’ เยือนสหรัฐกดเงินเอเชียอ่อน

ตราสารหนี้เสี่ยงโดนแรงขาย หลัง ‘ไช่ อิงเหวิน’ เยือนสหรัฐกดเงินเอเชียอ่อน

การเยือนสหรัฐของ “ไช่ อิงเหวิน” ประธานาธิบดีไต้หวัน ไม่เพียงส่งผลกระทบในเชิงภูมิรัฐศาสตร์เท่านั้น แต่กระทบตลาด “ตราสารหนี้ไทย” ด้านกูรูประเมินเป็นโอกาสเข้าซื้อหุ้นเทคฯ – เฮลท์แคร์จีน

Key Points

  • ไช่ อิงเหวิน ประธานาธิบดีของไต้หวันจ่อพบเควิน แมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ
  • โฆษกสำนักงานกิจการไต้หวันของจีนชี้ไม่เห็นด้วย และจะดำเนินมาตรการตอบโต้ที่เข้มงวด
  • ย้อนกลับไปอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐเคยเยือนไต้หวันปีที่แล้ว จนรัฐบาลจีนระงับการส่งออกสินค้า ประกอบกับตลาดหุ้นในภูมิภาคปรับตัวลดลง
  • นักเศรษฐศาสตร์ประเมินหากหุ้นเทคฯ - เฮลท์แคร์จีน ปรับตัวลงอาจเป็นโอกาสเข้าซื้อ

ไม่กี่วันที่ผ่านมา สำนักข่าวจำนวนมากรายงานสอดคล้องกันว่า ไช่ อิงเหวิน (Tsai Ing-wen) ประธานาธิบดีของเกาะไต้หวันหรือสาธารณรัฐจีน (Republic of China) จะพบปะกับเควิน แมคคาร์ธี (Kevin McCarth) ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ จากพรรครีพับลิกันอย่างไม่เป็นทางการในวันพุธ ที่ 5 เม.ย.2566 หลังเสร็จภารกิจเยือนพันธมิตรในประเทศแถบอเมริกากลาง ซึ่งเป็นการแวะพักเครื่องบินที่รัฐแคลิฟอร์เนียก่อนเดินทางกลับเกาะไต้หวัน

ทั้งนี้การพบปะดังกล่าวจะจัดขึ้นที่หอสมุดประธานาธิบดีเรแกน (The Ronald Reagan Presidential Library) ในเมืองซิลิคอน วัลเลย์ รัฐแคลิฟอร์เนีย

หลังจากข่าวดังกล่าวเผยแพร่ออกมาสู่สาธารณะ จู เฝิงเหลียน (Zhu Fenglian) โฆษกสำนักงานกิจการไต้หวันของจีนกล่าวเมื่อวันที่ 29 มี.ค. ว่า การเดินทางไปต่อเครื่องที่สหรัฐของประธานาธิบดีของเกาะไต้หวันครั้งนี้ถือเป็นการพบปะกับเจ้าหน้าที่ระดับสูง และสมาชิกรัฐสภาของสหรัฐ มิใช่การรอเปลี่ยนเครื่องที่สนามบินอย่างที่อ้าง

“ถ้าประธานาธิบดีไช่ ได้พบปะกับแมคคาร์ธีจริง ก็ถือเป็นการกระทำที่ยั่วยุ ละเมิดหลักการจีน ทำลายอธิปไตย และบูรณภาพแห่งดินแดนจีน ทำลายสันติภาพ รวมทั้งเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวันด้วย”

โดยโฆษกสำนักงานกิจการไต้หวันของจีนกล่าวทิ้งท้ายอย่างปลายเปิดว่า ไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าว และหากเกิดเหตุการณ์นั้นขึ้นจริง ทางการจีนจะออกมาตรการตอบโต้อย่างเข้มงวด (Firm Measures) เพื่อรักษา “อธิปไตย” และ “บูรณภาพแห่งดินแดน” ไว้ ทว่าไม่ลงรายละเอียดถึงมาตรการดังกล่าวอย่างชัดเจน

ด้านสำนักข่าวโกลบอล ไทม์ส (Global Times) สื่อของรัฐบาลจีน รายงานผ่านบทวิเคราะห์ “Tsai’s activities in US will make it ‘more difficult’ for Biden to engage China” เมื่อวันที่ 3 เม.ย. ว่า 

“จากการดำเนินการของทั้งสหรัฐ และไต้หวันในครั้งนี้ ที่ไม่ออกหน้าออกตามากนัก เป็นข้อบ่งชี้ชัดเจนว่าทั้งคู่เรียนรู้บทเรียนอะไรบางอย่างจากท่าทีตอบโต้ที่แข็งกร้าวของจีน หลังจากการที่แนนซี เพโลซี (Nancy Pelosi) อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ เดินทางไปเกาะไต้หวันเมื่อปีที่แล้ว

“อย่างไรก็ดี การเดินทางประธานาธิบดี ไช่ ยังไม่จบลง ดังนั้นเรา [จีน] ยังคงต้องจับตาดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และท่าทีของทางการจีนต่อจากจะเป็นอย่างไรนั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่าประธานาธิบดีไช่ กระทำการต่างๆ อย่างโจ๋งครึ่มมากเพียงใด”

บทเรียนในอดีต

ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 2 ส.ค.2565  แนนซี เพโลซี (Nancy Pelosi) อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ก่อนหน้าแมคคาร์ธี ก็ได้เดินทางเยือนเกาะไต้หวันเพื่อพบปะกับนักการเมืองระดับสูงหลายราย รวมทั้งประธานาธิบดีไช่ ด้วย ซึ่งหลังจากการเยือนดังกล่าวสิ้นสุด ลงทางการจีนก็ออกมาตรการตอบโต้ทั้งทางการทหาร โดยการซ้อมรบรอบเกาะไต้หวัน และทางเศรษฐกิจ

โดยในช่วงนั้นศุลกากรจีนออกมาตรการคว่ำบาตรสินค้าไต้หวันกว่า 2,000 รายการ ยกตัวอย่างเช่น ระงับส่งออก “ทรายธรรมชาติ” ให้ไต้หวัน ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในภาคการก่อสร้าง การผลิตเซมิคอนดักเตอร์ และชิปคอมพิวเตอร์, ระงับนำเข้า “ผลไม้ และปลา”, และระงับนำเข้า “ขนมบิสกิต และขนมอบ” 

นอกจากนี้ ในขณะนั้นรัฐบาลจีนยังเพ่งเล็ง “มูลนิธิไต้หวันเพื่อประชาธิปไตย” (Taiwan Foundation for Democracy) และ “กองทุนความร่วมมือ และการพัฒนาระหว่างประเทศของกระทรวงการต่างประเทศไต้หวัน” (Taiwan Foreign Ministry's International Cooperation and Development Fund) พร้อมให้เหตุผลว่าทั้งสองมูลนิธิมีส่วนร่วมในการสนับสนุนการแบ่งแยกดินแดนระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่ และเกาะไต้หวัน 

ดังนั้นจากมาตรการที่ทางการจีนดำเนินการในช่วงหลังจากเยือนของอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐในครั้งนั้น นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งจึงประเมินว่าน่าติดตามว่า “มาตรการที่เข้มงวด” ที่เฝิงเหลียน ระบุไว้จะประกอบด้วยมาตรการใดบ้าง 

ทั้งนี้ หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเพียงไม่กี่ชั่วโมงดัชนีฮั่งเส็ง (Hang Seng Index) ของฮ่องกง และ เซี่ยงไฮ้คอมโพสิต (Shanghai Composite Index) ย่อตัวลง 2.4% และ 2.3% ตามลำดับ

ผลกระทบตลาดหุ้นในภาพรวม 

ทั้งนี้สำหรับผลกระทบของเหตุการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศดังกล่าวต่อตลาดหุ้น ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้านักกลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจ และการลงทุนสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เหตุการณ์ครั้งนี้อาจเป็นทั้ง “โอกาส” และ “ความเสี่ยง” ของตลาดหุ้น

“โดยหากวันพรุ่งนี้ประธานาธิบดีไช่ เดินทางไปพบผู้นำระดับสูงของสหรัฐจริงแล้วตลาดหุ้นแกว่งตัวคงที่ไม่บวกไม่ลบตรงนี้ก็ไม่เป็นทั้งโอกาส และความเสี่ยง แต่ถ้าตลาดหุ้นปรับตัวลดลง 1-2% หรือมากถึง 5% ก็อาจมองเป็นโอกาสเข้าลงทุนระยะยาวในหุ้นที่แต่เดิมมีราคาแพง แต่พื้นฐานดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ้นบริษัทข้ามชาติ (International Firms) ที่เกี่ยวข้องกับด้านสุขภาพ และเทคโนโลยีของจีน เพราะท้ายที่สุดหุ้นดังกล่าวก็มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นมาเช่นเดิม”

ทั้งนี้ ดร.จิติพล กล่าวว่า แต่ถ้าหุ้นกลุ่มที่เกี่ยวกับการอุปโภคบริโภคปรับตัวลดลง แม้จะแตะ 5% ก็ตาม ก็ยังไม่ใช่โอกาสในการเข้าซื้อแต่นับเป็นความเสี่ยง 

“นักลงทุนอาจต้องระวังหุ้นกลุ่มบริโภคในไต้หวันเพราะนึกภาพว่า หากประธานาธิบดีไช่ เข้าพบผู้นำระดับสูงจริงแล้วจีนโกรธ เราก็ไม่รู้ว่าเมื่อไรเขาจะหายโกรธ ซึ่งก็อาจจะออกมาตรการระงับการส่งออกอีกครั้งจนทำให้หุ้นร่วงต่อ หรือแม้กระทั่งอาจเลิกกิจการหรือการทำธุรกิจร่วมกันเลยก็ได้ ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่ารายได้หลักของไต้หวันมาจากการค้า และการท่องเที่ยวจากจีนถึง 60% ถ้าขาดจีนไปไต้หวันก็อาจล่มสลายเลยก็ได้”

ผลกระทบการลงทุนในประเทศไทย

ดร.จิติพล กล่าวต่อว่า ตลาดหุ้นไทยมีความเชื่อมโยงกับตลาดหุ้นจีน และอเมริกาน้อยมาก ดังนั้นเหตุการณ์นี้อาจไม่กระทบตลาดหุ้นไทยมากนัก แต่นักลงทุนอาจได้รับผลกระทบเชิงลบจากประเด็นเรื่องค่าเงินแทน

“หากเกิดเหตุการณ์ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์นี้จริง สกุลเงินในภูมิภาคเอเชียอาจอ่อนตัวลง ซึ่งจะส่งผลเชิงลบต่อตราสารหนี้มากกว่าหุ้น เพราะนักลงทุนส่วนใหญ่ที่ลงทุนในตราสารหนี้จะได้รับผลตอบแทนหลักๆ สองอย่างคือ อัตราดอกเบี้ยซึ่งน้อยมาก และกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน โดยส่วนมากนักลงทุนมักลงทุนในตราสารหนี้เพียงเพราะกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเท่านั้น ดังนั้นหากเงินบาทอ่อนค่าสอดคล้องกับความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ดังกล่าว เงินทุนก็อาจไหลออกจากประเทศไทยได้”

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์