เทียบฟอร์ม 4 หุ้นค้าปลีก ไตรมาส 2 ฟื้นเต็มตัว รับแรงหนุนเงินสะพัดเลือกตั้ง
หุ้นกลุ่มค้าปลีก ประเภทอุปโภคบริโภค ส่งสัญญาณการฟื่้นตัวเต็มที่ หลังเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยว บวกกับเลือกตั้ง ส่งผลดีหนุนกลุ่มค้าปลีก ปีนี้ทั้ง 4 หลักทรัพย์ ปีนี้แข่งเดือด เปิดสาขาทั้งไทยและต่างประเทศเพียบ
ภาพรวมเศรษฐกิจไทยเริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัวอย่างชัดเจน หลังจากที่มีการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยว ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มค้าปลีก ประเภทสินค้าอุปโภคบริโภค ที่มีการฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัด บวกกับในช่วงเดือนเมษายน - พฤษภาคม 2566 ที่ในบ้านเรามีการกิจกรรมการทางการเมือง จึงเป็นอีกหนึ่งแรงกระตุ้นเสริมให้กลุ่มสินค้าอุปโภค บริโภคมีการฟื้นตัวได้เร็วมากยิ่งขึ้น
นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันที่มีความผันผวน มีความเสี่ยงในเรื่องของโอเปกพลัสที่เกิดขึ้น กลยุทธ์ที่ถือว่าเป็นหลุมหลบภัยที่ดีในช่วงที่ความเสี่ยงมีมากขึ้นคือกลุ่มคอมเมิร์ซ ที่เน้นไปยังสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีความจำเป็นต่อชีวิตประจำวัน เช่นหุ้น CPALL MAKRO และ BJC เป็นต้น รวมถึงหุ้นกลุ่มเฮลแคร์ด้วย
ทั้งนี้ หุ้นทั้ง 2 กลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นค้าปลีก สินค้าอุปโภคบริโภค หรือกลุ่มเฮลแคร์ ถือว่ามีความทนทานต่อความเสี่ยงเงินเฟ้อด้วย ที่จะกลับมาสร้างความกังวลให้แก่นักลงทุนอีกครั้ง แม้ว่าจะไม่ไปถึงจุดเดิมที่ 7 - 8% แต่อาจเป็นตัวที่ทำให้เงินเฟ้อปรับตัวลงมาค่อนข้างยาก และอาจจะต้องอยู่กับสภาวะนี้ไปอีกระยะหนึ่ง ฉะนั้นแล้วทั้ง 2 กลุ่มนี้ มักเป็นกลุ่มที่ราคาหุ้น และผลการดำเนินงาน มีความทนทานต่อสภาวะดังกล่าวได้ดี
นายวีระวัฒน์ วิโรจน์โภคา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัท หลักทรัพย์ที่ปรึกษาการลงทุน เอฟเอสเอส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด FSS บริษัทในเครือ บล. ฟินันเซีย ไซรัส ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โดยภาพรวมเศรษฐกิจกำลังค่อย ๆ ทยอยฟื้นตัวทั้งภาพของการท่องเที่ยวที่กำลังกลับมา และราคาน้ำมันที่ปรับลง ส่งผลให้กำลังซื้อปรับตัวดีขึ้น รวมถึงบ้านเรามีการเลือกตั้งในช่วงเดือนเมษายน - พฤษภาคมนี้ จึงเป็นอีกแรงหนุนที่จะทำให้เม็ดเงินสะพัดในช่วงหาเสียง จึงเป็นอีกหนึ่งตัวกระตุ้นให้
ทั้งนี้ หุ้นกลุ่มค้าปลีกจึงเป็นอีกเซกเตอร์หลักที่เราชอบในปีนี้ โดยเฉพาะ MAKRO CPALL ราคาหุ้นยังถือว่าอยู่ในโซนที่ไม่ได้สูงมาก ค่อนข้างไปในทางต่ำด้วยซ้ำ ที่สามารถเข้าไปสะสมได้ ขณะเดียวกันคาดว่า กำไรในไตรมาส 2/66 จะเริ่มเห็นการเติบโตที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
“กรุงเทพธุรกิจ” ได้สำรวจหุ้นกลุ่มค้าปลีกประเภทอุปโภคบริโภค พบว่า มีด้วยกัน 4 หลักทรัพย์ แต่ละบริษัทสามารถทำผลงานได้ดีแค่ไหน
1.บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL
ปัจจุบันนายยุทธศักดิ์ ภูมิสุรกุล ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่นและเซเว่น เดลิเวอรี่ มีมาร์เก็ตแคป 565,935.38 ล้านบาท ผลดำเนินงานประจำปี 2565 กำไรสุทธิ 13,272 ล้านบาท เทียบเติบโตจากปีก่อน 12,985 ล้านบาท และมีรายได้รวม 852,605 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 587,189.76 ล้านบาท ปัจจัยหลักมาจากการดำเนินงานของทุกกลุ่มธุรกิจปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจร้านสะดวกซื้อ และธุรกิจแม็คโคร อย่างไรก็ตามบริษัทฯ มีต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากการเข้าซื้อธุรกิจโลตัสส์
โดยในปีนี้บริษัทวางแผนขยายสาขาใหม่ร้านสะดวกซื้อ เพิ่ม 700 สาขา ตามการขยายตัวของชุมชน โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ แหล่งท่องเที่ยว และทำเลที่มีศักยภาพอื่น ๆ รวมถึงพัฒนาช่องทางจำหน่ายสินค้าทั้งแพลตฟอร์มออนไลน์ และออฟไลน์ คาดว่าจะใช้งบลงทุนทั้งหมดประมาณ 12,000 - 13,000 ล้านบาท
และมีมติเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นจ่ายเงินปันผลสำหรับปี 2565 ในอัตราหุ้นละ 0.75 บาท กำหนดรายชื่อผูได้รับสิทธิวันที่ 3 พ.ค. 2566 (ขึ้นเครื่องหมาย XD 2 พ.ค.66) และจ่ายปันผลวันที่ 19 พ.ค. 2566
2.บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO
ปัจจุบันนายธานินทร์ บูรณมานิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจแม็คโคร มีมาร์เก็ตแคป 404,697.37 ล้านบาท ส่วนผลการดำเนินงานปี 2565 มีกำไรสุทธิ 7,696.90 ล้านบาท ลดลง จากปี 64 ที่มีกำไรสุทธิ 13,686.73 ล้านบาท สาเหตุที่ลดลงเกิดจากการรวมกำไรทางบัญชีจากการรวมธุรกิจแบบขั้นที่เกิดจากการรวมธุรกิจค้าปลีกเข้ามาเมื่อต.ค. 64
ทั้งนี้ หากไม่รวมรายการดังกล่าว กำไรสุทธิของบริษัทฯ และบริษัทย่อยเพิ่มขึ้น 10.4% จากปีก่อน โดยเป็นกำไรสุทธิของกลุ่มธุรกิจค้าส่ง 7,074 ล้านบาท โต 7.6% และกำไรสุทธิของกลุ่มธุรกิจค้าปลีกจานวน 623 ล้านบาท ส่วนรายได้ปี 2565 รวมทั้งสิ้น 469,131 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 266,434.51 ล้านบาท
โดยในปีนี้กลุ่มธุรกิจค้าส่ง มีแผนขยายสาขาในประเทศ 12 สาขา และต่างประเทศอีก 6 สาขา ส่วนกลุ่มธุรกิจค้าปลีก มีแผนขยายสาขาในประเทศและต่างประเทศประกอบด้วยศูนย์จำหน่ายสินค้าขนาดใหญ่ 5 สาขา ขนาดกลางและขนาดเล็กมากกว่า 150 สาขา บริษัทย่อยมีแผนขยายพื้นที่เช่าในสาขาเดิมอีก 19 สาขา
นอกจากนี้ มีมติที่ประชุมให้จ่ายปันผลเป็นเงินสดงวดปี 2565 อีกจำนวน 0.33 บาท/หุ้น วันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล(XD) 27 เม.ย.66 วันที่จ่ายปันผล 17 พ.ค.66 จากที่เคยจ่ายปันผลระหว่างกาลไปแล้ว 0.18 บาท/หุ้น รวมปี 65 จ่ายปันผลรวม 0.51 บาท/หุ้น
3.บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC
ปัจจุบัน นายญนน์ โภคทรัพย์ เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC มีมาร์เก็ตแคป 269,887.25 ล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิปี 65 ที่ 7,175 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนหน้าที่ 59.37 ล้านบาท ขณะที่รายได้รวมปี 65 ที่ 236,244.78 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนหน้าที่ 195,653.81 ล้านบาท นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัทฯ เสนอจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น 0.48 บาทต่อหุ้น กำหนดผู้ได้รับสิทธิวันที่ 9 พ.ค. 2566 (ขึ้นเครื่องหมาย XD 8 พ.ค.66) และจ่ายปันผลวันที่ 26 พ.ค. 2566
โดยแผนงานภายใน 5 ปีนี้ ตั้งแต่ ปี 2566 - 2570 CRC แผนการลงทุนกว่า 150,000 ล้านบาท มีการลงทุนสาขาใหม่ แบ่งตามประเทศและแบรนด์รีเทลโดยในประเทศไทย มีแผนขยายสาขาเซ็นทรัล ดีพาร์ทเมนต์สโตร์เพิ่ม 2 สาขา ไทวัสดุ และ ไทวัสดุ ไฮบริด ฟอร์แมท อีก 10 สาขา ท็อปส์เพิ่ม 15 สาขา ส่วน
ประเทศเวียดนาม เปิดศูนย์การค้าและไฮเปอร์มาร์เก็ต GO! เพิ่มอีก 5-7 สาขา ขณะที่ซูเปอร์มาร์เก็ต Tops Market และ Mini go! เพิ่มอีก 8-10 สาขา ส่วนที่เหงียนคิมอีก 5 สาขา และรีโนเวตใหม่ประมาณ 10-12 สาขา
4.บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC
ปัจจุบัน นาย อัศวิน เตชะเจริญวิกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC และในวันที่ 26 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป นางฐาปณี เตชะเจริญวิกุล จะขึ้นดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ แทน มีมาร์เก็ตแคป 154,300.17 ล้านบาท
ส่วนนายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล จะย้ายไปดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่คนแรกของ บริษัท บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BRC ปัจจุบันมีแผนจะนำ BRC เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ปีนี้
สำหรับผลประกอบการปี 65 BJC มีกำไรสุทธิ 5,010.40 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 3,584.81 ล้านบาท ส่วนรายได้รวมงบประจำปี 65 เท่ากับ 163,601 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 150,139 ล้านบาท และคณะกรรมการมีมติ จ่ายปันผลเป็นเงินสดงวดครึ่งปีหลัง 65 จำนวน 0.65 บาท/หุ้น วันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล(XD) 3 พ.ค.66 วันที่จ่ายปันผล 24 พ.ค. 66
สำหรับแผนงานบริษัทวางเป้าหมายสาขาในปี 2569 ไว้ โดยในประเทศไทยมีแผนจะเปิดไฮเปอร์มาร์เก็ตเพิ่ม 7 สาขา เป็น 160 สาขา เปิดร้านสะดวกซื้อเพิ่ม 1,501 สาขา เป็น 2,853 สาขาเปิดซูเปอร์มาร์เก็ต-ค้าส่งเพิ่ม 25 สาขา เป็น 84 สาขา ส่วนตลาดในต่างประเทศโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น กัมพูชา จะเปิดไฮเปอร์มาร์เก็ตเพิ่ม 5 สาขา เป็น 6 สาขา และเปิดร้านสะดวกซื้อเพิ่ม 275 สาขา เป็น 276 สาขา ขณะที่ใน สปป.ลาว จะเปิดไฮเปอร์มาร์เก็ตใหม่ 2 สาขา และเปิดร้านสะดวกซื้อ 188 สาขา เป็น 245 สาขา
ขณะที่ในประเทศเวียดนามจะเพิ่มศูนย์ค้าส่งและกระจายอาหาร ในชื่อ MM Mega Market อีก 88 สาขา เป็น 113 สาขา จากเดิมที่เปิดไปแล้ว 25 สาขา นอกจากนี้ บีเจซีอาจเข้าซื้อกิจการ MM Mega Market Vietnam (MMVN) ในอนาคต นอกจากนี้ ยังมีแผนรีโนเวตบิ๊กซีในไทยจำนวน 90 สาขา ในช่วงปี 2565-2569 รวมถึงเปิดตัวบิ๊กซีโมเดลใหม่ ในชื่อของบิ๊กซีเพลส (Big C Place) ที่มุ่งจับกลุ่มลูกค้าที่อายุน้อยลงจากหลายเซ็กเมนต์