ประชัน "นโยบายเศรษฐกิจ"ก่อนเลือกตั้ง หุ้นขานรับ – มาแรงกลุ่มไหน

ประชัน "นโยบายเศรษฐกิจ"ก่อนเลือกตั้ง   หุ้นขานรับ – มาแรงกลุ่มไหน

ตลอด 3 เดือนที่ผ่านมาตั้งแต่ ก.พ. – เม.ย. ภาพดัชนีตลาดหุ้นที่ปรับฐานลงอย่างต่อเนื่องจากระดับ 1,650 จุด ลงไปลึก 1,518 จุด ในช่วงที่เกิดวิกฤติ Bank Run ของสหรัฐ ผสมกับแรงขายของต่างชาติจนทำให้หุ้นแทบไม่มีแรงหนุนจาก "ธีมเลือกตั้ง" เข้ามาเป็นแรงบวกแต่อย่างใด

เดือนเม.ย. ถือว่าเป็นช่วงหยุดยาว และมีแรงซื้อ-ขายน้อยที่สุด ซึ่งทำ Performance เทียบตลาดในภูมิภาคน้อยที่สุด  ดัชนี ปิดที่ 1,529.12 จุด ปรับลดลง 5.0% จากเดือนก่อนหน้า และปรับลดลง 8.4% เมื่อเทียบกับสิ้นปีก่อนหน้า     

     โดยมีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน อยู่ที่ 46,811 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า 43.1% โดยมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในสี่เดือนแรกปี 2566 อยู่ที่ 62,461 ล้านบาท โดยผู้ลงทุนต่างชาติขายสุทธิเป็นเดือนที่สาม ซึ่งในเดือนเม.ย.2566 ผู้ลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 7,901 ล้านบาท

     ขณะที่อัตรากำไรต่อราคาหุ้นล่วงหน้า (Forward P/E) ของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือนเมษายน  2566 อยู่ที่ระดับ 15.0 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตอยู่ที่ระดับ 18.7 เท่า แต่สูงกว่าค่าเฉลี่ยตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 12.4 เท่า และตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ13.9 เท่า

     เรียกได้ว่าตลาดหุ้นไทยเผชิญตลาด"ไซด์เวย์ ดาวน์" อย่างต่อเนื่อง จากแรงขายของหุ้นขนาดใหญ่ และหุ้นที่ชี้นำดัชนีอย่าง DELTA 

 

       ปรากฏช่วง 1 สัปดาห์ที่กำลังเข้าสู่การเลือกตั้งโค้งสุดท้ายของไทย วันที่ 14 พ.ค.2566 ตลาดหุ้นไทยมีแรงหนุนจากทั้งในประเทศ และต่างประเทศ จนทำให้ไม่เกิด SET แลนด์สไลด์ เอาไว้ได้

       ทั้งปัจจัยภายนอกประเทศหลังผ่านการประชุมธนาคารกลางสำคัญของเศรษฐกิจโลก อย่าง FED ที่ออกมาในโทนคงอัตราดอกเบี้ยแม้จะไม่ปิดประตูในทิศทางขึ้นดอกเบี้ย เพราะยังห่างไกลเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2% แต่วิกฤติธนาคารภูมิภาคล้มลงพอจะทำให้ต้องผ่อนนโยบายเข้มงวดลง   

      ปัจจัยในประเทศหลังการเปิดให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้า 9 พ.ค.2566 เกิดปรากฏการณ์ประชาชนออกมาใช้สิทธิกันอย่างหนาตา จนทำให้เกิดกระแสออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งกันมากขึ้น รวมไปถึงการคาดหวังผลการเลือกตั้งที่จะออกมาด้วยจำนวนผู้ใช้สิทธิแนวโน้มสูงขึ้นจากเลือกตั้งรอบก่อนทำให้หน้าตารัฐบาลมีโอกาสมาจากพรรคที่มีเสียงข้างมาก และมีพรรครวมที่น้อยเมื่อเทียบกับพรรครัฐบาลในปัจจุบัน

      หากเมื่อดูจาก นโยบายเฉพาะด้านเศรษฐกิจของ 6 พรรคใหญ่ที่มีโอกาสชิงตำแหน่ง “แกนนำรัฐบาล” และ “นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 “  ถือว่าชูจุดเด่นด้านประชานิยมกันดุเดือด ทั้งค่าแรง – บัตรสวัสดิการ – การจ้างงาน หรือลดค่าครองชีพ ซึ่งล้วนแต่เป็นผลดีระยะสั้นต่อการกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศ    

       บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กรุงศรี พัฒนสิน กระแสเลือกตั้งทั่วไปปี 2566 คึกคักล่าสุด กกต.เปิดเผยมีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า 91.8% ของผู้ที่ลงทะเบียนไว้ ซึ่งคาดว่าจะเป็นระดับที่สูงกว่าปี 19 อิงสถิติเขต กทม.ที่มีผู้ใช้สิทธิล่วงหน้า 92% ของผู้ลงทะเบียนเพิ่มจากปี 2562 ที่อยู่ 87%

     ทั้งนี้คาดว่าจะสร้างความคาดหวังเชิงบวกต่อระบบตัวแทนซึ่งจะช่วยให้เกิดการกระจายตัวของเศรษฐกิจที่ดีขึ้นกว่าเดิม ผสานกิจกรรมก่อนการเลือกตั้งที่หนุนเศรษฐกิจไหลเวียนทั้งการบริโภค สื่อโฆษณา และการสื่อสารหนุนความเชื่อมั่นนักลงทุน  ลุ้น SET เกิด Election Rally ต่อเน้นหุ้นกลุ่มอิงภายใน อาทิ ธนาคาร ค้าปลีก สื่อสาร เช่าซื้อ อาทิ BBL, SCB, CPALL, MAKRO, ADVANC, AEONTS

บล.ธนชาต ตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวต่อเนื่องจากเมื่อวานมีแรงส่งต่อจากประเด็น “บวก” ดังนี้

1. การเกิด Short-Covering ในหุ้นใหญ่หลายตัวที่มีมูลค่า Short-Sell  สูงในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ปรับตัวขึ้นได้ดีไม่ว่าจะเป็น PTT CPALL KBANK PTTGC

2. ความคาดหวังเชิงบวกก่อนการเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค.2566  ซึ่งในทางสถิติก่อนวันเลือกตั้ง 1 สัปดาห์มักให้ผลตอบแทนเป็นบวกเฉลี่ย +1.8%

3. ปัจจัยภายนอกเริ่มผ่อนคลายดอกเบี้ย Fed ผ่านจุดสูงสุดแล้ว

4. Valuation ของ SET อยู่ในโซน “ซื้อ”  ซึ่งรายงานงบไตรมาส 1 ปี 2566  ที่ประกาศแล้วส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด

5. ต่างชาติเริ่มกลับมาซื้อสะสมหุ้นไทยอีกครั้งมอง  SET มีโอกาสขึ้นไปทดสอบแนวต้านระยะสั้นที่ 1,570 จุดและเป้าหมาย 1,600 จุด ทำให้ตลาดหุ้นไทยกลับมาคึกคักตามกระแสการเลือกตั้งได้ในช่วงนี้ 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์