สมาคม บลจ.เสนอ 5 ปิดช่องโหว่ “ตลท.” จี้ STARK แจง “ส่งงบ - ชำระหนี้” ภายใน 13 มิ.ย.
“สมาคม บลจ.”เสนอ 5 แนวทางป้องอุตสาหกรรมกองทุนรวม-นักลงทุน ไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอย ด้าน ตลท.จี้ สตาร์ค แจงความคืบหน้า “ส่งงบ - สเปเชียล ออดิท - แนวทางชำระหนี้” ภายใน 13 มิ.ย. นี้ ด้าน “บลจ.วรรณ”เตรียมแยกเงินลงทุนหุ้นกู้ “สตาร์ค” มูลค่า 40-50 ล้านออกจากกอง หวังปกป้องผู้ถือหน่วย
นางสาวชวินดา หาญรัตนกูล นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) กล่าวว่า ขณะนี้ สมาคมฯ อยู่ระหว่างการหารือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ( ก.ล.ต.) ในการถอดบทเรียน ปัญหากรณี บมจ.มอร์ รีเทิร์น (MORE) และSTARK เพื่อมาปรับกระบวนการในภาพใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นนักลงทุน และปกป้องอุตสาหกรรมกองทุนรวมในอนาคต
โดยทางสมาคมฯ ได้มีแนวทางนำเสนอ เช่น 1.การพัฒนาเครื่องมือใหม่ๆ ที่จะแจ้งสัญญาณเตือนในการป้องกันเคสทุจริตโกงให้กับนักลงทุนทราบอย่างทั่วกัน 2.การนำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ข้อมูลจากตลาดทุนในการตรวจสอบได้รัดกุมมากขึ้น 3.การเพิ่มความเข้มข้นในการใช้ประโยชน์จากข้อมูล ESG มาช่วยในการตัดสินใจลงทุนมากขึ้น
4.ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจ หรือการลงทุนต่างๆ จากหน่วยงานกำกับดูแล (ก.ล.ต.) ควรจะต้องมีเกณฑ์การตรวจสอบมากขึ้นหรือไม่ อย่างไร แต่การเพิ่มกระบวนการตรวจสอบต่างๆ ต้องไม่เป็นการเพิ่มภาระต้นทุนให้กับรายอื่นๆ ที่ปฏิบัติถูกต้องอยู่แล้ว 5.การใช้เครื่องมือในการสกัดข้อมูลไม่เป็นความจริงในโซเชียล
ขณะเดียวกันกรณีการลงทุนใน STARKทางสมาคมฯ ยังต้องรอติดตามวันที่16 มิ.ย.นี้ก่อนว่า ทาง STARKจะส่งงบการเงินได้หรือไม่ เพื่อนำมาพิจารณาแนวทางในการดำเนินการต่อไป และหากผลตรวจสอบงบพบความผิดปกติ คงจะใช้การเรียกร้องค่าเสียหายแบบกลุ่มต่อไป
อย่างไรก็ตาม บลจ.นั้นมีกระบวนการลงทุนที่มีมาตรฐาน มีความเป็นมืออาชีพในการกลั่นกรองข้อมูลของ บจ.ที่เปิดเผยต่อสาธารณะทั้งตามที่ปรากฏใน ตลท.และแหล่งอื่นๆ มีการวิเคราะห์ข้อมูลงบการเงินที่ผ่านการสอบทานจากผู้สอบบัญชีที่ได้รับอนุญาต ข้อมูลอันดับเครดิตของหุ้นกู้ที่ผ่านการจัดอันดับเครดิตโดยสถาบันจัดอันดับเครดิตที่ได้รับอนุญาต
ด้าน ตลท.ขอให้ STARK เร่งชี้แจงความคืบหน้า การจัดทำ และวันส่งงบการเงินประจำ ปี 2565 และในกรณีส่งงบไม่ทันภายในวันที่ 16 มิ.ย.2566 ตามที่บริษัทเคยแจ้งไว้ก่อนหน้านี้ ขอให้อธิบายเหตุผลที่ล่าช้า และกรอบ เวลาที่จะนำส่งได้, การแต่งตั้งผู้สอบบัญชีเพื่อมาทำการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (Special Audit) สถานะการจัดทำ และกำหนดเวลาที่จะนำส่งรายงานการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษดังกล่าว ซึ่งจะครบกำหนดภายในวันที่ 16 มิ.ย.2566
รวมถึงสถานการณ์และผลกระทบต่อบริษัท จากการถูกเรียกให้ชำระหนี้หุ้นกู้ รวมถึงแนวทางดำเนินการ เพื่อชำระหนี้คงค้างต่างๆ ของบริษัท ซึ่งประกอบด้วยหุ้นกู้ 2 ชุด จำนวน 2,241 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย ที่ผู้ถือหุ้นกู้ได้ใช้สิทธิเรียกให้ชำระหนี้โดยพลัน และหนี้ต่างๆ ที่เกิดจากเหตุผิดนัดไขว้ (crossdefault) ที่ครอบคลุมถึงหนี้หุ้นกู้อีก 3 ชุด จำนวน รวม 6,957.4 ล้านบาท ตลอดจนเจ้าหนี้ภายใต้สัญญาทางการเงินอื่นๆ ที่อาจใช้สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ทั้งหมดในลักษณะเดียวกัน
รวมถึงการดำเนินการของบริษัทในการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายให้เข้ามาเร่งทำการสืบสวน และสอบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดหลักทรัพย์ฯ โดยให้ชี้แจงประเด็นดังกล่าวภายในวันที่ 13 มิ.ย.2566
วานนี้ (8 มิ.ย.) นายพจน์ หะริณสุต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) วรรณ และในฐานะกรรมการสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC)เปิดเผยว่า บลจ.วรรณ มีแผนพิจารณาแยกส่วนการลงทุนที่เป็นหุ้นกู้ของบมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) รุ่น STARK245A ที่กองทุนภายใต้การบริหารของ บลจ.วรรณเข้าไปลงทุน ซึ่งมีมูลค่า 40-50 ล้านบาท ออกจากทรัพย์สินอื่นๆ ของกองทุนรวม (Set Aside)
ทั้งนี้เพื่อปกป้องนักลงทุนที่ยังถือหน่วยลงทุนอยู่ โดยไม่ต้องรอให้ Default เพราะหุ้นกู้ที่ บลจ.วรรณถืออยู่ยังไม่ผิดนัดชำระหนี้ หากภายใน 30 วัน STARK ยังไม่สามารถชำระหนี้หุ้นกู้ 2 รุ่น ได้จะส่งผลต่อหุ้นกู้ STARKที่เหลืออยู่อาจต้อง Cross Default ไปด้วย
“บลจ.วรรณ ลงทุนในหุ้นกู้ของSTARK เพียงรุ่นเดียว คือ STARK245A มูลค่า 40-50 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันสถานะของหุ้นกู้ดังกล่าวยังเป็นปกติ Default ”
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์