3 เคสหลุมดำหุ้นไทย ถึงเวลา "ปรับ - เปลี่ยน" ทุกฝ่าย
“การลงทุนมีความเสี่ยง” วลีที่นักลงทุนต่างรับรู้แล้วเข้าใจในการบริหารจัดเงินลงทุนในกระเป๋าของตนเอง หากต้องการเป็นผู้ชนะ หรือได้กำไรจากตลาดทุน แต่แม้จะระวังตัวอย่างไร การจัดการกับ Mind Set สำคัญไม่แพ้กัน เพื่อบาลานซ์ ความโลภ (Greed)และความกลัว (Fear) ที่เกิดขึ้น
กรณี 3 หุ้น 3 สไตล์ที่ปะทุขึ้นไล่เลี่ยกันได้ สั่นคลอนความเชื่อมั่นการลงทุนในตลาดหุ้นไทย ระดับหนึ่ง เพราะเป็นการเอาเปรียบ และฉกฉวยผลประโยชน์ (กำไร) เข้ากระเป๋าตัวเอง และพวกพ้องแบบไม่สนใจกฎหมายหรือหน่วยงานที่กำกับดูแล
จากกรณีหุ้น MORE เป็นการทำรายการซื้อหุ้น ด้วยการใช้มาร์จิ้น และนำหลักทรัพย์ค้ำประกันคือ หุ้น MORE ของ “อภิมุข บำรุงวงศ์” หรือ เสี่ยปิงปอง 1,500 หุ้น ราคา 2.90 บาท มูลค่า 4,350 ล้านบาท และกลายเป็นไม่มีการจ่ายเงินชำระส่งมอบหุ้นให้กับทางโบรกเกอร์ที่เป็นผู้ส่งคำสั่งซื้อขาย
สุดท้ายมีการใช้กฎหมาย ปปง. อายัดทรัพย์ให้ตกเป็นของแผ่นดิน แต่ พฤติการณ์ที่อาศัยช่องโหว่การแข่งขันโบรกเกอร์ปล่อยมาร์จิ้นให้กับลูกค้ารายใหญ่ และนำไปผลักดันราคาหุ้น ไม่ได้ทำให้แค่โบรกเกอร์เสียหายต้องรับผิดชอบเงินในส่วนนั้นด้วยตัวเอง แต่ยังมีนักลงทุนที่ไม่ได้ตระหนักถึงกลไกเหล่านี้เข้าไปลงทุนในหุ้นจำนวนไม่น้อย
กรณี STARK ที่เปิดแผลเต็มตัวนักลงทุนรายย่อย – รายใหญ่ – กองทุน และธนาคาร จากผลกระทบทั้งหุ้นและหุ้นกู้ ที่พอไล่งบการเงินปี 2565 ที่รายงานแบบยังไม่รวม special audit เจอการทุจริตแทบทุกบรรทัด และกลายเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ทุจริตครั้งมโหฬารในตลาดหุ้นไทย
ด้วยการทำยอดขายปลอม – สร้างรายได้เทียม แบบยอมจ่ายภาษีเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกจับผิดจากผู้สอบบัญชี - การปั้นลูกหนี้การค้าที่ไม่มีจริง มีการผ่องถ่ายเงินจากการเพิ่มทุนไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ คือ จ่ายคืนหนี้หุ้นกู้ และจ่ายให้เจ้าหนี้ทางการค้า ที่ไม่รู้ว่ามีจริงหรือไม่
ที่สำคัญเป็นการกระทำที่มีการวางแผนล่วงหน้าอย่างชัดเจนจนทำให้ต้องมีการแก้ไขงบการเงินปี 2564 จากกำไร 2,700 ล้านบาท พลิกเป็นขาดทุน 5,965 ล้านบาท และมี 2565 ขาดทุน 6,612 ล้านบาท
ด้านบริษัทหลักทรัพย์ (บล.)ฟินันเซีย ไซรัส หลังงบปี 2564 - 2565 ถูกแก้ไขหลายรายการกลายเป็นขาดทุน 6.0 พันล้านบาท และ 6.6 พันล้านบาท ตามลำดับทำให้ขาดทุนสะสม 1.04 หมื่นล้านบาท ซึ่งผู้สอบบัญชีสรุปผลตรวจสอบระยะแรกพบความผิดปกติหลายรายการ เช่นยอดขายผิดปกติยอดลูกหนี้คงค้างจำนวนมาก
รายงานดังกล่าวไม่มีการจัดส่งให้ลูกค้าจริงเงินจ่ายล่วงหน้าค่าสินค้าที่มีการจ่ายเงินจริงแต่ไม่ได้จ่ายให้แก่คู่ค้า เป็นต้น และกรณีที่ STARK ขอขยายเวลาการตรวจ Special audit ออกไปอีกเพราะมีเอกสารอีกจำนวนมาก ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในหลายมิติ ควรหลีกเลี่ยงเก็งกำไร
บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) จากนี้ลำดับถัดไปติดตามท่าทีของตลาดหลักทรัพย์ฯ หลังจากส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบมาตั้งแต่ปี 2564 ซึ่งเข้าข่ายเหตุเพิกถอนฯ ที่ต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งหลังจากที่ตลท.เปิดซื้อขายหุ้นชั่วคราว 1 เดือนจนถึง 30 มิ.ย. ถ้าไม่มีมาตรการเพิ่มเติมคาดว่า STARK จะถูกขึ้น SP อีกนานหลายปีหลังจากนั้นเพื่อปรับปรุงกิจการและดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้อง
กรณีที่ยังไม่บทสรุป OTO แต่กลายเป็นหุ้นตำนาน 6 ฟลอร์ จากราคา 24 บาท ลงมาอยู่ที่ 2.70 บาท ซึ่งการเตือนนักลงทุนของตลาดหลักทรัพย์ ถึงการซื้อขายที่ผิดปกติวันที่ 12 -13 มิ.ย. เป็นช่วงราคาฟลอร์ ทำให้เกิดความตระหนักได้ว่าหุ้นเผชิญแรงขายที่ไม่ปกติ
ก่อนหน้านี้มีการใช้สิทธิแปลงสภาพ OTO-W1 จำนวน 233 ล้านหน่วยที่ 3.00 บาท ถือว่าห่างจากราคาในกระดานอยู่ที่ 20 บาท หลายเท่าตัว ทำให้เกิด money game นำหุ้นมา short sellและ naked short จากช่วงเดือนเม.ย.มีการนำหุ้น OTO และ OTO-W1 เป็น "หลักประกันวงเงินบัญชีมาร์จิ้น" สูงถึง 36 % และ 0.10 % ตามลำดับทำให้การลงมาทุกฟลอร์ของราคาหุ้นมีการทำกำไรขาลง อย่างชัดเจน
ปัจจุบันมาตรการการดูแลและกำกับตลาดทุนที่มีหน่วยงานรับผิดชอบ ก.ล.ต. และ ตลท. ไม่เพียงพอที่ป้องกันหุ้นหลุมดำในตลาดหุ้นไทยที่อนาคตจะมาในรูปแบบต่างกันให้นักลงทุนเสียหาย และนักลงทุนเองที่ต้องตั้งกฎเหล็ก วางแผนลงทุนที่ป้องกันเงินลงทุนของตัวเองให้อยู่ในความเสี่ยงน้อยที่สุด “เพราะไม่มีกลโกงไหนมาฉกฉวยเงินคนอื่นได้ถ้าไม่โลภจนเกินไป”
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์