‘พีทีจี’ปั้น‘แมกซ์บิท’ลุยดิจิทัล ดึงฐาน‘บัตรแมกซ์การ์ด’ต่อยอดธุรกิจ

‘พีทีจี’ปั้น‘แมกซ์บิท’ลุยดิจิทัล  ดึงฐาน‘บัตรแมกซ์การ์ด’ต่อยอดธุรกิจ

“พีทีจี” ปั้น “แมกซ์บิท” ลุยดิจิทัล ดึงฐาน “บัตรแมกซ์การ์ด” ต่อยอดธุรกิจ เจาะลูกค้ากลุ่มแรกราว 1.5 แสนราย เน้นในกรุงเทพและปริมณฑล พร้อมตั้งเป้าจะประกอบธุรกิจและเริ่มมีรายได้เข้ามาภายในเดือนต.ค. 2566 หลังเริ่มให้บริการ

ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG ในการก้าวเข้าสู่ “ธุรกิจการเงิน” ภายหลังบริษัทย่อย บริษัท แมกซ์บิท ดิจิทัล แอสเซท จำกัด (Maxbit) ที่ PTG ถือหุ้นในสัดส่วน 35% ภายหลังสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อนุมัติ 2 ใบอนุญาต (ไลเซนส์) คือ ผู้ประกอบ “ธุรกิจนายหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล” (Digital Asset Broker) และใบอนุญาต “คริปโทเคอร์เรนซี”

“ปกเขตร รัชกิจประการ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แมกซ์บิท ดิจิทัล แอสเซท จำกัด (Maxbit) เล่าให้ฟังว่า การเดินหน้ากระบวนการจัดตั้งธุรกิจนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น จะเป็น “กลไกสำคัญ” ในอนาคตต่อระบบการเงินของ PTG ที่จะช่วยเพิ่มรายได้จากธุรกิจ Non-oil และจะเชื่อมกับแอปพลิเคชั่น Maxme ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-Money) ที่ PTG ได้รับใบอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กลายเป็นสะพานเชื่อมสู่ระบบนิเวศน์สู่โลกของสินทรัพย์ดิจิทัลที่รวมไปถึง DeFi และ Metaverse ในอนาคต 

โดยก้าวแรกของ Maxbit นับจากหลังได้ไลเซนส์แล้ว คาดว่าจะเปิดระบบทดลองในช่วง 3 เดือนนี้ ! ซึ่งจะเปิดให้ทาง ก.ล.ต.เข้ามาตรวจสอบระบบวิธีการทำงานก่อนจะออกใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจอย่างเป็นทางการ ซึ่ง Maxbit ตั้งเป้าจะประกอบธุรกิจและเริ่มมีรายได้เข้ามาภายในเดือนต.ค. 2566 หลังเริ่มให้บริการ 

สำหรับ “จุดเด่น” ของบริษัทที่ถือเป็นข้อได้เปรียบคือ การมีฐานข้อมูลใน Ecosystem ของกลุ่ม PTG โดยเฉพาะสมาชิกบัตร MAX Card ที่มีอยู่ 18 ล้านราย !! ซึ่งกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่เบื้องต้นแชร์ฐานลูกค้าจากฐานบัตร MAX Card 

โดยมองโอกาสของการเสนอบริการให้กับลูกค้ากลุ่มแรกราว 1.5 แสนราย เน้นในกรุงเทพและปริมณฑล ซึ่งอยู่ระหว่างหารือกับ ก.ล.ต. เพื่อเชื่อมโยงไปสู่บริการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในแพลตฟอร์มของเรากับ “พอยต์ MAX Card” ที่สามารถนำไปใช้ใน Ecosystem ของเครือ PTG ให้เชื่อมต่อกัน และสามารถให้บริการลูกค้าได้ครบสมบูรณ์ พร้อมทั้งต่อยอด ไปสู่ธุรกิจอื่นๆ เช่นโรงไฟฟ้าขยะ สถานีบริการน้ำมัน รวมถึงการทำคาร์บอนเครดิตในอนาคต 

ทั้งนี้ ยังมีบริการเด่นที่จะเปิดให้สามารถลงทุนในลักษณะ DCA เป็นการซื้อสม่ำเสมอ ต้องบอกว่าตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ ตลาดคริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) เป็นตลาดที่มีความผันผวนสูงมาก ซึ่งสิ่งหนึ่งเลยที่คู่แข่งไม่ว่ารายไหนในตลาดยังไม่มีเลยคือ “ฟังก์ชั่น DCA” เพื่อให้ลูกค้าสามารถลงทุนในลักษณะสะสมอย่างสม่ำเสมอ นอกเหนือจากการส่งคำสั่งซื้อขายในลักษณะการเทรดตามปกติผ่านบริการโบรกเกอร์ 

สำหรับเหรียญที่จะให้บริการเทรดบนแพลตฟอร์มของ Maxbit จะมีครบทุกเหรียญที่ได้รับความนิยมจากนักลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะ Top 10 ซึ่งจะคัดเลือกผ่านการทำมาร์เก็ตรีเสิร์ช รวมถึงโทเคนต่าง ๆ เน้นที่มีสินทรัพย์ต่าง ๆ เป็นแบ็คอัป รวมถึงคาร์บอนเครดิต หากได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. ซึ่งจะหารือกับพันธมิตรที่จะนำมาเทรดในแพลตฟอร์มด้วย คาดว่าในช่วงเริ่มต้นจะเปิดให้เทรดสินค้าราว 21 ตัว

“จุดเด่นก็อย่างที่ผมได้มีการพูดถึงเลยเรื่องของการ Target กลุ่มที่ลงทุนอยู่แล้ว ซื้อกองทุนอยู่แล้ว ซื้อหุ้นอยู่แล้ว อันนี้น่าจะเป็นข้อแตกต่างที่มากที่สุดของเรา เราก็เลยพยายามเสิร์ฟฟังก์ชั่นที่คนเล่นหุ้น หรือว่าเล่นกองทุนอยู่แล้วคุ้นเคย”

“ปกเขตร” บอกต่อว่า ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในเมืองไทย มี Market Leader อยู่แล้ว ซึ่งปัจจุบันครองมาร์เก็ตแชร์ราว 85% ขณะที่เบอร์ 2 มีมาร์เก็ตแชร์ 7-8% ส่วนที่เหลือแบ่งกันตามรายที่เหลืออีก 2-3 ราย ซึ่งเป้าหมายที่เราต้องการคือ “ไม่ได้ล้มเบอร์ 1 แต่เราจะพยายามชิงมาร์เก็ตแชร์ 10% เพื่อขึ้นมายืนเป็นเบอร์ 2 ให้ได้ภาย 2 ปี” 

ทั้งนี้ ตามสถิติที่ผ่านมาชัดเจนว่า หากเปรียบเทียบอัตราการเติบโตระหว่างคนเปิดพอร์ตหุ้นกับคนเปิดพอร์ตเทรดคริปโทฯ แน่นอนเด็กเจนที่อายุน้อยเริ่มโตขึ้น ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจเรื่องของคริปโทฯ มากกว่าตลาดหลักทรัพย์อยู่แล้ว อันนี้คือ Fact เคยมีผู้ทำรีเสริชว่าตอนนี้การเติบโตของพอร์ตคริปโทฯ เทียบกับพอร์ตหุ้นโตสูงกว่าประมาณ 10 เท่า เดือนต่อเดือน ซึ่งก็ต้องบอกว่าคนที่เชื่อยังไงก็ต้องยังเชื่อ และก็น่าจะมีคนเจนใหม่ที่เชื่อแล้วก็โตขึ้นมาแล้วก็มีการซื้อขายสูงขึ้นมาเรื่อยๆ 

“รังสรรค์ พวงปราง” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ PTG กล่าวว่า ในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ถือเป็นช่องทางใหม่ของโลกอนาคต ในแง่ของภูมิทัศน์ใหม่ PTG ก็ต้องมองว่าจะสามารถใช้ MaxBit เข้ามาช่วยสนับสนุนในการดำเนินธุรกิจของ PTG ได้อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมโยง Ecosystem หรือการระดมทุน หรือการออกโทเคน ซึ่งไม่ใช่แค่การระดมทุนแค่ภายในประเทศแต่อาจมองไปถึงการระดมทุนจากทั่วโลก

“เรากำลังมองว่ามันเป็นโลกของปัจจุบันกับโลกเสมือนในอนาคต คือเราต้องอยู่ทั้งสองโลก หากเราอยู่แต่โลกปัจจุบันมันก็มีแต่ถอยลง และการแข่งขันก็ยิ่งสูง เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ เราคงต้องเผื่อเข้าไปอยู่ในโลกของอนาคตด้วย เพื่อมองหาโอกาสของธุรกรรมใหม่ๆ ผมคิดว่ามันจะมีธุรกรรมใหม่ๆ ในโลกของดิจิทัล หรือ Metaverse ซึ่งเราจะใช้เงินอย่างนี้ไม่ได้ ต้องเป็นเงินดิจิทัล ฉะนั้น เป็นสิ่งที่ทาง PTG ต้องมองไปข้างหน้า เพื่อโอกาสที่ดีกว่า”