‘3 กูรู’ มองต่าง ‘หุ้นจีน’ เตือนยังมีความเสี่ยงจากหนี้กลุ่ม LGFV
“กำพล” มองหุ้นแบงก์ - เทคโนโลยี จีนได้รับผลกระทบจากหนี้ LGFV ที่สูง และสงครามชิปกับสหรัฐ ขณะที่ “รัฐศรัณย์” คงมุมมองเชิงบวกหุ้นจีน เพราะปัจจัยหนุนอื้อ ด้าน “จิติพล” แนะลงทุนอสังหาฯ - ภาคการบริโภคที่สอดคล้องกับการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล
Key Points
- จีนเผชิญกับความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจมากมาย หนึ่งในนั้นคือ การกีดกันทางเทคโนโลยีจากสหรัฐ
- เคธี วูด เทขายหุ้นเทคโนโลยีในพอร์ตกองทุนเรือธงของเธอออกหมดเกลี้ยง
- กำพล จาก SCB มองหุ้นแบงก์-เทคโนโลยี จีนได้รับผลกระทบจากหนี้ LGFV ที่สูง และสงครามชิปกับสหรัฐ
- รัฐศรัณย์ บัวหลวง คงมุมมองเชิงบวกหุ้นจีนเพราะปัจจัยหนุนอื้อ
- จิติพล จาก CGS-CIMB แนะลงทุนอสังหาฯ - ภาคการบริโภคที่สอดคล้องกับการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล
หลังมีข่าวออกมาว่า “เคธี วูด” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) และผู้ก่อตั้ง ARK Investment กองทุนด้านนวัตกรรมชื่อดัง ขายหุ้นจีนในพอร์ต ARK Innovation ETF หรือ ARKK ออกหมดจนเหลือศูนย์แล้ว หลังจากเศรษฐกิจจีนเผชิญกับความปั่นป่วนจำนวนมากจนตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) กลับมาโตอย่างชะลอตัว
ล่าสุด สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานวันนี้ (25 ก.ค.) ว่า สี จิ้นผิง (Xi Jingping) และเหล่าผู้นําระดับสูงของจีนส่งสัญญาณ “กระตุ้น” ภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งให้คํามั่นสัญญาว่าจะยกระดับการบริโภคภายในประเทศ และแก้ไขปัญหาหนี้ของรัฐบาลท้องถิ่น จนทำให้ ณ เวลา 18.00 น. ดัชนีหุ้นจีนอย่างดัชนี เซี่ยงไฮ้ คอมโพสิต(Shanghai Composite), ดัชนีฮั่งเส็ง (Hang Seng Index) และ ไชน่า เอ 50 (China A50) ปรับตัวสูงขึ้น 2.13% 4.10% และ 3.14% ตามลำดับ
คำถามคือ แล้วปัจจุบัน “หุ้นจีน” ยังน่าสนใจอยู่หรือไม่ ท่ามกลางความท้าทายมากมายทั้งอัตราการว่างงานของกลุ่มคนหนุ่มสาวที่สูงราว 21% สงครามการค้า และสงครามเซมิคอนดักเตอร์กับสหรัฐ ตัวเลขจีดีพี ไตรมาสที่ 2 ขยายตัว 6.3% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ของปี 2565 ซึ่งน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์อยู่ที่ 7.3% กรุงเทพธุรกิจ รวบรวมทัศนะของบรรดานักวิเคราะห์ดังนี้
นายกำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าทีม SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เปิดเผยว่า จากปัญหาเศรษฐกิจในจีนช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนี้จากรัฐบาลท้องถิ่น และสงครามเซมิคอนดักเตอร์กับสหรัฐ ทำให้ไทยพาณิชย์ปรับมุมมองต่อกองทุน A Share จากเดิมอยู่ในระดับ Positive ไปเป็น Slightly Positive หมายความว่าค่อยๆ ทยอยซื้อทีละนิด และกองทุน H Share เป็น Neutral คือ ไม่ซื้อไม่ขาย
โดยหุ้นกลุ่มที่อาจได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจจีนที่ปั่นป่วนประกอบด้วย 2 ส่วนคือ “ภาคธนาคารพาณิชย์” จากภาระที่ต้องเข้าไปช่วยเหลือรัฐบาลท้องถิ่นหารายได้เพื่อซื้อคืนพันธบัตรรัฐบาลท้องถิ่น (Local Government Bonds) และพันธบัตรจากเครื่องมือการเงินอย่าง LGFV หรือ Local Government Financing Vehicles ที่จ่อครบกำหนดถึง 24% ของมูลหนี้ทั้งหมดในเดือนส.ค. และก.ย. ปีนี้ ทั้งหมดจึงอาจทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องตั้งสำรองมากขึ้น และNet Interest Margin (NIM)น้อยลงจนกระทบรายได้ของธนาคารเหล่านั้น ต่อมาคือ “ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับอิเล็กทรอนิกส์” ที่ได้รับแรงกดดันจากสงครามเซมิคอนดักเตอร์กับสหรัฐ
หากพิจารณาการลงทุนภาพรวมในจีนแล้ว กองทุน A Share มีสัดส่วนหุ้นกลุ่มธนาคารอยู่ที่ 11% และมีหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีจีนอยู่ที่ 14% ดังนั้นกองทุนนี้จึงรับความเสี่ยงจากทั้ง 2 ประเด็นอยู่ที่ 28% ในขณะที่กองทุน H Share มีสัดส่วนหุ้นกลุ่มธนาคารอยู่ 18% และมีหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีอยู่ 37% ดังนั้นรวมแล้วจึงมีสัดส่วนที่เสี่ยงทั้งหมดถึง 55% ทางไทยพาณิชย์จึงปรับลดมุมมองลงมาอยู่ที่ Neutral คือ ไม่แนะนำให้ซื้อขาย
ขณะที่ นายรัฐศรัณย์ ธนไพศาลกิจ ผู้อำนวยการอาวุโส หัวหน้าฝ่ายหลักทรัพย์ต่างประเทศและฟิวเจอร์ส บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บัวหลวง กล่าวว่า ยังมีมุมมองเชิงบวกต่อตลาดหุ้นจีน เพราะหากพิจารณาปัจจัยทั้งหมดแล้วมีปัจจัยบวกมากกว่าปัจจัยลบ
โดยปัจจัยบวกประกอบด้วย แนวโน้มผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่ดี,การประเมินมูลค่าหุ้น (Valuation) ยังต่ำ โดยอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรต่อหุ้น (P/E) อยู่ที่ 10 เท่า, สภาพคล่องที่อยู่ในเกณฑ์ดีจากแนวโน้มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลกลาง, วงจรเศรษฐกิจอยู่ในแนวโน้มผ่อนคลาย, ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ปรับตัวดีขึ้นจากการพบปะกับของระดับผู้นำจีน-สหรัฐ และท่าทีของรัฐบาลที่เป็นมิตรต่อกลุ่มเทคโนโลยีขนาดใหญ่มากขึ้น
ในขณะที่ปัจจัยลบมีเพียง ความกังวลด้านเศรษฐกิจชะลอตัว จากปัจจัยต่างๆ รวมทั้งจากปัญหาหนี้สิน และค่าเงินหยวนต่อดอลลาร์ที่อ่อนค่ามาแล้วกว่า 8% นับตั้งแต่ต้นปีถึงกลางเดือนก.ค.
ด้านนายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการ (ผอ.) ฝ่ายวิจัย บล. ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี กล่าวว่า ตลาดหุ้นจีนยังน่าสนใจอยู่ เพียงแต่ว่าสาเหตุที่กองทุนของวูดขายออกไปเพราะในมุมมองชาติตะวันตกจีนไม่ใช่เบอร์หนึ่งด้านเทคโนโลยีรวมทั้งยังโดยกดดันจากสหรัฐ และชาติพันธมิตรตะวันตกอีก ดังนั้นจึงไม่แปลกที่จะขายออกเพราะเป็นกองทุนด้านเทคโนโลยี
แต่ถ้ามองในมุมมองชาวเอเชีย หรือมุมมองบ้านเราหุ้นจีนยังน่าสนใจมาก ถ้าเปรียบเทียบกับตลาดหุ้นประเทศอินเดีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม ถึงแม้ว่าจะเติบโตมากกว่าตลาดจีนแต่ขนาดตลาดเล็กมากเมื่อเทียบกับจีน ดังนั้นตลาดจีนจึงมีการกระจายความเสี่ยง (Diversify) มากกว่า
นอกจากนี้ ในล่าสุดทางการจีนออกมาให้คำมั่นสัญญาว่าจะกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ และแก้ไขหนี้ท้องถิ่น พร้อมทั้งกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ดังนั้นจึงมองว่าการลงทุนในภาคส่วนที่ได้รับการกระตุ้นนี้ยังน่าสนใจ
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์