หนี้ล้นหนุน ‘เอเอ็มซี’ ซื้อถูก ชี้เป็นโอกาสสร้างกำไรโตระยะยาว
หนี้ล้นหนุน "กลุ่มเอเอ็มซี" ซื้อถูก ชี้เป็นโอกาสสร้าง "กำไร" โตระยะยาว ฟาก “บิ๊กชโย” จ่อออกหุ้นกู้ “พันล้าน” ไตรมาส 4/66 หวังรองรับเข้าซื้อหนี้มาบริหารเพิ่ม
กลับมาเป็นประเด็นต้องจับตาดูใกล้ชิดอีกครั้ง ! เมื่อ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการปรับข้อมูลหนี้ครัวเรือนไทยให้ครอบคลุมมากขึ้น ล่าสุดตัวเลขมาอยู่ที่ระดับ 90.6% หรือ 17.62 ล้านล้านบาท พร้อมย้ำปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูง เป็นปัจจัยฉุดรั้งกำลังซื้อในประเทศให้ชะลอตัวลดลง
ขณะที่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) เปิดตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือมีการค้างชำระหนี้เกิน 91 วัน (NPL) ณ สิ้นไตรมาส 2 กลับมาเพิ่มขึ้นเป็น 1.03 ล้านล้านบาท เทียบไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ที่หนี้เสีย 9.5 แสนล้านบาท ถือเป็นการกลับมาของหนี้เสียระดับ 1 ล้านล้านบาทอีกครั้ง
ดังนั้น หนึ่งในธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากตัวเลขหนี้เสียจำนวนมหาศาลเช่นนี้ คงต้องยกให้ “ธุรกิจบริหารสินทรัพย์” (AMC) เนื่องจากคาดประเด็นดังกล่าวน่าจะ “กดดัน” ให้สถาบันทางการเงิน (แบงก์) ต่างๆ ต้องเร่งระบายและปล่อยหนี้เสีย (NPL) ในระบบออกมาประมูลขายกันจำนวนมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นผลบวกต่อกลุ่มธุรกิจ AMC โดยตรง
นอกจากทำให้ได้มูลหนี้ที่เตรียมซื้อเข้าพอร์ตเพิ่มขึ้นแล้ว ยังได้ประโยชน์จาก “ต้นทุนราคาประมูลที่ไม่แพงมาก” ด้วยมูลหนี้ที่ออกมามากจะทำให้ผู้ประกอบการไม่ต้องแย่งกันซื้อในตลาด
“สุขสันต์ ยศะสินธุ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CHAYO เปิดเผยกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ยอมรับว่าแนวโน้มตัวเลข “หนี้เสีย” (NPL) ยังเป็นทิศทาง “ขาขึ้น” ดังนั้น ดูจากภาพรวมมีความเป็นไปได้มากที่ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ (แบงก์) จะต้องเร่งระบายเอ็นพีแอลออกมามากขึ้น
ดังนั้น บริษัทจะมีการเจรจาต่อรองเพื่อลดราคาลงมาได้นิดหน่อย และจะเป็นหนี้เสียที่มีศักยภาพเข้ามาบริหารจัดการในพอร์ต เพื่อโอกาสสร้างกำไรในอนาคต สะท้อนตัวเลขหนี้เสียที่ออกมาในตลาดช่วงเดือนม.ค.-ส.ค. 2566 อยู่ที่ 1.5 แสนล้านบาท และคาดว่าช่วงที่เหลือของปีนี้จะมีหนี้เสียออกมาอีกประมาณ 60,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าการเติบโตของรายได้ในปี 2566 ไว้มากกว่า 25% จากปีก่อน หลังจากวางเป้าจะซื้อมูลหนี้ด้อยคุณภาพเข้ามาบริหารให้พอร์ตเพิ่มประมาณ 10,000-16,000 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้มูลค่าพอร์ตคงค้างรวมสิ้นปี 2566 จะแตะที่ระดับ 100,000 ล้านบาท จาก ณ สิ้นปี 2565 ที่มีมูลหนี้คงค้างในพอร์ตทั้งหมดราว 83,467 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม บริษัทรอประเมินสถานการณ์อีกครั้งในช่วงไตรมาส 4 ปี 2566 หากสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ดี และรัฐบาลใหม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เชื่อว่าความเชื่อมั่นจะกลับมาซึ่งจะส่งผลให้ทั้งภาคธุรกิจและนักลงทุนกล้าที่จะลงทุน และกล้าจ้างงานเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจฟื้นตัวและดีขึ้น ส่งผลให้ความสามารถในการชำระหนี้ได้เพิ่มมากขึ้นด้วย
ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทมีเงินเหลือเตรียมไว้ซื้อหนี้เสียเข้ามาบริหารในครึ่งปีหลังอีก 1,000 ล้านบาท แต่กำลังดูทิศทางหากการเมืองนิ่งคาดว่าไตรมาส 4 นี้ บริษัทจะมีการ “ออกหุ้นกู้” วงเงินไม่เกิน 1,000 ล้านบาท เพื่อรอซื้อหนี้เสียมาบริหารหากแบงก์มีการปล่อยหนี้เสียออกมาเพิ่มอีก
โดยยอมรับว่าปัจจุบันการออกหุ้นกู้ในช่วงจังหวะนี้จะค่อนข้าง “ยากมาก” เพราะนักลงทุนไม่กล้าและไม่เชื่อมั่นการลงทุนหุ้นกู้ ไม่ว่าดอเบี้ยจะสูงมากก็ตาม แต่ในส่วนของบริษัทเชื่อว่า “หุ้นกู้” ของ CHAYO ที่บริษัทเตรียมจะออกจะไม่มีปัญหา เนื่องจากบริษัทมีนักลงทุนที่มั่นใจว่าบริษัทออกหุ้นกู้แล้วนำเงินไปลงทุนจริงๆ เพื่อสร้างรายได้ต่อเนื่องและนำมาจ่ายคืนให้นักลงทุนได้ตามกำหนดได้
ทั้งนี้ บริษัทมีความสนใจและมองหาโอกาสในการลงทุนในธุรกิจอื่นๆ ทั้งที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักและธุรกิจอื่นๆเพิ่มเติม ซึ่งมีโอกาสที่จะได้เห็นการลงทุนทั้งในรูปแบบของการควบรวมกิจการ (M&A) และการร่วมทุน (JV) โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาและเจรจาอยู่
“ธนภัทร ฉัตรเสถียร” ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทรีนีตี้ จำกัด กล่าวว่า แนวโน้มกลุ่มธนาคารจะมีการระบายหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ในช่วงครึ่งปีหลังมากยิ่งขึ้น ซึ่งในภาวะปกติหนี้เสียจะทยอยมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ปัจจัยสำคัญคือ หลังจากหมดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ลูกหนี้ต้องกลับมาผ่อนชำระมากขึ้น ดังนั้น ก็มีโอกาสเกิดเป็นเอ็นพีแอล หากความสามารถในการผ่อนชำระของลูกหนี้ยังไม่ฟื้นตัว
ดังนั้น สถานการณ์ดังกล่าวอาจจะบีบให้แบงก์ต้องเร่งปล่อยเอ็นพีแอลออกมามากขึ้น ซึ่งธุรกิจที่จะได้ประโยชน์จากมูลค่าหนี้เสียที่มากขึ้นอย่าง AMC มีโอกาสที่จะเข้าประมูลหนี้เสียเพื่อมาบริหารในต้นทุนที่ต่ำลง หากเทียบกับช่วงที่แบงก์ไม่ต้องเร่งระบายเอ็นพีแอล แต่เชื่อว่าจะไม่ได้ประมูลในราคาประมูลถูกลงมากเกินไป แต่ก็จะถูกกว่าช่วงที่ยังมีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในช่วงโควิด-19 เพราะช่วงนั้นแบงก์ยังไม่เร่งปล่อยเอ็นพีแอล
“ทิศทางการขายหนี้เสียของสถาบันการเงิน เราประเมินว่าปีนี้น่าจะเห็นมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเริ่มเห็นสัญญาณมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 ที่ธนาคารพาณิชย์ตัดหนี้เสียออกมาขายค่อนข้างมากแล้ว จากลูกหนี้ที่ไหลตกชั้นเป็นเอ็นพีแอลมากขึ้น หลังหมดมาตรการนโยบายช่วยเหลือของภาครัฐแล้ว”
อย่างไรก็ตาม มองว่าหุ้นกลุ่ม AMC ในระยะยาวมีโอกาสทำ “กำไรระดับสูง” แต่ในระยะสั้นอาจจะยังไม่โดดเด่นมาก เนื่องจากการประมูลหนี้เสียมาบริหารไม่ใช่จะได้ประโยชน์ทันที แต่จะใช้เวลาในการจัดเก็บไปเรื่อยๆ และปัจจุบันเศรษฐกิจยังไม่แน่นอน ซึ่งมีโอกาสที่จะติดตามเก็บหนี้ได้ไม่ดีเท่าไหร่
ขณะที่ประเด็นดอกเบี้ยยังมีโอกาสปรับขึ้นอีกนั้น มองว่ากลุ่ม AMC รับผลกระทบทางอ้อม เพราะปัจจุบันผู้ประกอบการมีการบริหารความเสี่ยงเรื่องดังกล่าวไว้แล้ว และบริษัทกลุ่มนี้ยังมีหนี้สินต่อทุน (D/E) อยู่ในระดับต่ำอีกด้วย
“กรกช เสวตร์ครุตมัต” ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ยังมีมุมมองต่อหุ้นกลุ่มธุรกิจบริหารสินทรัพย์ (AMC) เป็นกลางหรือคงน้ำหนักการลงทุน (Neutral) เนื่องจากมีปัจจัยหนุน คือ ธุรกิจ AMC ซื้อหนี้เสียมีเข้ามามากขึ้นพอสมควร และเริ่มเห็นราคาซื้อหนี้ที่ปรับตัวลดลงได้แล้ว ถือเป็นโอกาสดีในช่วงการลงทุน และการสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม หุ้นกลุ่มนี้ก็ยังมี “ปัจจัยเสี่ยง” คือ การเก็บเงินสดที่เติบโตชะลอลง เช่น การเก็บหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน จากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้าในระดับรากหญ้า และแรงกดดันจากต้นทุนดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ทำให้อาจมีการตั้งสำรองต่อรายได้ดอกเบี้ยที่มากขึ้นตามมาด้วย
สำหรับหุ้นกลุ่มนี้ที่ บล.กสิกรไทย ทำการวิเคราะห์ ได้แก่ BAM , CHASE และ CHAYO แนะนำ หุ้น CHAYO มีความน่าสนใจเด่น แม้กำไรสุทธิไตรมาส 2 ปี 2566 จะออกมาน้อยกว่าที่เราคาด แต่มองว่าประมาณการปัจจุบันของเราจะบรรลุได้ เนื่องจากกำไรสุทธิครึ่งแรกของปีนี้ คิดเป็นสัดส่วน 54% ของประมาณการของเราแล้ว
ขณะเดียวกัน จากแนวโน้มกำไรที่น่าจะขึ้นได้ต่อในครึ่งหลังของปี 2566 บนการขายทรัพย์ชิ้นใหญ่ 1 แปลง และปีหน้าน่าจะโอนที่ดินที่เกาะยาวได้ จะช่วยเพิ่มทั้งกำไรและฐานทุนได้อีกมาก
“ยังเชื่อว่า CHAYO มีศักยภาพที่จะบรรลุเป้าการลงทุนซื้อหนี้NPL ที่ตั้งไว้ที่ 1,000 ล้านบาท ในปี 2566 เนื่องจากโดยปกติแล้ว CHAYO จะลงทุนซื้อหนี้ NPL ช่วงไตรมาส 3 และไตรมาส 4”
อย่างไรก็ตาม มองว่าคงน้ำหนักการลงทุน “หุ้นกลุ่มธุรกิจบริหารหนี้” รับอานิสงส์ซื้อหนี้เข้าพอร์ตบริหารได้มากขึ้น-เริ่มเห็นราคาซื้อหนี้ปรับลงแล้ว
ดังนั้น ถือเป็นโอกาสดีเข้าลงทุนได้ แต่ยังเน้นคัดหุ้นที่ยังมีแนวโน้มกำไรโตโดดเด่น และมีการบริหารจัดการลดความเสี่ยงเหตุโอกาสการเก็บเงินชะลอลง จากเศรษฐกิจฟื้นช้ากระทบระดับรากหญ้าและแรงกดดันต้นทุนดอกเบี้ยยังสูงขึ้นเสี่ยง และมีการตั้งสำรองหนี้เพิ่มขึ้น