เช็ก 6 หุ้นห้างดังช่วงไฮซีซัน ทยอยสะสม รับดิจิทัลวอลเล็ตปีหน้า
เช็ก 6 หุ้นห้างดังช่วงไฮซีซัน "โบรกเกอร์" แนะทยอยสะสม รับดิจิทัลวอลเล็ตปีหน้า หุ้น LH เจ้าของห้าง Terminal 21 จำนวน 4 สาขา เหลืออัพไซด์มากสุด 30.65% ขณะที่หุ้น CPN เจ้าของห้างเซ็นทรัล อัพไซด์ยังเหลือ 29.66%
หุ้นห้างสรรพสินค้า จัดเป็นหนึ่งในกลุ่มหุ้นที่อิงกับนโยบายของรัฐบาล ซึ่งจากการที่ประเทศไทยผ่านการยกเว้น VISA ให้กับนักท่องเที่ยวชาวจีน และคาซัคสถาน ที่เดินทางเข้ามาประเทศ ย่อมส่งผลดีต่อหุ้นกลุ่มการท่องเที่ยว และหุ้นห้างสรรพสินค้า ที่จะมีนักท่องเที่ยวเข้าไปจับจ่ายใช้สอยกันมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ยอดรายได้ และกำไรเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ เด็ก 14 ปี ที่ก่อเหตุในห้างดังย่านใจกลางเมือง และมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเสียชีวิตนั้น นักวิเคราะห์ต่างระบุตรงกันว่า เป็นผลกระทบเชิงเซนทิเมนต์ระยะสั้นๆ กลุ่มห้างสรรพสินค้ายังมีความน่าสนใจเข้าไปลงทุน เพราะกำลังเข้าสู่ช่วงไฮซีซัน
กิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ให้ข้อมูลกับกรุงเทพธุรกิจว่า กลุ่มห้างสรรพสินค้ายังคงมีการเติบโตได้เป็นอย่างดี เพราะในไตรมาส 4 ได้รับปัจจัยบวกของฤดูกาลที่เข้ามาหนุน ซึ่งห้างสรรพสินค้าส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้ถือว่า มีกำลังซื้อในระดับกลางไปถึงระดับสูง เพราะฉะนั้นจึงไม่ค่อยได้รับปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจในปีนี้ ที่ถูกถ่วงค่อนข้างจะมากจากปัญหาภัยแล้ง และการใช้จ่ายงบที่ล่าช้า โดยหากมองว่า ท่องเที่ยวดีโอกาสที่จะเห็นการเติบโตที่สูงขึ้นก็จะเป็นปัจจัยหนุนขึ้นมาได้
อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์มีการยิงที่ห้างสยามพารากอน และมีผู้เสียชีวิตเป็นนักท่องเที่ยวชาวจีน 1 ราย อาจจะมีผลกระทบแต่ไม่น่าจะนาน จากสถานการณ์ 2 ครั้งที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ซึ่งหากไปย้อนดูเหตุการณ์ในอดีต เคยมีเหตุการณ์รุนแรง และกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อนักท่องเที่ยวจีนในช่วงปี 2558 และปี 2561
โดยปี 2558 จะเป็นเหตุการณ์ที่มีการวางระเบิดตรงพระพรหมเอราวัณ ในเหตุการณ์ครั้งนั้นใช้เวลา 4 เดือนที่จะกลับมาสู่จุดก่อนเหตุการณ์ได้ ในขณะที่ปี 2561 เป็นเหตุการณ์เรือชนกันที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งใช้เวลา 5 เดือน
“เหตุการณ์ที่มีการยิงเกิดขึ้นที่สยามพารากอน มองว่า เป็นปัจจัยทางปัจเจก ที่มีความแตกต่างจากปี 2558 ที่มีการวางระเบิด และไม่รู้ได้ว่าเป็นใคร กลุ่มใดจะมาอีกหรือไม่ และในปี 2561 ที่มีการผิดพลาดทางการสื่อสารทำให้เกิดความไม่พอใจของนักท่องเที่ยวชาวจีน แต่ในรอบนี้อาจจะเป็นประเด็นตกใจ หากมีการบริหารจัดการที่ดี และมีการสื่อสารที่ดีคิดว่า ผลกระทบที่มีไม่น่าจะรุนแรงเหมือนเหตุการณ์ 2 ครั้งที่ผ่านมา จึงมองว่าเป็นผลกระทบระยะสั้นต่อหุ้นกลุ่มท่องเที่ยว”
อย่างไรก็ตาม หุ้นในกลุ่มท่องเที่ยวยังมีโมเมนตัมของการเติบโตที่ดีขึ้น และเข้าสู่ช่วงไฮซีซัน ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจริงๆ จึงไม่น่าจะรุนแรง ซึ่งนักลงทุน และตลาดเองก็น่าจะมีการประเมินไปในทิศทางเดียวกัน แม้จะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นจะเห็นได้ว่าราคาหุ้นก็ปรับฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้ค่อนข้างเร็ว
ทั้งนี้หุ้นกลุ่มห้างสรรพสินค้าที่แนะนำ เป็นหุ้น CRC ที่มองว่า เป็นหุ้นที่น่าสนใจ เมื่อเทียบกับกลุ่มทางด้านค้าปลีกไม่น่าที่จะได้รับผลกระทบจากปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ
วิจิตร อารยะพิศิษฐ นักกลยุทธ์การลงทุน บล.ลิเบอเรเตอร์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หุ้นห้างสรรพสินค้า ณ ปัจจุบันยังคงเป็นบวก อย่าง CRC หรือ CPN ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ขณะที่หุ้นที่ลบจะเกี่ยวข้องกับหุ้นท่องเที่ยวตรงๆ อย่าง AOT หรือหุ้นกลุ่มโรงแรมที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่สยามพารากอนมากกว่า ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่า เป็นเหตุการณ์ที่ส่งมาแล้วทำให้เกิดอิมแพค เนื่องจากมีผู้เสียชีวิตเป็นนักท่องเที่ยวจีนด้วย แต่แค่เป็นผลกระทบเชิงเซนทิเมนต์ระยะสั้นๆ เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า สถานการณ์ดังกล่าวไม่ได้มีความรุนแรงเหมือนเหตุการณ์ในอดีตอย่าง ช่วงตอนเรือล่มซึ่งถือว่า รุนแรงมากเพราะมีผู้คนเสียชีวิตค่อนข้างมาก
ทั้งนี้หุ้นห้างสรรพสินค้า ต้องยอมรับว่าเป็นหุ้นเกี่ยวข้องกับผู้บริโภค ซึ่งภาพรวมสัญญาณการบริโภคในบ้านเราเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป หากดูในช่วงกลางปีที่ผ่านมาสัญญาณการบริโภคยังไม่ค่อยเด่นมาก ซึ่งถือว่า เป็นสัญญาณการรอกลับขึ้นมาเพิ่มเติมในช่วงถัดไป เพราะในช่วงหน้าฝนผู้คนอาจจะเข้าไปเดินห้างน้อย ขณะที่ช่วงของการชอปปิงจะเป็นช่วงไฮซีซัน แต่ก็ต้องรอดูมาตรการของภาครัฐด้วยว่า ที่เข้าหนุนนโยบายดิจิทัล 10,000 บาท จะเป็นอีกหนึ่งการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยได้หรือไม่ จึงแนะนำนักลงทุนว่า ควรรอดูจังหวะและค่อยๆ แบ่งทยอยเข้าไปลงทุนได้ เนื่องจากมาตรการรัฐที่จะเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจจะมีผลในช่วงก.พ. ปีหน้า
ทั้งนี้ “กรุงเทพธุรกิจ” ได้สำรวจหุ้นห้างสรรพสินค้า และหุ้นที่มีความเกี่ยวข้องกับห้างสรรพสินค้า โดยคัดเฉพาะที่เป็นห้างสรรพสินค้าเท่านั้น ซึ่งมีด้วยกัน 6 หลักทรัพย์ ดังนี้
1.บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา (CPN)
- น.ส.วัลยา จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
- ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ , เซ็นทรัล เอ็มบาสซี ,เซ็นทรัลพลาซ่า 37 แห่ง ,เซ็นทรัล วิลเลจ
- มาร์เก็ตแคป 281,622.00 ล้านบาท
- P/E 22.35 เท่า
- ราคาเป้าหมาย 81.04 บาท
- ราคา ณ 4 ต.ค.66 ที่ 62.50 บาท
- เหลืออัพไซด์ 29.66%
2.บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น (CRC)
- นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
- ศูนย์การค้าโรบินสัน 51 สาขา
- มาร์เก็ตแคป 235,209.00 ล้านบาท
- P/E 28.61 เท่า
- ราคาเป้าหมาย 49.87 บาท
- ราคา ณ 4 ต.ค.66 ที่ 39.75 บาท
- เหลืออัพไซด์ 25.46%
3.บมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ป (AWC)
- นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่
- เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ ,เกทเวย์ ,ลาซาล อเวนิว ,พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า 3 แห่ง ,โอ.พี. เพลส แบงค็อก ,ตะวันนา บางกะปิ
- มาร์เก็ตแคป 120,968.86 ล้านบาท
- P/E 24.31 เท่า
- ราคาเป้าหมาย 5.90 บาท
- ราคา ณ 4 ต.ค.66 ที่ 3.64 บาท
- เหลืออัพไซด์ 62.09%
4.บมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LH)
- นายวัชริน กสิณฤกษ์ กรรมการผู้จัดการสายงานปฏิบัติการ
- นายโชคชัย วลิตวรางค์กูร กรรมการผู้จัดการสายงานปฏิบัติการ โครงการอาคารชุด
- นายวิทย์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการสายงานสนับสนุน
- ศูนย์การค้า Terminal 21 จำนวน 4 สาขา ได้แก่ อโศก,พระราม 3 , โคราช และพัทยา
- มาร์เก็ตแคป 92,610.28 ล้านบาท
- P/E 13.14 เท่า
- ราคาเป้าหมาย 10.06 บาท
- ราคา ณ 4 ต.ค.66 ที่ 7.70 บาท
- เหลืออัพไซด์ 30.65%
5.บมจ.เอ็ม บี เค (MBK)
- นายวิจักษณ์ ประดิษฐวณิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้อำนวยการ
- ห้างสรรพสินค้า เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ,ศูนย์การค้า พาราไดซ์ พาร์ค ,ศูนย์การค้า พาราไดซ์ เพลส ,เดอะไนน์ เซ็นเตอร์
- มาร์เก็ตแคป 34,694.20 ล้านบาท
- P/E 30.19 เท่า
- ราคา ณ 4 ต.ค.66 ที่ 17.80 บาท
6.บมจ.เดอะ แพลทินัม กรุ๊ป (PLAT)
- นายสุรชัย โชติจุฬางกูร ประธานกรรมการบริหาร
- ศูนย์การค้าเดอะ แพลทินัม แฟชั่น มอลล์ ,เดอะ มาร์เก็ต แบงคอก ,เดอะ นีออน ไนท์ บาซาร์
- มาร์เก็ตแคป 8,288.00 ล้านบาท
- P/E - เท่า
- ราคา ณ 4 ต.ค.66 ที่ 3.00 บาท
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์