4 CEO คนรุ่นใหม่ ครบเครื่อง วัยหลักสี่ คุมองค์กรใหญ่ ระดับเกินแสนล้าน
4 CEO คนรุ่นใหม่ ครบเครื่อง วัยหลักสี่ คุมองค์กรใหญ่ ระดับเกินแสนล้าน ผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. กีรติ กิจมานะวัฒน์ อายุน้อยสุด 45 ปี แห่ง AOT มาร์เก็ตแคป 978,570.45 ล้านบาท
จากข้อมูลบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ปัจจุบันมีบริษัทที่มี Market Cap หรือ มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดสูงเกินกว่า 1 แสนล้านบาทอยู่ 36 บริษัท (ข้อมูล ณ 5 ก.ย.66) ซึ่งในบรรดาบริษัทเหล่านี้ มีผู้บริหารสูงสุดขององค์กร หรือที่เรียกว่า ซีอีโอ ย่อมาจาก chief executive officer หรือ ประธานกรรมการบริหาร หรือประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ที่มีความรู้ มีประสบการณ์การทำงาน และอยู่ในวัยที่ไม่เกิน 50 ปี มีอยู่ 4 คน “กรุงเทพธุรกิจ” จะพาไปส่อง 4 CEO คนรุ่นใหม่ สุดเก่ง ที่บริหารองค์กรระดับเกินแสนล้าน
1.บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT
โดย ทอท.ประกอบธุรกิจท่าอากาศยานของประเทศไทย โดยธุรกิจหลักประกอบด้วย การจัดการ การดำเนินงาน และการพัฒนาท่าอากาศยาน โดยมีท่าอากาศยานในความรับผิดชอบ 6 แห่ง คือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานหาดใหญ่ ซึ่งท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งนี้ ให้บริการเที่ยวบินภายในประเทศและระหว่างประเทศ โดยมีท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นท่าอากาศยานหลักของประเทศ
ปัจจุบันนายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. คนที่ 14 โดยมีผลแต่งตั้งไปเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา เกิดเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2521 อายุ 45 ปี ถือเป็นผู้บริหารคนรุ่นใหม่ที่จะนำพาสนามบินสุวรรณภูมิไประดับเวิลด์คลาส
ด้านประวัติการศึกษา จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต (วิศวกรรมโยธา) สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่วนปริญญาโทวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต (วิศวกรรมโยธา) มหาวิทยาลัยโตเกียว และจบปริญญาเอกวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิต (วิศวกรรมโยธา) มหาวิทยาลัยโตเกียว
สำหรับประวัติการทำงานที่ผ่านมา
- รองประธานกรรมการอาวุโส บริษัท อีจีส เรล (ประเทศไทย) จำกัด
- ที่ปรึกษาสายงานพัฒนาธุรกิจ บริษัท อินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
- ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานพัฒนาธุรกิจ บริษัท อินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
- ที่ปรึกษาประธานกรรมการบริหาร บริษัท พีเอสเค คอนซัลแทนส์ จำกัด
นอกจากนี้ยังเป็นที่รู้จักในวงการบริษัทที่ปรึกษาที่รับสัญญางานจ้างจากหน่วยงานของกระทรวงคมนาคม เช่น การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ในหลายโครงการ อาทิ โครงการรถไฟฟ้าในภูมิภาค โครงการสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย โครงการต่อสัญญาทางด่วน ฯลฯ
ทั้งนี้หุ้น AOT ผลประกอบการไตรมาส 2/66 (ม.ค.-มี.ค.) มีกำไรสุทธิ 1,860.53 ล้านบาท พลิกจากขาดทุน 3,276.46 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 157% โดยงวด 3 เดือน AOT มีรายได้จากการขายหรือการให้บริการเพิ่มขึ้น 7,983.74 ล้านบาท หรือ 264.62% จากการเพิ่มขึ้นทั้งรายได้เกี่ยวกับกิจการการบิน 4,305.03 ล้านบาท หรือ 345.20% และรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบิน 3,678.71 ล้านบาท หรือ 207.85% เนื่องจากจำนวนเที่ยวบินและจำนวนผู้โดยสารโดยรวมเพิ่มขึ้น
ขณะที่ งวด 6 เดือนปีงบประมาณ 2566 (ต.ค.2565-มี.ค.2566) มีกำไรสุทธิ 2,203.30 ล้านบาท พลิกจากขาดทุน 7,548.12 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันปี 2565 หรือเติบโต 130% โดยมีรายได้จากการขายหรือการให้บริการเพิ่มขึ้น 14,480.43 ล้านบาท หรือ 270.95% จากการเพิ่มขึ้นทั้งรายได้เกี่ยวกับกิจการการบิน 7,803.61 ล้านบาท หรือ 371.67% และรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบิน 6,676.82 ล้านบาท หรือ 205.77% เนื่องจากจำนวนเที่ยวบินและจำนวนผู้โดยสารโดยรวมเพิ่มขึ้น
สำหรับหุ้น AOT ปัจจุบันมีมาร์เก็ตแคป 978,570.45 ล้านบาท P/E 243.04 เท่า อัตราผลตอบแทนจากราคาย้อนหลัง YTD -8.67% ราคาปิด ณ วันที่ 5 ต.ค.66 ที่ 69.00 บาท มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1
2.บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE
TRUE ประกอบธุรกิจเป็นผู้ให้บริการด้านการสื่อสารโทรคมนาคม บริการด้านดิจิทัลครบวงจร และดิจิทัลคอนเวอร์เจนซ์ไลฟ์สไตล์ครอบคลุมทั้งโทรศัพท์เคลื่อนที่ บอรดแบนด์อินเทอร์เน็ต WiFi โทรทัศน์ คอนเทนต์ และดิจิทัลมีเดียแพลตฟอร์ม
ปัจจุบันนายมนัสส์ มานะวุฒิเวช ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น อายุ 48 ปี ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566 ที่่ผ่านมา ก่อนหน้านี้ ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการบริหารกลุ่ม ด้านการบริหารจัดการระดับภูมิภาค นับเป็นผู้นำรุ่นใหม่ที่ได้ร่วมพัฒนาและขับเคลื่อนธุรกิจบริการของกลุ่มทรูมาตลอด 20 ปีที่ผ่านมา
สำหรับประวัติการทำงานที่ผ่านมา
- ก.พ. 2564-ก.พ. 2566 กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน)
- พ.ย. 2562 -ก.พ. 2564 ผู้อํานวยการบริหารอาวุโส - ด้านการบริหารจัดการระดับภูมิภาค BMA II & East บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน)
- 2561 - พ.ย. 2562 ผู้อํานวยการบริหารด้านการบริหารจัดการระดับภูมิภาค (พื้นที่ภาคตะวันออก) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน)
- 2560 - พ.ย. 2561 ผู้อํานวยการบริหารด้านการบริหารจัดการระดับภูมิภาค (พื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออก) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน)
- ก.ค. 2564- ปัจจุบัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จํากัด
- 2556- ปัจจุบัน กรรมการ บริษัท ทรู มัลติมีเดียจํากัด
ด้านการศึกษาระดับปริญญาโทวิศวกรรมไฟฟ้าสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยซีราคิวส์ และวิศวกรรมไฟฟ้ากำลัง จากสถาบันโพลิเทคนิคเรนซีเลียร์ สหรัฐอเมริกา และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
สำหรับผลดำเนินงานไตรมาส 2/66 ขาดทุนสุทธิ 2,320 ล้านบาท ลดลง 191% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่กำไรสุทธิ 2,556 ล้านบาท จากการกลับรายการของสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีจากการยกยอดผลขาดทุนของ DTN จากความเป็นไปได้ของการปรับโครงสร้างธุรกิจภายใต้กลุ่มบริษัท และการเพิ่มขึ้นของค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย
โดยบริษัทมีรายได้จากการให้บริการจำนวน 39,431 ล้านบาท ลดลง 1.2% จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่เพิ่มขึ้น 1.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มาจากรายได้การให้บริการที่เติบโตขึ้นจากธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่และธุรกิจออนไลน์ นอกจากนี้บริษัทคาดว่า คาดรายได้จากการให้บริการปี 2566 ไม่รวมรายได้จากการเชื่อมต่อโครงข่ายทรงตัว มี EBITDA (ปรับปรุง) เติบโตที่เป็นเลขหลักเดียวในระดับต่ำ-ปานกลาง โดยวางงบลงทุน 25,000-30,000 ล้านบาท
สำหรับหุ้น TRUE ปัจจุบันมีมาร์เก็ตแคป 238,409.50 ล้านบาท P/E - เท่า อัตราผลตอบแทนจากราคาย้อนหลัง YTD -15.34% ราคาปิด ณ วันที่ 5 ต.ค.66 ที่ 6.95 บาท โดยมีผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 เครือเจริญโภคภัณฑ์ และ TELENOR ASIA PTE LTD ในสัดส่วนเท่า ๆ กัน จำนวน 30.3%
3.บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC
เป็นหนึ่งใน 50 บริษัทลำดับต้น ๆ ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทยักษ์ใหญ่ในกลุ่มบริษัทเชิงพาณิชย์ โดยการจัดการแบรนด์ต่าง ๆ ที่อยู่ในเครือ และผสมความเป็นท้องถิ่นและหลักสากลในวัฒนธรรมองค์กร ในการบริหารงานด้านการตลาด การขาย การผลิต การจำหน่าย และการบริการ
ปัจจุบันนางฐาปณี เตชะเจริญวิกุล ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC ในวันที่ 26 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา และนับเป็นผู้นำสูงสุดหญิงคนแรกของบริษัทในรอบ 140 ปี
ทั้งนี้่นางฐาปณี เตชะเจริญวิกุล หรือโอ๊ะ อายุ 47 ปี เป็นบุตรคนที่ 4 ของนายเจริญและคุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี มีพี่น้อง 5 คน ดังนี้
1.นางอาทินันท์ พีชานนท์ รองประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทอาคเนย์ (พี่สาวคนโต)
2.นางวัลลภา ไตรโสรัส กรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัท ทีซีซี แลนด์ แอสเสท เวิรด์ จำกัด (พี่สาวคนรอง)
3.นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) (พี่ชายคนโต)
4.นายปณต สิริวัฒนภักดี รองประธานกรรมการ บริษัท แผ่นดินทองพร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) (น้องชายคนเล็ก)
นางฐาปณีสมรมกับนายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่คนแรกของบริษัท บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ Big C Retail (BRC) มีบุตรด้วยกัน 3 คน เป็นผู้หญิง 2 คน และผู้ชาย 1 คน
ส่วนด้านการศึกษานางฐาปณีระดับปริญญาโท สาขาบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา และระดับปริญญาตรี สาขาเศรษฐศาสตร์ จากสถาบันเอ็มไอที (MIT) ประเทศสหรัฐอเมริกา
ด้านประวัติการทำงานผ่านมาของ ฐาปณี เตชะเจริญวิกุล ประกอบด้วย ดำรงตำแหน่ง กรรมการบริหาร กรรมการการลงทุน และเลขานุการคณะกรรมการสรรหา กำหนดค่าตอบแทน และกำกับดูแลกิจการ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน)ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการ บริษัท ทีซีซี อินเตอร์เทรด จำกัด บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทีซีซี โฮลดิ้งส์ จำกัด อีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีบทบาทสำคัญในการนำกลุ่มบีเจซี และบิ๊กซี เข้าร่วมในกิจกรรมโครงการจิตอาสาพัฒนา ‘เราทำความดี ด้วยหัวใจ’ และได้รับรางวัลสตรีนักบริหารภาคเอกชนดีเด่น ประเภทสถานประกอบกิจการขนาดใหญ่ ประจำปี 2557 และ 2561
สำหรับผลการดำเนินงานช่วงไตรมาส 2/66 มีกำไร 1,209.55 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.54% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไร 1,203.09 ล้านบาท โดยมีรายได้รวมในไตรมาส 2/66 เท่ากับ 42,828 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.4% โดยเพิ่มขึ้นจากยอดขายและรายได้ค่าบริการที่เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 39,402 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,299 ล้านบาท หรือ 3.4% จากยอดขายที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มสินค้าและบริการทางเวชภัณฑ์และเทคนิค และค้าปลีกสมัยใหม่ ในขณะที่รายได้อื่นรวมอยู่ที่ 3,375 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 122 ล้านบาท หรือ 3.8% เนื่องจากรายได้อื่นของกลุ่มธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่เพิ่มสูงขึ้น จากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของรายได้ค่าเช่า
สำหรับหุ้น BJC ปัจจุบันมีมาร์เก็ตแคป 120,233.90 ล้านบาท P/E 23.93 เท่า อัตราผลตอบแทนจากราคาย้อนหลัง YTD -14.89% ราคาปิด ณ วันที่ 5 ต.ค.66 ที่ 30.25 บาท มี บริษัท ทีซีซี คอร์ปอเรชั่น จำกัดเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1
4.บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC
บริษัทยักษ์ใหญ่อสังหาริมทรัพย์ของไทยที่มุ่งตอบสนองไลฟ์สไตล์แบบครบวงจร ประกอบไปด้วยกลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการ และกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อประกอบกิจการการค้า และกลุ่มธุรกิจอาคารสำนักงาน
ปัจจุบันนางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ได้รับการตั้งแต่เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2562 ปัจจุบันอายุ 49 ปี เป็นบุตรคนที่ 2 ของนายเจริญและคุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี ด้านชีวิตส่วนตัวนางวัลลภา หรือ เอ๋ สมรสกับ นายโสมพัฒน์ ไตรโสรัส มีทายาทด้วยกัน 5 คน
สำหรับด้านการศึกษาระดับปริญญาโทสาขาเศรษฐศาสตร์ที่ดิน มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ปริญญาโทสาขาเศรษฐศาสตร์การวางผังเมืองจาก London School of Economics and Political Science (LSE) ประเทศอังกฤษ และปริญญาตรีสาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) มหาวิทยาลัยศิลปากร
ส่วนประสบการณ์ด้านการทำงาน ปี 2544 ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการบริหาร บริษัท ทีซีซี โฮลดิ้ง จำกัด ต่อมาได้มีบทบาทสำคัญในการร่วมก่อตั้งและดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ทีซีซี แลนด์ ซึ่งเป็น Holding Company ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่หลากหลาย อันได้แก่ โรงแรม, ศูนย์การค้า, อาคารสำนักงาน, ศูนย์ประชุม, สนามกอล์ฟ, โครงการมาสเตอร์แพลน และ แลนด์แบงค์
จากนั้นในปี 2546 เข้าดำรงตำแหน่งรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีซีซี แคปปิตอล แลนด์ จำกัด ที่ก่อตั้งขึ้นในรูปแบบธุรกิจร่วมทุนกับ แคปปิตอล แลนด์ สิงคโปร์ เพื่อสร้างและพัฒนาโครงการอยู่อาศัย ทั้งคอนโดมิเนียมและหมู่บ้านจัดสรร อันเป็นการเพิ่มความแข็งแรงให้กับกลุ่มบริษัท
สำหรับผลประกอบการไตรมาส 2/66 ของ AWC มีรายได้รวมกว่า 4,518 ล้านบาท โดยมีกำไรสุทธิ 1,116 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 32 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเติบโตแบบก้าวกระโดดมากกว่าปี 2562 นอกจากนี้บริษัทมีมูลค่าทรัพย์สินดำเนินงานรวม 120,307 ล้านบาท เพิ่มสูงขึ้น 36,996 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 44.4 เทียบกับช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 ในปี 2562
และมีกำไรจากการดำเนินงานอยู่ที่ 2,472 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 20.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากการกลับมาของกลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการ และภาพรวมขออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยที่เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น
โดยเฉพาะโรงแรมในกรุงเทพฯ และโรงแรมกลุ่มประชุมสัมมนา ซึ่งมีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าพักโรงแรมในเครือ AWC เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน ส่งผลให้อัตรารายได้เฉลี่ยต่อห้องพักในภาพรวมสูงถึง 3,356 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 82.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และสูงกว่าปี 62 ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 อยู่ที่ราว 10% รวมถึงมีอัตราค่าห้องพักเฉลี่ยต่อวัน เท่ากับ 5,367 บาท/คืน เติบโต 25.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และยังสูงกว่าปี 2562 ด้วยเช่นกัน
สำหรับหุ้น AWC ปัจจุบันมีมาร์เก็ตแคป 116,488.53 ล้านบาท P/E 23.41 เท่า อัตราผลตอบแทนจากราคาย้อนหลัง YTD -42.22% ราคาปิด ณ วันที่ 5 ต.ค.66 ที่ 3.68 บาท มีบริษัท ทีซีซี บริหารธุรกิจ จำกัดเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1