FETCO จับตา สงครามอิสราเอล - ฮามาส สัปดาห์นี้ ใกล้ชิด หวั่นลุกลามกระทบทั่วโลก
เฟทโก้ เกาะติดสงครามอิสราเอล - ฮามาส ในสัปดาห์ที่ 2 นี้ ใกล้ชิด โดยเฉพาะปฏิกิริยาชาติอาหรับ หากส่อรุนแรงขึ้น หวั่นลุกลามกระทบทั่วโลก กระทบราคาน้ำมัน - เงินเฟ้อพุ่ง ขณะที่ฟันด์โฟลว์ยังชะลอไหลเข้า แต่มองเป็นโอกาสของภูมิภาคอาเซียนในระยะยาว แนะไทยเร่งดึงศักยภาพเติบโต
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยว่า สำหรับสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล และกลุ่มฮามาสในสัปดาห์นี้ ต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 2 แล้ว มองว่า ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นปัจจัยที่สร้างความกังวลใจให้กับคนทั่วโลก และมีผลต่อปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ และเศรษฐกิจโลก ประเมินว่า หากสถานการณ์ดังกล่าวยังยืดเยื้อ และมีการแทรกแซงเข้ามาของประเทศต่างๆ อาจทำให้สถานการณ์ลุกลามเป็นวงกว้างมากขึ้น และมีผลกระทบเงินเฟ้อ และราคาน้ำมันมากน้อยแค่ไหน
"สัปดาห์ที่ 2 มองว่า จะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของสถานการณ์ ซึ่งจะต้องดูว่าจะมีการแทรกแซงของประเทศอื่นๆหรือไม่ และปฏิกิริยาของชาติอาหรับ ซึ่งหากหยุดแค่ในฉนวนกาซาก็จะไม่มีผลกระทบต่อเงินเฟ้อ เพราะอิสราเอลไม่ได้มีผลิตน้ำมัน และปาเลสไตน์ไม่ได้มีผลิตทรัพยากรที่สำคัญ เหมือนความขัดแย้งของรัสเซียและยูเครน"
ตั้งแต่สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล และกลุ่มฮามาสตั้งแต่ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ จะเห็นว่าราคาน้ำมัน WTI มีการขยับขึ้นมาบริเวณ 87 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากช่วงก่อนเกิดสถานการณ์ราคาน้ำมัน WTI อยู่ที่ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และราคาทองคำปรับขึ้นมา 100 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เป็นสิ่งที่สะท้อนความกังวลใจในประเด็นดังกล่าว ทำให้มีเงินไหลเข้าในสินทรัพย์ปลอดภัย โดยปัจจุบันยอมรับว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมา 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ยังคงมีผลกระทบแค่ในวงจำกัดเท่านั้น
แต่ในเรื่องของเงินเฟ้อยังต้องจับตาดูว่าจะมีการลุกลามของสถานการณ์หรือไม่ หากลุกลามไปถึงประเทศอื่นๆโดยเฉพาะในกลุ่มอาหรับ และตะวันออกกลาง อาจจะส่งผลต่อทิศทางราคาน้ำมันได้ และมีผลกระทบต่อเงินเฟ้อในระยะต่อไป
นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า ในส่วนทิศทางของกระแสเงินทุนมองว่า ยังรอติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดอยู่ อาจจะยากที่กระแสเงินทุนจะไหลเข้ามาในช่วงนี้ และรอจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลง เพราะยังไม่มีความแน่ชัดว่าระยะต่อไปจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น นักลงทุนยังรอดูสถานการณ์ จนกว่าสถานการณ์จะผ่านพ้นไป และมีชัดเจนออกมาเป็นรูปธรรมก่อนกลับมาตัดสินใจลงทุนอีกครั้ง
อย่างไรก็ดี มองว่า หากในระยะยาวภูมิภาคอาเซียน อาจได้รับประโยชน์ในเรื่องเงินทุนไหลกลับมา เพราะเป็นภูมิภาคที่มีความสงบ ไม่มีสงคราม และความขัดแย้ง ต้องรักษาความเป็นกลาง ซึ่งจะเป็นโอกาสต่อประเทศไทยในระยะยาว ที่จะได้รับอานิสงส์ดังกล่าวไปด้วย
"ประเทศไทยต้องหาแนวทางในการดึงศักยภาพของประเทศให้เกิดความน่าสนใจให้นักลงทุนเข้ามาลงทุน และมีการสร้างจุดแข็งขึ้นมาเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศรอบข้างในอาเซียน"
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์