หุ้น ‘น้ำอัดลม - ผลไม้’ ร่วงเฉียด 3% เซ่นราคาน้ำตาลพุ่ง โบรกเชื่อผลกระทบจำกัด
หุ้นกลุ่มเครื่องดื่มปรับตัวลงมา หลังจากที่กอน. มีมติให้ปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายในประเทศหน้าโรงงานกิโลกรัม ละ 4 บาท ในเดือน ต.ค.นี้ หุ้น HTC ราคาปรับร่วงลงมากที่สุดในกลุ่มที่ 15 บาท หรือ ลดลง 0.40 บาท หรือ -2.60%
หลังจากที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) มีมติให้ปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายในประเทศหน้าโรงงานกิโลกรัม ละ 4 บาท ในเดือน ต.ค.นี้ ส่งผลให้ความเคลื่อนไหวหุ้นกลุ่มเครื่องดื่มปรับตัวลง ล่าสุด ตลาดหุ้นไทยภาคบ่ายวันนี้ เวลา 14.40 น.
หุ้น HTC หรือ บมจ. หาดทิพย์ ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มน้ำอัดลม โคคา-โคลา แฟนต้า สไปร์ท ราคาปรับร่วงลงมาที่ 15 บาท หรือ ลดลง 0.40 บาท หรือ -2.60%
หุ้น PLUS หรือ บมจ. โรแยล พลัส ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มน้ำผลไม้ ได้แก่ น้ำมะพร้าว น้ำนมมะพร้าว น้ำผลไม้ผสมเม็ดแมงลักและเมล็ดเชีย และน้ำผลไม้ผสมอื่นๆ ราคาปรับร่วงลงมาที่ 6 บาท หรือ ลดลง 0.15 บาท หรือ -2.44%
หุ้น MALEE หรือ บมจ. มาลีกรุ๊ป ผลิตและจำหน่ายน้ำผลไม้ตรามาลี ราคาปรับร่วงลงมาที่ 7.05 บาท หรือ ลดลง 0.10 บาท หรือ -1.40%
หุ้น OSP หรือ บมจ. โอสถสภา ผลิต และจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค โดยมีกลุ่มผลิตภัณฑ์หลักได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม รวมถึงผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและลูกอม ราคาปรับร่วงลงมาที่ 23.20 บาท หรือ ลดลง 0.20 บาท หรือ -0.85%
หุ้น TACC หรือ บมจ.ที.เอ.ซี. คอนซูเมอร์ ผลิต และจำหน่ายเครื่องดื่มประเภทชาและกาแฟ เครื่องดื่มในโถกดในร้าน 7-Eleven, เครื่องดื่มปรุงสำเร็จชนิดผงที่จัดจำหน่ายให้กับร้าน All Cafe ในร้าน 7-Eleven ราคาปรับร่วงลงมาที่ 4.30 บาท หรือ ลดลง 0.02 บาท หรือ -0.46%
หุ้น LST หรือ บมจ. ล่ำสูง (ประเทศไทย) ผลิตและจำหน่ายผลไม้แช่แข็งหรือบรรจุกระป๋อง น้ำผลไม้ กาแฟ เครื่องดื่มต่างๆ และซอสปรุงรส ราคาปรับร่วงลงมาที่ 4.78 บาท หรือ ลดลง 0.02 บาท หรือ -0.42%
วทัญ จิตต์สมนึก ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์กลยุทธ์ บล.พาย ให้ข้อมูลกับกรุงเทพธุรกิจว่า HTC มีสัดส่วนค่อนข้างมากในการใช้น้ำตาล แต่ในช่วงหลังอาจจะมีการปรับสูตรน้ำตาลลงมาบ้างก่อนหน้านี้ที่มีกา
ราคาน้ำตาลในตลาดโลกทำนิวไฮพุ่งขึ้น อยู่ที่ระดับ 28 เซนต์ต่อปอนด์ ส่งผลให้ผู้ส่งออกจะได้รับผลกระทบในกรณีดังกล่าว รวมถึงความที่ขายน้ำตาล หรือสินค้าแค่ในประเทศ อย่าง HTC และ OSP ที่ขายเฉพาะสินค้าในประเทศ จึงได้รับผลกระทบดังกล่าว
แต่อย่างไรก็ตาม ผลกระทบดังกล่าวไม่ได้มีนัยสำคัญมาก เนื่องจากว่า ก่อนหน้านี้กลุ่มเครื่องดื่มมีการปรับสูตรน้ำตาลลดลงมาบ้างแล้ว สัดส่วนการปรับขึ้นน้ำตาลไม่ได้มีผลต่อกำไรมากนัก
โดยสัดส่วนหุ้นเครื่องดื่มจะได้รับผลกระทบอยู่ที่ประมาณ 5-10% เท่านั้น อย่าง CBG มีสัดส่วนน้ำตาล 10-15% ซี่งมากกว่ารายอื่น ๆ ขณะที่ OSP และ SAPPE สัดส่วนน้ำตาลอยู่ที่ 5-7% และ ICHI สัดส่วนน้ำตาลประมาณ 3%
“ก่อนหน้านี้มีประเด็นเรื่องของภาษีความหวาน ทำให้หลายบริษัทมีการปรับน้ำตาลให้ลดน้อยลงไปแล้ว แต่มีบริษัทที่ไม่ได้มีการปรับลดความหวานลงไปมากนั้่นคือ CBG แต่เซนติเมนของ CBG มีการไปเอื้อกับเบียร์คาราบาวอยู่ จึงทำให้ไม่ได้รับผลกระทบเยอะ”
แนะนำนักลงทุน หากจะเข้ามาลงทุนเกี่ยวกับหุ้นเครื่องดื่ม หุ้น OSP เป็นอีกหนึ่งตัวที่ยังไม่ได้มีการปรับขึ้นมาก พื้นฐานยังดีอยู่ แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากก่อนหน้านี้มาแล้วทำให้ราคาปรับตัวลงมามาก
กรรณ์ หทัยศรัทธา นักกลยุทธ์ฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน สายงานวิจัย บล.ซีจีเอส ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากราคาน้ำตาลที่ปรับเพิ่มขึ้นส่งผลกระทบต่อหุ้นเครื่องดื่ม แต่เป็นผลกระทบกำจัดเท่านั้น โดยเบื้องต้น หุ้นที่ได้รับผลกระทบต่อต้นทุนน้ำตาล CBG อยู่ที่ประมาณ 12-13% ICHI 5% SAPPE 5% และ OSP แค่ 3%
ทั้งนี้ ประเมินว่า หากต้นทุนน้ำตาลที่สูงขึ้นอาจจะกระทบกำไรขั้นต้น CBG ราว 3.1% ยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้เนื่องจากบางส่วนเป็นการส่งออก ไม่ใช่ภายในประเทศ รวมถึง SAPPE ที่ผลกระทบอาจจะต่ำกว่าตัวเลขต้นทุนน้ำตาลที่เห็นข้างต้นเนื่องจากมีสัดส่วนน้ำตาลจากตลาดโลกหรือตปท. ดังนั้นราคาในประเทศจึงส่งผลจำกัด อย่างไรก็ตาม หากบริษัทจดทะเบียนที่มีสัดส่วนการขายในประเทศจะโดนค่อนข้างมาก
สำหรับราคาน้ำตาลทรายในประเทศมีแนวโน้มปรับขึ้นราคาหน้าโรงงานประมาณ กก.ละ 4 บาท ภายในเดือนต.ค.นี้ โดยแบ่งเป็นการปรับขึ้นราคาตามต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นกก.ละ 2 บาท และ การเก็บเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายกก.ละ 2 บาท เพื่อนำไปจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยที่ตัดอ้อยสดส่งเข้าโรงงานน้ำตาลโดยไม่ใช้วิธีการเผา ทำให่ราคาหน้าโรงงานขยับเป็น 23-24 บาท และ ขายปลีก 28-29 บาท/ กก.