ยุค 'ไอพีโอ' สะดุดไร้ความเชื่อมั่น – ราคาต่ำจองแรง
ความน่าสนใจตลาดหุ้นไทยเพิ่มความมั่งคั่งให้กับนักลงทุนยังเป็นแหล่งระดมทุนที่มีต้นทุนถูกเทียบกับดอกเบี้ยธนาคารสำหรับบริษัทขนาดใหญ่ และขนาดเล็กจนทำให้เป็นอีกสีสันให้กับนักลงทุนในตลาดหุ้นไทยที่มีสินค้าใหม่เข้ามาให้ลงทุนอย่าง ‘หุ้นไอพีโอ’
แต่ปัจจัยที่ทำให้หุ้นไอพีโอเปรี้ยงปร้างเป็นหุ้นฮอตติดลมบนกลับมีหลายด้านที่นักลงทุนต้องให้ความสำคัญมากกว่าเดิม !!
หลังภาพวัฏจักรหุ้นไอพีโอที่ทยอยเข้าตลาดหุ้นในช่วงนี้กลับเผชิญราคาหุ้นร่วงต่ำจองไม่ใช่แค่ระหว่างการซื้อขายหุ้นวันแรก แต่กลับตั้งแต่วินาทีแรกที่กดปุ่มทำการซื้อขายหุ้นเลยทีเดียว และยิ่งภาวะตลาดหุ้นไม่เอื้อมีแรงขายจากภาพใหญ่ทำให้บรรยากาศหุ้นไอพีโอกลายเป็นจุดอันตรายสำหรับการลงทุนไปแทน
เฉพาะเดือนต.ค. ถือว่าเป็นภาวะตลาดหุ้นขาลง แม้จะรีบาวด์บ้างแต่เป็นปรับฐานเพื่อลงลึกต่อจากต้นเดือนดัชนี 1,476 จุด ดัชนีปรับตัวลดลงทำนิวไลว์ในรอบ 3 ปี โดย 31 ต.ค.66 ดัชนีหุ้นปิดที่ 1,379 จุด
เท่ากับเป็นการปรับตัวลดลงเกือบ 100 จุด หรือ 6.57% ผลกระทบปัจจัยสงครามอิสราเอล – กลุ่มฮามาส และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยที่ไม่ชัดเจน ทำให้เทขายสินทรัพย์เสี่ยงถือเงินสดหรือไม่โยกเงินสินทรัพย์เสี่ยงน้อยกว่า
ดังนั้นหุ้นไอพีโอจึงเจอแรงกดดันดังกล่าวอยู่แล้ว บรรยากาศการลงทุนไม่เอื้อ ปรากฏการณ์ราคาหุ้นไอพีโอต่ำจองเกิดขึ้นได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับมีปัจจัยด้านตั้งราคาหุ้นเกินแวลู การกระจายหุ้นที่กระจุกตัวที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือบุคคลไม่กี่คน และการใช้ผู้ดูแลสภาพคล่องหรือ Market Marker ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อนักลงทุนเฉพาะกลุ่ม
และยังไม่นับรวมด้านพื้นฐานธุรกิจที่เป็นด่านแรกๆ ที่นักลงทุนจะตัดสินใจ 50% ว่าหุ้นดังกล่าวน่าสนใจเข้าไปใช้สิทธิจองหุ้นใส่เงินลงทุนตามที่ได้รับจัดสรรหรือไม่ หรือการเร่งเข้าตลาดหุ้นหลังไฟลิ่งผ่านมีระยะเวลาต้องเข้าตลาด เพื่อไม่ให้ไปติดเกณฑ์ใหม่ที่ปรับเข้มงวดมากขึ้นปี 2567 เช่นกำไร 3 ปี ขึ้นไป
ด้านตัวกลางทั้ง ที่ปรึกษาการเงิน (FA) ผู้รับประกันการจัดจำหน่าย (Underright ) จำเป็นต้องทำงานเพื่อลูกค้า และคำนึงถึงนักลงทุนที่ได้รับการจัดสรรหุ้นไปภายใต้ราคาหุ้นที่มีความเหมาะสม การดูแลสภาพคล่องของหุ้นของ Market Marker ในตลาดตั้งแต่เปิดซื้อขายวันแรกจนจบช่วง Silent period กำหนดห้ามขายหุ้น 6 เดือน
แต่กลไกดังกล่าวยังมีแทกติก และกลลวงในตลาดหุ้นที่แสวงหากำไรไม่น้อยจนเกิดประเด็นหุ้นไอพีโอหลายบริษัทต่ำจอง – หลุดจองอย่างหนัก ราคาเทขายแทบจะเท่ากับราคาพาร์ทั้งที่เป็นหุ้นใหม่
จากไอพีโอทั้งหมดเข้ามา 9 บริษัท แบ่งเป็น SET 4 บริษัท และ MAI อีก 5 บริษัท ปรากฏราคาหุ้นต่ำจองตั้งแต่ซื้อขายวันแรก ซึ่งมี 4 บริษัทที่ราคาร่วงหนักวินาทีแรกที่ทำการซื้อขาย ประกอบไปด้วย
บริษัท วินโดว์ เอเชีย จำกัด (มหาชน) หรือ WINDOW ราคาไอพีโอ 2.10 บาท เปิดที่ 2.84 บาท ก่อนจะเจอแรงขายลงมาปิดตลาดที่ 1.27 บาท ลดลง 39.52% ถัดมา บริษัท มาร์เก็ต คอนเน็กชั่นส์ เอเชีย จำกัด (มหาชน) หรือ MCA ราคาจอง 3.30 บาท เปิดตลาดราคา 3.00 บาท และปิดตลาดวันแรกที่ 2.04 บาท ลดลง 38.18%
บริษัท อรสิริ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ ORN ราคาจอง 1.49 บาท เปิดตลาด 1.29 บาท ปิดตลาดวันแรก 1.09 บาท ลดลง 26.84% และ บริษัท นำวิวัฒน์ เมดิคอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ NAM ราคาจอง 7.70 บาท เปิดตลาด 7.40 บาท ปิดตลาดวันแรก 6.65 บาทลดลง 13.63%
ด้วยหุ้นดังกล่าวไม่ได้เป็นหุ้นที่อาศัยกลไกเอาเปรียบนักลงทุนทุกบริษัทแต่เมื่อเกิดภาวะราคาไอพีโอ “เสียทรง” แบบไม่สนใจนักลงทุนเข้าซื้อหุ้นจอง เกิดโดมิโนเอฟเฟกต์ กระทบความเชื่อมั่นไปยังหุ้นไอพีโอรายอื่นพากัน ขายหุ้นจองไม่หมด ไร้คนจองซื้อ ราคาหุ้นมีดิสเคาท์สูง และล็อกอัปจำนวนหุ้นแค่บางกลุ่ม จนกลายเป็นช่วงตลาดไอพีโอไร้เสน่ห์ปริยาย
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์