JKN ยังต้องลุ้น ‘เจ้าหนี้’ ส่อยื่นค้านฟื้นฟูกิจการ ยอมรับประเมินสถานะลำบาก
“JKN” ประกาศล้มละลายขอฟื้นฟูกิจการ แม้ยังมีกำไรสุทธิ แถมส่วนผู้ถือหุ้นเป็นบวกมีสินทรัพย์มากกว่าหนี้สิน ด้านผู้ถือหุ้นกู้เตรียมนัดเปิดประชุมเจ้าหนี้ ส่อยื่นคัดค้าน ยอมรับไม่รู้สถานะที่แท้จริงของบริษัท ประเมินการฟื้นฟูลำบาก ขณะ ตลท. สั่งขึ้นเครื่องหมาย C ในวันนี้
เจ้าหนี้และผู้ถือหุ้นกู้ของ บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ JKN กำลังอยู่ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่อย่างหนัก หลังจากคณะกรรมการ JKN มีมติให้ JKN ในฐานะลูกหนี้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการและเสนอผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง ภายใต้พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483
โดย JKN ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า บริษัทได้ยื่นคำร้องขอฟื้นกิจการไปเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 8 พ.ย.2566 และยังได้เสนอต่อศาลให้ JKN เป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ ขณะเดียวกันยังได้เสนอแนวทางการฟื้นฟูกิจการในเบื้องต้นมาด้วย
อย่างไรก็ตามการยื่นล้มละลายเพื่อขอฟื้นฟูกิจการของ JKN มีข้อสังเกตว่า JKN ยังคงเป็นบริษัทที่มีกำไรสุทธิ มีส่วนผู้ถือหุ้นเป็นบวก และมีสินทรัพย์รวมมากกว่าหนี้สิน ซึ่งผิดไปจากบริษัทอื่นๆ ที่ยื่นขอล้มละลายเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ
โดยผลดำเนินงาน ณ วันที่ 30 มิ.ย.2566 ทาง JKN มีกำไรสุทธิ 121 ล้านบาท มีสินทรัพย์รวม 12,161 ล้านบาท หนี้สินรวม 7,398 ล้านบาท และมีส่วนของผู้ถือหุ้นรวม 4,756 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามมีข้อสังเกตว่าในจำนวนสินทร้พย์ของ JKN ที่มีกว่า 12,161 ล้านบาท เป็นสินทรัพย์ไม่มีตัวตนหรือค่าลิขสิทธิ์ต่างๆ กว่า 7,728 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 64% ของสินทรัพย์ทั้งหมด แถมค่าลิขสิทธิ์ที่ว่านี้ยังมีคำถามถึงการตีมูลค่า
นักกฎหมายชี้รอลุ้นเจ้าหนี้ไฟเขียว
แหล่งข่าวจากที่ปรึกษาทางกฎหมาย กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า กรณีที่ JKN ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ และเสนอผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง ในทางกฎหมายสามารถดำเนินการได้หากบริษัทมีความจำเป็นต้องทำเช่นนั้น โดยตามกระบวนการจะใช้เวลาหลังศาลรับเรื่องแล้วประมาณ 2-6 เดือน ก่อนศาลจะมีคำสั่งให้ JKN ฟื้นฟูกิจการได้หรือไม่ได้
ส่วนกระบวนการระหว่างทางก่อนจะมีคำสั่ง ศาลจะมีการนัดเจ้าหนี้ และลูกหนี้เข้ามาไต่สวน ถึงตรงนั้นหากเจ้าหนี้ JKN ไม่เห็นด้วยกับแผนฟื้นฟูกิจการดังกล่าว ก็สามารถคัดค้านแผนดังกล่าวได้ แต่ลูกหนี้ก็สามารถโต้แย้งให้เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องขอฟื้นฟูกิจการได้เช่นกัน
จับตาเจ้าหนี้โหวตแผนฟื้นฟู JKN
ด้าน แหล่งข่าวในวงการตลาดหุ้นกู้ กล่าวว่า แผนฟื้นฟูกิจการของ JKN ที่ยื่นต่อศาลล้มละลาย ฯ ยังต้องรอฝั่งเจ้าหนี้นัดเปิดประชุมผู้ถือหุ้นกู้ฯ ก่อนว่าจะอนุมัติการฟื้นฟูกิจการของ JKN หรือไม่ หรือจะมีการปรับแนวทางใหม่ใดๆ เพิ่มเติมหรือไม่
อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวมองว่า เจ้าหนี้คงไม่ยอมให้ JKN เข้ากระบวนการฟื้นฟูกิจการโดยง่าย เพราะหากพิจารณาทรัพย์สินที่ JKN มีนั้น ส่วนใหญ่เป็นทรัพย์สินที่เป็นลิขสิทธิ์ ยังขึ้นอยู่ที่การประเมินมูลค่า ว่าจะทำให้บริษัทมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินจริงหรือไม่
ขณะเดียวกัน เจ้าหนี้ส่วนใหญ่ ไม่รู้สถานะที่แท้จริงของบริษัท ดูได้เพียงงบการเงินที่แจ้งตลาดทรัพย์ฯ เท่านั้น ซึ่งอาจใช้ประเมินแนวทางต่างๆ ในการปรับโครงสร้างหนี้ได้ไม่เพียงพอ ดังนั้นคาดว่า เจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงินคงจะมีการตรวจสอบในเรื่องนี้เพิ่มเติมก่อน
ตลท.ขึ้นเครื่องหมาย C วันนี้
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) กล่าวว่า ในเช้าวันนี้(10พ.ย.) ตลท.จะขึ้นเครื่องหมาย C (Caution) ในหุ้น JKN เพื่อเตือนนักลงทุน กรณีบริษัทจดทะเบียนมีเหตุการณ์ที่อาจมีผลกระทบต่อฐานะการเงินและการดำเนินธุรกิจ ซึ่งการขึ้นเครื่องหมายดังกล่าวทำให้ผู้ลงทุนต้องซื้อหุ้น JKN ด้วยบัญชีแคชบาลานซ์
ทั้งนี้เมื่อมีการขึ้นเครื่องหมายC ก็จะมีระยะเวลาให้บจ.นั้นมีการดำเนินการเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาในระยะเวลาที่กำหนด ถ้าไม่ทันระยะเวลาที่กำหนดก็จะมีมาตรการอื่นๆตามมา
สำหรับแนวทางของแผนฟื้นฟูกิจการ ในเบื้องต้น ประกอบด้วย
1. การปรับโครงสร้างกิจการและโครงสร้างทางการเงินให้สอดคล้องกับสมมติฐานทางการเงิน และสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน ตลอดจนแก้ไขปัญหาของกิจการในส่วนของเงินทุนหมุนเวียน เพื่อแก้ไขปัญหาสภาพคล่องทางการเงินของบริษัท รวมถึงการปรับโครงสร้างภายในองค์กร
2. การขยายระยะเวลาการชำระหนี้ การผ่อนผันในเรื่องอัตราดอกเบี้ย เพื่อให้บริษัทสามารถสร้างรายรับจากการประกอบกิจการและนำมาจัดสรรชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ได้อย่างครบถ้วน และบริษัทยังคงดำเนินกิจการต่อไปได้
3. การได้รับเงินสนับสนุนทางด้านการเงินจากแหล่งเงินทุน โดยได้รับจากผู้ลงทุนรายใหม่ หรือสถาบันการเงินเพื่อเป็นการหมุนเวียนในกิจการของบริษัท
4. การจัดหาแนวทางการดำเนินการขายทรัพย์สินที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์หรือก่อให้เกิดรายได้ เพื่อนำเงินที่ได้จากการขายทรัพย์สินดังกล่าวมาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย
5. การจัดเตรียมแผนงาน และกลยุทธิ์ในการบริหารสภาพคล่องของบริษัท และการปรับปรุงระบบ โครงสร้างภายในองค์กรและการพัฒนาต่อยอดธุรกิจให้มีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ JKN ยังแจ้งต่อ ตลท. ด้วยว่า การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการของบริษัทจะช่วยให้บริษัทแก้ไขปัญหาสภาพคล่องของบริษัทได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีกฎหมายรองรับ และให้ความคุ้มครองแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายอย่างเป็นธรรม
อีกทั้ง บริษัทยังสามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้ในระหว่างที่อยู่ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการ เพื่อการแก้ไขปัญหาของบริษัท และเพื่อสร้างผลกำไร จากการดำเนินกิจการต่อไปในอนาคตได้อย่างมั่นคง บริษัทจะแจ้งให้ทราบเกี่ยวกับความคืบหน้าใด ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการฟื้นฟูกิจการของบริษัทต่อไป
ก่อนหน้านี้ JKN เผชิญปัญหาสภาพคล่องหนักจากปัญหาลงทุนเกินตัวทำให้ไม่สามารถชำระหนี้หุ้นกู้รุ่น JKN239A ซึ่งครบกำหนดไถ่ถอนเมื่อวันที่ 1 ก.ย.2566 รวมมูลค่ากว่า 443 ล้านบาท และผลจากการผิดนัดชำระหนี้ในครั้งนี้ยังส่งผลให้หุ้นกู้ JKN รุ่นอื่นๆ อีก 6 รุ่นรวมมูลค่ากว่า 2.7 พันล้านบาท ต้องกลายเป็นหุ้นกู้ที่ผิดนัดชำระ(Cross Default) ตามไปด้วย ซึ่งในเวลาต่อมาผู้ถือหุ้นกู้ JKN มีมติขยายเวลาชำระหนี้ และชำระคืนเงินต้นหุ้นกู้บางส่วน ส่งผลให้หุ้นกู้ตัวอื่นๆ ของ JKN รอดจากการถูก Call Default