ปมพิรุธ JKN ‘ยื่นฟื้นฟู’ ซื้อเวลา ‘หุ้นกู้ – งบQ 3 /2566’
“เงินขาดมือ – สภาพคล่องหาย – หมุนเงินไม่ทัน” เป็นคำที่ผู้บริหารธุรกิจไม่อยากจะได้ยินเพราะหมายถึง ‘วิกฤติทางการเงิน’ ของบริษัทหรือธุรกิจจนสามารถนำไปสู่การล้มละลายในอนาคตหากเป็นหุ้นกระทบราคา
ยิ่งถ้าเกิดขึ้นกับบริษัทจดทะเบียนเป็นปัจจัยลบที่กระทบราคาหุ้นได้อย่างรุนแรง หากผู้บริหาร – เจ้าของ ไร้แนวทางบริหารจัดการด้วยการ ทิ้ง – หนี – เบี้ยวหนี้ เป็นการขาดธรรมาภิบาลขั้นรุนแรงก็ว่าได้
ประเด็นดังกล่าวได้เคยเกิดขึ้นในตลาดหุ้นไทยหลายต่อหลายเคสในรูปแบบที่แตกต่างกัน ปี 2566 ปรากฏให้เห็นมากกว่า 1 เคส และมูลค่าเสียหายระดับหมื่นล้านบาท คือ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK
คดียังอยู่ระหว่างตรวจสอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือ DSI ส่วนตัวการ - ผู้บริหารส่วนหนึ่งหนีออกนอกประเทศเหลือแค่เจ้าหนี้สถาบันการเงิน – รายย่อย ที่ต้องต่อสู้หาวิธีเอาเงินคืนแม้จะได้แค่บางส่วนก็ตาม
อีกเคสที่กำลังจะกลายเป็น บทเรียนให้กับตลาดหุ้นไทย บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ JKN ที่ยื่นฟื้นฟูกิจการแบบเร่งด่วนภายใน 2 วัน และศาลล้มละลายกลางรับพิจารณาคำร้องทันทีด้วยการนัด 29 ม.ค.2567 ซึ่งระยะเวลาดังกล่าวทำให้ JKN ได้รับความคุ้มครองจากศาลในการดำเนินทั้งจากเจ้าหนี้ – ลูกหนี้ – คู่ค้า แตกต่างจากที่ผ่านมาจะมีการหารือกับเจ้าหนี้ และร่วมกับเสนอฟื้นฟูกิจการเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน
ตามระยะเวลาดังกล่าวมี ปัจจัยบีบคั้น JKN ใหญ่ๆ ถึง 2 เรื่องซ้อนๆ กัน ปัญหาใหญ่อันดับแรกคือ การชำระหนี้หุ้นกู้ และการครบกำหนดไถ่ถอน จากหุ้นกู้ชุดที่ 2/2563 ครบกำหนด 1 ก.ย. 2566 วงเงิน 600 ล้านบาท ดอกเบี้ย 6.6% ได้ผิดนัดชำระหนี้(บางส่วน )และขอเจรจาปรับเงื่อนไขผ่อนผันไม่ผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งผ่านการอนุมัติ 27 ก.ย.66 ด้วยการขยายเวลาชำระหนี้บางส่วน เดือนธ.ค.66 และชำระครั้งสุดท้ายเดือนก.พ. 2567 พร้อมปรับเพิ่มดอกเบี้ยเป็น 7 %
หุ้นกู้ชุดถัดไปและมีมากถึง 6 ชุด (ตามตาราง) มีมูลค่ารวมกัน 2,903 ล้านบาท ดอกเบี้ยระดับ 6.5 - 7% จะไล่ครบอายุตลอดปี 2567 - 2568 ดังนั้นหากมีหุ้นกู้ชุดใดชุดหนึ่งขอเรียกเงินคืนทั้งหมดหรือ JKN ไม่สามารถชำระหนี้ได้อีกจะเป็นการเรียกคืนชำระหุ้นกู้ทั้งหมด หรือที่เรียกว่า Cross - Default
เพียงแค่ปัญหาแรกถือว่าหนักหนาสาหัสสำหรับ JKN หากผู้ถือหุ้นกู้เริ่มไม่มั่นใจต่อธุรกิจ และเงินสดในมือจนเห็นการเรียกชำระหนี้กู้ที่ปรับเงื่อนไขไปแล้วช่วง 27 ก.ย.66 และการจะหาเงินรวดเดียวแทบเป็นไปไม่ได้ และยังการันตีปัญหาจากการที่บริษัทขอยื่นฟื้นฟูกิจการแบบปัจจุบันทันด่วนอีกด้วย
ปัญหาที่ 2 คือ ฐานะการเงินที่แท้จริงของ JKN ที่ไม่มีใครรู้ลึกไปกว่าผู้บริหารบริษัท โดยเฉพาะ “แอน” จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ที่เป็นทั้งผู้ถือหุ้นใหญ่ – เจ้าของ – และประธานกรรมการบริหาร นั้นเป็นอย่างไร
ยิ่งระยะเวลาส่งงบการเงินไตรมาส 3 ปี 2566 และงวด 9 เดือนปี 2566 เหลืออีกไม่กี่วัน (วันสุดท้าย 15 พ.ย.2566) กลับมีการประกาศยื่นฟื้นฟูกิจการทำให้ มีโอกาสสูงที่ JKN จะไม่ส่งงบการเงินดังกล่าวและถูกตลาดหลักทรัพย์ขึ้น SP จนกว่าจะส่งงบ
ดังนั้นอ้างอิงตัวเลขได้เพียงล่าสุดงวด 6 เดือนแรกปี 2566 ส่วนของ “สินทรัพย์ และหนี้สิน” ที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าเงินสดที่มีอยู่ที่ 112 ล้านบาท แต่มี “ลูกหนี้การค้าและลูกหนี้อื่น” 2,307 ล้านบาท เป็นการเพิ่มขึ้น 42% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
โดยเป็นลูกหนี้คงค้าง(จ่ายทั้งสิ้น) ถ้าสัดส่วนค้างจ่ายมากกว่า 6 -12 เดือนอัตรายมากสำหรับ JKN จากรายงานในงบการเงินได้ตั้งค่าเพื่อหนี้สงสัยจะสูญไว้ที่ 66.36 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3% ของทั้งหมด ซึ่ง JKN ได้ยืนยันในงบการเงินว่าวางแผนกับลูกค้าที่จะชำระเงินเริ่มตั้งแต่ต.ค.2566 เป็นต้นไป
จึงมีโอกาสในเชิงลบสูงกว่าว่าตัวเลขดังกล่าวผู้สอบบัญชีที่ต้องทำตามวิชาชีพมีการตั้งสำรองในจำนวนที่สูงมาก !!
เมื่อรวมกับตัวเลขที่มีประเด็นกล่าวถึงมากที่สุด “สินทรัพย์ไม่มีตัวตน – ลิขสิทธิ์รายการ” อยู่ที่ 6,371 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.60% จากช่วงเดียวกันปีก่อน มีการตัดค่าเสื่อมมากน้อยขนาดไหน และมีประโยชน์ด้านมูลค่าที่พอจะนำมาขายชำระหนี้ได้หรือไม่ เพราะเทียบกับสินทรัพย์อื่นๆ แทบจะน้อยมากหากจะขายเพื่อชำระหนี้
การเปิดเผยงบไตรมาส 3 ปี 2566 จึงเป็นข้อมูลที่สำคัญสำหรับเจ้าหนี้ – นักลงทุน – ผู้ถือหุ้นกู้ เมื่อไม่สามารถเข้าถึงงบดังกล่าวได้หุ้น JKN ได้กลายเป็น ‘หุ้นยังไม่เห็นข่าวร้ายที่สุด ‘ นั่นเอง
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์